กลยุทธ์การ 'Re...' สำหรับยุคโควิด
ส่องกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ที่หลายคนแนะนำให้ใช้การ "Re..." ในรูปแบบต่างๆ จะมีแบบใดบ้าง ติดตามได้จากบทความนี้
ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะเห็นข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่มักจะออกมาในรูปของคำว่า "Re..." เสมอ ดังนั้นสัปดาห์นี้เลยขอรวมรวมกลยุทธ์ Re ต่างๆ มาให้ท่านผู้อ่านได้เลือกใช้
เริ่มจากที่ปรึกษาทางด้านกลยุทธ์อย่าง McKinsey ที่นำเสนอ 5 ขั้นตอนในการ Re เริ่มจาก 1) Resolve การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจากโควิด ที่เกิดขึ้นกับพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า 2) Resilience หรือทำให้องค์กรมีความสามารถที่จะอยู่รอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารกระแสเงินสดและรักษาสภาพคล่องขององค์กร เพื่อความอยู่รอดขององค์กร 3) Return หรือการวางแผนเพื่อให้การดำเนินงานของธุรกิจสามารถกลับไปสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็วที่สุด
4) Reimagination เนื่องจากเมื่อธุรกิจเริ่มเคลื่อนสู่ภาวะปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากโควิดย่อมนำไปสู่ความปกติใหม่ (New normal) ซึ่งผู้บริหารควรที่จะต้องสามารถจินตนาการและมองหาโอกาสทางธุริจจากความผิดปกติใหม่นี้ให้ได้ และ 5) Reform เนื่องจากโควิดจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างและนโยบายในระดับมหภาค ซึ่งภาคธุรกิจควรจะต้องมองเห็นและสามารถปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้
มาดูอีกที่ปรึกษาทางด้านกลยุทธ์อย่าง BCG บ้าง BCG ได้เสนอแนวคิดถึงสิ่งที่องค์กรต้องมุ่งเน้นไว้ 4 ประการด้วยกัน เริ่มจาก (1) Reaction เพื่อเป็นการตอบสนองต่อปัญหาและความท้าทายที่เกิดจากโควิดในระยะสั้น โดย เมื่อองค์กรสามารถจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ก็ควรจะเตรียมพร้อมที่จะ (2) Rebound เนื่องจากเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไประยะหนึ่ง อุปสงค์ในด้านต่างๆ ย่อมเริ่มจากกลับมา องค์กรควรจะต้องเตรียมทั้งบุคลากร ระบบ และกระบวนการทำงานให้พร้อม แต่องค์กรก็ควรจะเตรียมพร้อมรับมือกับ
(3) Recession ที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ซึ่งองค์กรที่ประสบความสำเร็จในอดีตจะเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยไว้ก่อนล่วงหน้า อย่างไรก็ดีภายใต้ภาวะวิกฤตก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ดังนั้นองค์กรจึงควร (4) Reimagination ทั้งโอกาสทางธุรกิจและ Business model ใหม่ๆ เนื่องจากองค์กรที่จะได้ประโยชน์จากภาวะนี้คือองค์กรที่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการมองหาโอกาสใหม่ๆ
มาที่มุมมองของนักวิชาการ รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก็ได้ให้มุมมองสำหรับยาแก้ธุรกิจพิชิตโควิด ไว้ว่าธุรกิจจะต้องปรับตัวด้วย 5 Re ซึ่งประกอบไปด้วย 1) Retool เป็นการเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงานมากขึ้น 2) Re-Target เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
3) Re-Business เปลี่ยนวิธีหารายได้จากธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยการปรับหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ แทน 4) Re-Process เปลี่ยนกระบวนท่าโดยเป็นฝ่ายเข้าหาลูกค้า และทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ และ 5) Reunite ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทุกหน่วยงานช่วยประคับประคองกัน
ล่าสุดจากบทสัมภาษณ์ของคุณศิระ อินทรกำธรชัย เบอร์หนึ่ง PwC ประเทศไทย ที่ได้แนะนำกลยุทธ์ 4R รับมือกับวิกฤต โดยเริ่มจาก 1) Repair ซ่อมแซมแก้ไข โดยธุรกิจจะต้องเร่งจัดการกับปัญหางบดุลที่อ่อนแอและรายได้ที่ลดลง รวมทั้งดูแลเรื่องห่วงโซ่อุปทานและฐานลูกค้า 2) Rethink จะต้องคิดใหม่ โดยปรับกลยุทธ์ใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น 3) Reconfigure หรือการทำใหม่ จะต้องบริหารด้วยดิจิทัลมากขึ้น และนำเทรนด์ที่เกิดจากวิกฤตมาใช้อย่างต่อเนื่อง และ 4) Report ที่ต้องรายงานอย่างโปร่งใส เนื่องจากในสภาวการณ์นี้ รายงานและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่ทันเหตุการณ์และเชื่อถือได้ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
คำภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วย Re.... จะเป็นคำที่เหมาะสมสำหรับกลยุทธ์ในภาวการณ์เช่นนี้ อีกทั้งยังสามารถ Re.... ได้ในหลากหลายมุมมอง องค์กรอาจจะสามารถนำแนวคิดข้างต้นมาปรับใช้และเป็นกลยุทธ์ Re..... ที่เหมาะสมของตนเองได้ต่อไป