‘สแตนชาร์ด’ มองตลาดเงินผันผวน เงินต่างชาติ ส่อไหลเข้าไทย
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองตลาดยังผันผวน เงินทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้าตลาดไทยค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น กังวลความต่อเนื่องนโยบายเศรษฐกิจ หากเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ
นายทิม ลีฬหะพันธุ์นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า คาดตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี ยังอยู่ในภาวะผันผวน แม้จะเริ่มเห็นเงินทุนกลับเข้ามา โดยเฉพาะหากสถานการณ์โควิดในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง
“เริ่มมีเงินทุนกลับมาที่ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย แต่ยังต้องตามดูว่าเงินทุนที่เริ่มกลับเข้ามาในตลาดเอเชียนี้ มีความต่อเนื่องเพียงใด” ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง ใน 5 เดือนแรกของปี 2563 มีเงินทุนออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยสุทธิราว 1.3 แสนล้านบาท แต่ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม มีเงินทุนกลับเข้ามาในตลาดสุทธิประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะตลาดเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวจากโควิดได้ดีกว่าตลาดตะวันตก แต่ยังอยู่ในระยะที่ต้องเฝ้าระวัง
ดังนั้น ถ้ามีเงินทุนกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อ
นอกจากนี้ หากไทยกลับมาเปิดภาคท่องเที่ยวอีกครั้งได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยบวกกับค่าเงินบาทยิ่งขึ้น โดนคาดว่า ณสิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออาจจะแข็งกว่านั้นที่ 30 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินให้น้ำหนักประเด็นการเมือง ความต่อเนื่องของนโยบายการคลัง และทิศทางนโยบายการเงิน
“ที่ผ่านมานโยบายการคลังและนโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ดี อย่างไรก็ตาม ตลาดติดตามดูต่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีความต่อเนื่องไหม” ดร.ทิมกล่าว
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคม
ส่วน อัตราดอกเบี้ยกำลังจะเข้าสู่ระดับ 0% ตลาดการเงินกำลังรอการสื่อสารที่ชัดเจนจาก ธปท. ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไปที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจจริงๆ นอกเหนือจากผลต่อตลาดการเงิน ดอกเบี้ยติดลบจะเกิดขึ้นในไทยหรือไม่ ธปท.จะนำมาตรการ QE หรือ yield curve control มาใช้ไหม เหล่านี้เป็นคำถามที่ตลาดการเงินและภาคธุรกิจกำลังรอคำอธิบายอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่หดตัว 5% ในปี2563 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะหดตัวที่ 13% และฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี