จีไอที พัฒนานวัตกรรมเครื่องประดับจำกัดฝุ่นPM 2.5 

จีไอที พัฒนานวัตกรรมเครื่องประดับจำกัดฝุ่นPM 2.5 

สถาบันอัญมณีฯ จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ ดันนวัตกรรมกำจัดฝุ่น PM 2.5 เป็นส่วนประกอบทำเครื่องประดับ ช่วยฟอกอากาศให้คนใส่ คาดต้นแบบเผยโฉมปลายส.ค.นี้

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายอรรถพล มณีแดง รองผู้อำนวยการเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเครื่องประดับภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับด้วยนวัตกรรม (Beyond Jewelry) ว่า จีไอทีมีเป้าหมายที่จะผลักดันและพัฒนาเครื่องประดับรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้เชี่ยวชาญ และทีมนักออกแบบเครื่องประดับ ในการหาแนวทางนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเครื่องประดับ เพื่อร่วมสร้างและพัฒนาต้นแบบเครื่องประดับเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและใช้งานได้จริง

ทั้งนี้ จีไอทีกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ทำการพัฒนาเครื่องประดับต้นแบบ ที่ได้นำเทคโนโลยีฟอกอากาศ ที่กำจัดฝุ่น PM 2.5 มาใส่ไว้ในเครื่องประดับ ซึ่งจะช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับผู้ใส่ และเป็นเครื่องประดับที่ใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่เครื่องประดับที่ใส่เพื่อความสวยงาม โดยคาดว่าเครื่องประดับต้นแบบจะทำออกมาได้ช่วงปลายเดือนส.ค.2563 นี้

159402146639

“ปัจจุบัน เครื่องประดับที่ใช้งานได้หลากหลาย เครื่องประดับที่นำนวัตกรรมมาใช้ เริ่มได้รับความนิยมและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น อย่างก่อนหน้านี้ ก็มีเครื่องประดับบูลทูธ เครื่องประดับกันนิ้วล็อก เครื่องประดับนับอัตราการเต้นของหัวใจ และปีนี้ จะเน้นทำเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 คนยิ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เครื่องประดับเพื่อสุขภาพ ก็น่าจะตอบโจทย์”นางดวงกมลกล่าว

  159402149065

นายปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า ขณะนี้ มหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนในด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 เพื่อนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของเครื่องประดับสุขภาพ มีหลักการทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในระบบปิด แต่คณะนักวิจัยได้ออกแบบวงจรให้สามารถที่จะใช้ในระบบเปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการปล่อยประจุไฟฟ้าลบที่สร้างจากวงจรแรงดันเพื่อจ่ายประจุไฟฟ้าไอออนออกไปในอากาศผ่านปลายแหลมของแผ่นเพลททองแดง เพื่อดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 ทำให้อนุภาคฝุ่นเป็นกลางหล่นลงสู่พื้น คงเหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม