บี.กริม.แย้มใกล้สรุปพันธมิตรซื้อแอลเอ็นจี
บี.กริม คาดสรุปเลือกพันธมิตรจัดซื้อ แอลเอ็นจี ปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี เร็วๆนี้ หลังคว้าไลเซ่น นำเข้าป้อน 5 โรงไฟฟ้าในปี 2565 พร้อมเสนอรัฐปรับสูตรราคาก๊าซฯ ทันต่อราคาตลาดน้ำมัน จ่อยื่นบิดโรงไฟ้ฟาชุมชน
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัท อยู่ระหว่างเตรียมพิจารณาคัดเลือกพันธมิตรซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ให้กับบริษัท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ หลังจาก บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บี.กริม ถือหุ้น 100% ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 โรง กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์
โดยที่ผ่านมา บริษัท ได้ว่าจ้าง Wood Mackenzie ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน GAS & LNG ในระดับโลก เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ คาดว่า จะนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งสุดท้ายมาให้บริษัท พิจารณาในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน มีผู้ผลิตก๊าซฯ(supplier) รายใหญ่ของโลก หลายรายได้ติดต่อเข้ามาเสนอขาย LNG ให้กับบริษัท ในราคาที่ถูกมาก เช่น กาตาร์ และแถบสหรัฐ เป็นต้น โดยเบื้องต้น บริษัท สนใจที่จะจัดซื้อLNG ในลักษณะสัญญาระยะยาวขั้นต่ำ 15 ปี เพื่อให้ได้ต้นทุนก๊าซฯที่ต่ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง รวมถึงลูกค้าที่ซื้อไฟจากบริษัทก็จะมีต้นทุนถูกลงด้วย
“ขณะนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าจะเลือกซื้อ LNG กับผู้ขายกี่ราย หรือจะซื้อรายเดียวครบ 6.5 แสนตันต่อปีหรือไม่ เพราะต้องรอฟังข้อมูลจากทีมที่ปรึกษาก่อน แต่ตอนนี้ ตลาดเป็นของผู้ซื้อ หากทำสัญญาได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ”
อย่างไรก็ตาม บริษัท มองว่า ภาครัฐควรปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซทั้งระบบ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จากปัจจุบัน สูตรราคาก๊าซฯยังผูกอยู่กับราคาก๊าซฯในอ่าวไทย ที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน ทำให้ประชาชนคาดหวังว่า เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงค่าไฟฟ้าก็ควรลดลงเช่นกัน แต่สูตรราคาดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถปรับลดต้นทุนได้เพราะต้องอิงราคาย้อนหลังมากถึง 6 เดือน
อีกทั้ง ควรพิจารณาปรับสูตรราคาก๊าซฯ ที่ปัจจุบันมีข้อกำหนดว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) จะต้องซื้อก๊าซฯ จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในราคาที่สูงกว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) ต่างกันถึง 9 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ SPP มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงกว่า ฉะนั้น SPP สามารถปรับลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ IPP ได้ หากรัฐปรับสูตรราคาก๊าซฯ ที่ซื้อจาก ปตท. และ SPP ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และสะท้อนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
นอกจากนี้ บริษัท สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในรูปแบบ ประเภทเร่งด่วน (Quick Win) และประเภททั่วไป โดยได้ศึกษารายละเอียดต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูลทันทีที่ภาครัฐเปิดโครงการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ
นางปรียนาถ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัท คาดหวัดจะปิดดีลเข้าซื้อกิจการ(M&A) จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 300 เมกะวัตต์ ภายในปีนี้ หลังจากได้ศึกษาโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น ในประเทศไทย 2 โครงการ และในต่างประเทศ 1 โครงการ
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม หลังลงนามสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท ปิโตรเวียดนาม เพาเวอร์ (Petrovietnam Power) เพื่อศึกษาและพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซ กำลังการผลิตรวม 3,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดต่างๆ ซึ่งโครงการฯนี้ บรรจุอยู่ไว้ในแผน PDP ของเวียดนามเรียบร้อยแล้ว และบริษัท ยังศึกษาเพื่อขยายลงทุนโรงไฟฟ้าอื่นๆที่เวียดนาม เพิ่มเติม เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิตรวมกว่า 200 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัท มั่นใจว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว 3,547 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว 3,019 เมกะวัตต์ และที่เหลืออยู่ระหว่างก่อสร้าง
ขณะที่สถานะการเงินของบริษัท มีความแข็งแกร่ง ปัจจุบันบริษัท มีกระแสเงินสด 2.1 หมื่นล้านบาท และเพื่อความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ บริษัท ได้มีกู้เงิน 9,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้เสริมสภาพคล่อง