เปิดแผนพัฒนา 4 เฟส คิกออฟลงทุน 'อู่ตะเภา'
นายกฯ เปิดทำเนียบลงนามอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านบาท โปรเจคใหญ่สุดของเอเชียแปซิฟิคในปีนี้ เริ่มสร้างปี 2564 แบ่ง 4 เฟส ตั้งงบเฟสแรก 3 หมื่นล้าน บางกอกแอร์คาด 10 ปี คุ้มทุน “บีทีเอส” ดึงวีจีไอ-เคอรี่ลุยเมืองการบิน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มูลค่าการร่วมลงทุน 2.9 แสนล้านบาท
สำหรับบริษัทดังกล่าวเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสซึ่งชนะประมูลโครงการนี้ มีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 3 บริษัท คือ
1.บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีบทบาทหลักเป็น Lead Firm ตามสัดส่วนการถือหุ้น 45%
2.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35%
3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20%
บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จะต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐตลอดอายุสัญญา 50 ปี รวมวงเงิน 1.32 ล้านล้านบาท คำณวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท โดยได้สิทธิการพัฒนาพื้นที่ 6,500 ไร่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ต่อเนื่อง เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เริ่มโครงการ จนวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี มาขับเคลื่อนต่อ โครงการนี้เป็นก้าวสำคัญและเป็นมิติใหม่ในการก้าวเดินของประเทศไทย ที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการนี้ใหญ่ที่สุดที่ลงนามในเอเชียแปซิฟิกในปี 2563 ซึ่งจะยกระดับอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ 3 สนามบินรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA กล่าวว่า บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท และเมื่อเปิดบริการสนามบินในปี 2567 จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 9,000 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 พัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ขนาด 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด ซึ่งจะเสร็จในปี 2567 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 107,000 ตารางเมตร ติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะเสร็จปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 3 ขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมาตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน เพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด จะเสร็จปี 2585 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 4 (ระยะสุดท้าย) มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 เพิ่มขึ้น 82,000 ตารางเมตร ติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด คาดว่าจะเสร็จปี 2598 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่าจะใช้เวลา 10 ปีถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งแผนพัฒนาธุรกิจการบินของ BA ต้องการให้สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สแห่งที่ 2 หลังจากปัจจุบันมีฮับหลักอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ มั่นใจว่าธุรกิจการบินยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก และหากปริมาณผู้โดยสารเติบโตกว่าแผนกำหนด บีบีเอสก็พร้อมลงทุนระยะที่ 2 ทันที โดยไม่มีปัญหาทางการเงิน
“ลงนามแล้วแต่สัญญายังไม่เริ่ม เพราะต้องรอส่งมอบพื้นที่จากกองทัพเรือก่อน ซึ่งจะส่งมอบภายใน 1 ปีครึ่ง ระหว่างนี้จะทำมาสเตอร์แพลนร่วมกับพันธมิตรส่วนรายละเอียดธุรกิจ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เป็นของบีบีเอสทั้งหมด และเราต้องประเมินว่าจะนำส่วนใดมาพัฒนาเอง ส่วนใดจะเปิดประมูลหรือปล่อยเช่า”
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งบประมาณการลงทุนระยะที่ 1 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนงบลงทุนรวมทั้งโครงการมากกว่า 2 แสนล้านบาท โดยวงเงินลงทุนดังกล่าวจะแบ่งเป็นส่วนทุน 1 ส่วน และเงินกู้สถาบันทางการเงิน 3 ส่วน
สำหรับแผนงานหลังลงนามสัญญา ระยะเวลาราว 1 ปีหลังจากนี้ กลุ่มบีบีเอสจะวางแผนออกแบบก่อสร้าง และวางแผนพัฒนาธุรกิจเป็นหลัก โดยหน้าที่ของบีทีเอส เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน จะนำมาวางแผนมาสเตอร์แพลนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ในเมืองการบิน ซึ่งธุรกิจส่วนแรกจะลงทุนพัฒนาห้าง และจะพัฒนา APM และระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อการเดินทางในโหมดอื่น
“หลังจากลงนามครั้งนี้ จะใช้เวลาวางมาสเตอร์แพลน 1 ปีครึ่ง เพราะยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้าง โดยแผนธุรกิจเชิงพาณิชย์ ศูนย์การค้าเป็นส่วนสำคัญที่เห็นว่าควรจะมีในเฟส 1 เช่นเดียวกับธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งจะต้องหารือร่วมกับ BA ด้วยว่าจะดำเนินการเองหรือเปิดประมูล เรื่องนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ”
“บีทีเอส”สนเอ็มอาร์โอเฟส2
รวมทั้งบีทีเอสจะดึงบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) มาร่วมพัฒนาสื่อและโฆษณาในพื้นที่เมืองการบิน รวมทั้งดึงบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่บีทีเอสถือหุ้นมาทำธุรกิจศูนย์ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) อีกทั้งบีทีเอสมองโอกาสร่วมประมูลศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ระยะ 2 ที่รัฐบาลเตรียมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดยจะหารือกับพันธมิตรกลุ่มบีบีเอสอีกครั้ง
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าหนักใจเมื่อโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มีเอกชนผู้ลงทุนคนละราย แต่ขณะนี้ได้เจรจาในรายละเอียดถึงขั้นตอนการทำงานประกอบกับ สกพอ.ได้สร้างความเชื่อมั่นในการจัดตั้งคณะทำงานระหว่าง 2 โครงการ พร้อมยืนยันว่ารถไฟความเร็วสูงจะไม่ล่าช้าจึงไม่หนักใจแล้ว
“ซิโน-ไทย”พร้อมสำรวจพื้นที่
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังลงนามสัญญาครั้งนี้ หากกองทัพเรืออนุญาตให้เข้าพื้นที่ ซิโน-ไทย ก็พร้อมเข้าไปสำรวจพื้นที่ทันที แต่ต้องรอรายละเอียดการออกแบบและแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จจึงจะเริ่มพัฒนาได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีจึงจะเริ่มงานก่อสร้าง
“งานก่อสร้างส่วนแรกที่น่าจะเริ่มได้ ก็น่าจะเป็นงานเทอร์มินัล เพราะเป็นส่วนหลักของโครงการระยะแรก ซึ่งประเมินงบก่อสร้างที่จะใช้ในเฟสแรกนี้ น่าจะอยู่ที่ 2 - 3 หมื่นล้านบาท เรามั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นของ ทร.และจะมีการเคลียร์ส่วนของสาธารณูปโภคไว้ให้ด้วย”