“เจโทร”ย้ำไทยตัวเลือกลงทุนที่ดี
เจโทร เผยทิศทางการลงทุนหลังโควิดเปลี่ยน ระบุรัฐบาลญี่ปุ่นย้ำสร้างความหลากหลายและความมั่นคงซับพลายเชน เชื่อทำทุนย้ายฐาน พบไทยและอาเซียนตัวเลือกที่ดี ชี้สัมพันธ์เศรษฐกิจสหรัฐ-จีนยากแบ่งแยกหวังสถานการณ์ไม่แย่ลง
การลงทุนจากต่างประเทศถือเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย และนักลงทุนจากญี่ปุ่นก็เป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงที่สุด “องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น” หรือ เจโทร กรุงเทพ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย และท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวนจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างน่าจับตามอง
นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร กรุุงเทพ กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงหลังโควิดต่อการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัว เห็นได้ชัดเจนในบางอุตสาหกรรมเช่น ยานยนต์ โดยเฉพาะในประเทศไทย ทั้งนี้ หลักการพื้นฐานของการลงทุน คือ เมื่อนำเงินเข้ามาลงทุนก็ต้องมีการคิดคำนวนว่าจะต้องได้รับผลตอบแทน ทำให้การคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เข้ามาเป็นเงื่อนไขการลงทุนด้วย ภายใต้เงื่อนไขโควิดนี้ ที่ทำให้ดีมานด์หายไป ทำให้บริษัทไม่มีรายได้และท้ายที่สุดก็ไม่มีเงินพอสำหรับการลงทุนในอนาคต อย่างไรก็ตาม อาจมีบางบริษัทที่มีเงินมากพอที่จะสามารถลงทุนในอนาคตได้ ซึ่งภายในเงื่อนไขเดียวกันคือ เมื่อไม่มีดีมานด์ ราคาสินค้าและต้นทุนต่างๆจะค่อยๆถูกลง จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการลงทุนในกรณีธุรกิจที่มีความพร้อมทางการเงินอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์โควิดจะยาวนานเท่าไหร่ เมื่อดีมานด์ไม่มีนั่นหมายถึงรายได้ที่ลดลง เพื่อความอยู่รอดธุรกิจต้องตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง ทำให้พอจะประเมินได้ว่า เมื่อหลายๆปัจจัยรวมๆกันแล้วจะทำให้ภาพรวมการลงทุนจากนี้ชะลอตัว
“สถานการณ์จะเป็นอย่างนี้นานเท่าไหร่คงบอกไม่ได้ มันขึ้นกับความมั่นใจของคนถ้ารู้สึกปลอดภัยก็อาจดีขึ้นเร็ว ส่วนวัคซีคแม้จะมีการค้นพบสำเร็จและต้องมองต่อไปถึง ค่าใช้จ่ายหากสูงก็เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อวัคซีนในส่วนของภาครัฐหรือประชาชนทั่วไปก็ตาม”
ทั้งนี้ หากประเมินวิกฤติเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ เช่น วิกฤติการเงินโลกที่เริ่มต้นสหรัฐแต่ไปส่งผลถึงกรีซที่รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายหนี้ เริ่มปี 2551 ไปจบจริงก็ประมาณ 6 ปีหลังจากนั้น แล้วยังมีวิกฤติต้มย้ำกุ้ง 2540 ก็คลี่คลายได้ช่วง 2 ปีให้หลัง
หวังสัมพันธ์สหรัฐ-จีนไม่เลวร้ายลง
ดังนั้น พอจะประเมินว่า วิกฤกติอาจยังต้องใช้เวลา และการลงทุนจากนี้จึงต้องคำนึงถึง ปัจจัยการใช้จ่ายที่ชะลอตัว รวมไปถึงวิถีชีวิตให้ หรือ นิวนอร์มอล ซึ่งยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีรูปแบบอย่างไร แบบจริงๆจังๆ แต่ทั้งหมดต้องกลับไปที่โจทย์การลงทุนโดยพื้นฐานคือลงทุนแล้วมีผลตอบแทนที่ดี และไม่มีความเสี่ยง
สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อการลงทุนอื่นนอกเหนือจากโควิด ก็จะพบว่า ก่อนหน้านี้กรณีความขัดแย้งสหรัฐ-จีน หรือ สงครามการค้านั้น จากการ สำรวจการลงทุนของญี่ปุ่นในจีน และประเทศอื่นๆ เมื่อปลายปี2562 ที่ผ่านมาพบว่า มีบริษัทญี่ปุ่น สัดส่วนถึง 9% ที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยมีอาเซียนเป็นเป้าหมายใหม่ของการลงทุนในลำดับต้นๆ ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นอื่นๆที่เหลือส่วนใหญ่ลงทุนในจีนเพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ ผลิตและขายที่นั่น
เรื่องสหรัฐจีนไม่ยากให้มีการคาดการณ์กันจนเกินไป เพราะในทางหลักการสหรัฐและจีนมีความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจที่สูงมาก แม้ในทางการเมืองจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยสหรัฐนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากจีน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไฮเทคและไม่ใช่ ขณะที่จีนก็ใช้สินค้าบริการจากสหรัฐจำนวนมาก แม้สหรัฐจะมีความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ก็ตาม
“วิธีคิดของบริษัทต่างๆว่าด้วยการลงทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เรื่องจีนกับสหรัฐ มีความเชื่อมโยงกันทางการค้า แต่ก็อาจต่อสู้กันบ้างทางการเมือง แต่ก็หวังว่าจะไม่ได้แย่ลงไปมาก อาจสู้กันและดีกันและสู้กันอีก"
ญี่ปุ่นจัดทัพลงทุนลดเสี่ยง
นายทาเคทานิ กล่าวอีกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจความยากของการลงทุนจากนี้ และได้ย้ำถึงการสร้างความหลากหลายการลงทุนและความมั่นคงปลอดภัยของระบบซับพลายเชน ซึ่งทำให้การค้าเสรีจะมีนัยสำคัญเพื่อการเคลื่อนไหวของซับพลายเชน ทำให้การพิจารณาพื้นที่ลงทุนต้องมองเรื่องการซับพลายเชนที่ดี หรือ จะเลือกประเด็นขนาดทางเศรษฐกิจ หรือ Economies of Scale
ในการหารือกับรัฐบาลญี่ปุ่น จึงได้รับโจทย์ว่าด้วยยุทธศาสตร์การลงทุนในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ระบุชัดเจนว่า ต้องมีความหลากหลายของการลงทุน และซับพลายเชนที่ดี ซึ่งพบว่าอาเซียนรวมถึงไทยเป็นตัวเลือกที่ดี ขณะเดียวกันการกลับเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นแม้จะเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกันแต่ก็ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูง
“เราต้องการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่น เพื่อการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เบื้องต้นมีบางบริษัทกำลังมีความต้องการลงทุนอย่างเต็มกำลัง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ยกตัวอย่างเช่นหน้ากากอนามัย สบู่ล้างมือ เพราะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมาก ไม่ว่าไทยหรืออาเซียนก็กำลังเป็นเป้าหมายการลงทุนเหล่านี้”
เมื่อถามถึงการเข้าร่วมความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) นั้นญี่ปุ่นมองว่าเป็นข้อตกลงการค้าเสรีจะมีผลต่อการเป็นซับพลายเชนที่ดี แต่เข้าใจได้ว่าไทยกำลังพิจารณาอย่างรอบด้านต่อการตัดสินใจจะเข้าร่วมเป็นภาคีนี้หรือไม่
หากเปรียบเทียบความน่าสนใจการลงทุนแต่ละประเทศในอาเซียน จากการทำสำรวจในทุกๆปีเกี่ยวกับประโยชน์และอุปสรรคการลงทุนในแต่ละประเทศก็จะพบว่า สำหรับประเทศไทยมีความโดดเด่นที่มีความเข้มแข็งของระบบซับพลายเช่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก โดยนักลงทุนญี่ปุ่นสามารถหาคู่ธุรกิจเพื่อการเชื่อมโยงซับพลายเชนในไทยได้โดยง่าย หรือแม้แต่หาคู่ธุรกิจเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันก็ทำได้ไม่ยาก
ชี้จุดอ่อนลงทุนของไทย
อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีจุดอ่อนเช่น ประชากรไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม ขณะเดียวกันอัตราการโตของจำนวนประชากรก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าและมีสัญญาณเขัาสู่สังคมสูงวัย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ดังนั้น หากเป็นการลงทุนที่ต้องการได้ผลตอบแทนจากตลาดภายในไทยอาจไม่ใช่คำตอบ ซึ่งผิดกับอินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม ที่มีแนวโน้มการเติบโตตลาดภายในสูง ซึ่งในทางกลับกันแม้จีดีพีไทยจะขยายตัวช้า แต่จากจุดแข็งการเป็นแหล่งซับพลายเชนที่ดี การลงทุนที่ไทยจงเหมาะกับการผลิตเพื่อส่งออก
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านค่าแรง ถือว่าประเทศไทยมีอัตราที่ค่อนข้างสูง ส่วนด้านทักษะ หากพูดตรงๆเรื่องทักษะแรงงาน บริษัทญี่ปุ่น ได้แสดงความกังวลไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่ามีปัญหาในทุกประเทศ
ส่วนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ต้องการสร้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ เบื้องตันมองว่าเป็นการสร้างโอกาสที่ดี แต่กรณีโควิด อีอีซีเองอาจต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ที่ต้องเข้าใจภาวะการลงทุนที่แท้จริงในปัจจุบันให้มากขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมแล้วนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว
ขอชัดเจนนักธุรกิจเข้าประเทศ
นายทาเคทานิ กล่าวอีกว่า เพื่อแก้ปัญหาโควิดรัฐบาลไทยจึงมีมาตรการต่างๆ มาป้องกันการแพร่ระบาด เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่เข้มงวดทำปัญหาของนักธุรกิจญี่ปุ่นขณะนี้คือไม่สามารถเข้าประเทศเพื่อมาทำงานได้ ขณะเดียวกันคนญี่ปุ่นที่ต้องออกไปสับเปลี่ยนกับคนใหม่ที่จะเข้ามาทำให้ในไทยก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน โดยระบบการสับเปลี่ยนนี้จะมีขึ้นทุกช่วงเม.ย.ของทุกปี แต่ขณะนี้ทุกอย่างกำลังหยุดชะงักจึงขอความชัดเจนการอนุญาตให้การเดินทางมีความสะดวก
“ขอให้smooth entry สำหรับนักธุรกิจญี่ปุ่นเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนงานในไทย เช่น วิศวกรญี่ปุ่น ก็รอที่่จะเข้ามาเดินเครื่องจักรที่ไทย ทั้งตรวจสอบและบำรุงรักษา แต่มันก็เป็นปัญหาว่าคนใหม่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้”