‘หุ้นโรงแรม’ อัพไซด์จำกัด รอเคาะแพ็คเกจฟื้นท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความเสียหายหนักต่อการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากการเดินทางทั่วโลกแทบหยุดชะงัก
หลายประเทศรวมทั้งไทยประกาศล็อกดาวน์ ห้ามเดินทางเข้าออกเพื่อควบคุมโรค โดยล่าสุด สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขยายเวลาห้ามเครื่องบินโดยสารเข้าไทยไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. นี้ หลังประกาศห้ามมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.
ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน เม.ย. เป็นศูนย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวไทยที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศแม้แต่คนเดียว โดย 4 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 6.7 ล้านคน หดตัว 52.17% และมีรายได้ 3.3 แสนล้านบาท หดตัว 52.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านตลาดไทยเที่ยวไทยซบเซาหนักไม่แพ้กัน หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และมาตรการเคอร์ฟิวกำหนดเวลาเข้าออกที่พัก เดือน เม.ย. มีคนไทยออกเดินทางท่องเที่ยว 9 หมื่นคน-ครั้ง ลดลงถึง 99.32% และสร้างรายได้เพียง 499 ล้านบาท หดตัว 99.45% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขสะสม 4 เดือนแรก รวม 24.7 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 50.26% และมีรายได้ 1.9 แสนล้านบาท หดตัว 48.34%
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ในไทยดีขึ้นมาก แทบไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ นำมาสู่การคลายล็อกในหลายมาตรการ ทั้งร่นเวลาเคอร์ฟิว ปลดล็อกการเดินทางข้ามจังหวัด ขณะที่หลายธุรกิจกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมหารือเพื่อผ่อนปรนระยะที่ 4 ใน 12 กิจการที่มีความเสี่ยงสูง
เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จึงเริ่มมีข้อเสนอในการเยียวยาฟื้นฟูภาคธุรกิจและกิจการที่ได้รับผลกระทบ สำหรับภาคการท่องเที่ยวทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอแพ็คเกจกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย โดยจะขอใช้งบประมาณจาก พ.ร.บ. เงินกู้ ของกระทรวงการคลัง ในส่วนของบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท
ซึ่งได้เสนอมาตรการให้คณะกรรมการกลั่นกรองซึ่งมี “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง พิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดได้ข้อสรุปในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นมี 2 มาตรการ ได้แก่ แพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” โดยจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนซื้อบัตรกำนัลดิจิทัล มูลค่า 2-3 พันบาท นำไปใช้เป็นค่าห้องพัก ซึ่งรัฐบาลจะโอนเงินคืนให้หลังเช็กอินห้องพัก กำหนดโควต้าเบื้องต้นไว้ 4 ล้านคน
แพ็คเกจ “กำลังใจ” เพื่อเป็นการตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือโควิด-19 ทั้งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ราว 1.2 ล้านคน โดยจะสนับสนุนงบประมาณศึกษาดูงาน 3 วัน 2 คืน ผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศ
สุดท้ายแล้ว ต้องรอข้อสรุปว่าจะเคาะมาตรการอะไรออกมาบ้าง ซึ่งธงหลักสำคัญเลยก็คือ แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ต้องกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. และสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวหลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
มาตรการที่กำลังเข็นออกมาน่าจะทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศคึกคักขึ้น เพราะขณะนี้ประชาชนเริ่มออกมาเที่ยวกันแล้ว ซึ่งจะส่งผลดีไปถึงบรรดาผู้ประกอบการทั้งกลุ่มโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร รถขนส่ง บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ ที่เจ็บหนักมาหลายเดือน
สถานการณ์ที่ดีขึ้นต่อเนื่องและมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ช่วยดันราคาหุ้นหลายตัว เริ่มมีแรงเก็งกำไรกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมซึ่งจะได้ประโยชน์มากที่สุด หากมีรัฐให้คูปองส่วนลดเข้าพัก ซึ่งบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ดูมีภาษีดีกว่าเพื่อนๆ ในกลุ่ม เพราะมีห้องพักในประเทศมากถึง 7,642 ห้อง หรือ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด และเจาะตลาดครอบคลุมทุกเซกเมนต์
บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL มีห้องพักในไทย 6,770 ห้อง คิดเป็นสัดส่วนราว 86% ส่วนบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT โรงแรมส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ มีห้องพักในไทย 5,092 ห้อง หรือ แค่ 7% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ต้องทำใจไว้ว่ารูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปตามนิวนอร์มอล การรักษาระยะห่างยังคงสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนแขกที่เข้าพักและรายได้ที่จะได้รับ ทั้งนี้ หากมองโลกในแง่ร้าย ถ้าเกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อย จะกลายเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันกลุ่มท่องเที่ยวอีกครั้ง ดังนั้น ราคาหุ้นที่ไล่ราคาขึ้นมารอบนี้ พร้อมที่จะถูกเทขายอีกรอบได้เช่นกัน เพราะอัพไซด์แต่ละตัวแทบไม่เหลือแล้ว เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายของแต่ละโบรกฯ ที่ให้ไว้