สถาบันลดถือ ‘หุ้นแบงก์’ สัดส่วนลงทุนวูบ-ผวาหนี้เสียพุ่ง
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยอ่อนตัวลงมากที่สุดในปีนี้ โดย ณ วันที่ 20 ก.ค. 2563 ดัชนีกลุ่มแบงก์ติดลบอยู่ 36.62% เทียบกับดัชนี SET ที่ปรับตัวลดลง 14.02% จากหุ้นทั้งหมด 11 บริษัทในกลุ่ม
มีเพียงแค่ บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ที่ราคาหุ้นยังเป็นบวก 11.32% ในขณะที่ราคาหุ้นของบรรดาแบงก์ใหญ่ลดลงไป 30 – 40% โดยภาพรวมทำให้ Market Cap. ของกลุ่มแบงก์ลดลงมาอยู่ที่ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลงไปถึง 7 แสนล้านบาท
ด้วยราคาหุ้นที่ลดลงต่อเนื่องของกลุ่มแบงก์ สะท้อนให้เห็นถึงแรงขายที่ยังคงกดดันราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่
จากการสำรวจข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแต่ละธนาคาร ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุดของปี 2563 เทียบกับวันปิดสมุดทะเบียนครั้งสุดท้ายในปี 2562 พบว่า บมจ.ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เป็นบริษัทที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลดสัดส่วนการถือครองลงมามากที่สุด จากที่เคยถือหุ้นรวม 505.76 ล้านหุ้น ลดลงมาเหลือ 408.49 ล้านหุ้น คิดเป็นการลดลง 19.23% โดยเป็นการลดสัดส่วนของทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายหุ้น TISCO ออกมา ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม ลดสัดส่วนเหลือ 1.86% จาก 3.13% กองทุนเปิด กรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล เหลือ 1.95% จาก 2.78% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติลดสัดส่วนลงเช่นกัน โดย ไทยเอ็นวีดีอาร์ ลดสัดส่วนเหลือ 11.17% จาก 13.34%
ขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดลงมากสุดเป็นอันดับ 2 จากที่มีจำนวนหุ้นรวม 1.16พันล้านหุ้น ลดลงมาเหลือ 1.01 พันล้านหุ้น ลดลง 13.01% โดยหลักแล้วเป็นการลดสัดส่วนโดย ไทยเอ็นวีดีอาร์ ซึ่งเคยถือ 31.12% ลดลงมาเหลือ 23.5% แต่ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 และ 3 คือ South East Asia UK และสำนักงานประกันสังคม มีการเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาเป็น 5.17% และ 4.5% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในบรรดาธนาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เป็นอีก 3 ธนาคารที่สัดส่วนการถือครองของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลดลง ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการลดสัดส่วนผ่าน ไทยเอ็นวีดีอาร์ ขณะที่สำนักงานประกันสังคม ยังเป็นฝ่ายเพิ่มสัดส่วนในหุ้นของ SCB และ KBANK
สำหรับธนาคารที่มีสัดส่วนการถือครองของผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เพิ่มขึ้น 2.64% .ธนาคารทหารไทย (TMB) เพิ่มขึ้น 46.48% บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เพิ่มขึ้น 3.23% ซึ่งเป็นผลจากการควบรวมกิจการ ส่วน บมจ.แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (LHFG) เพิ่มขึ้น 1.6% ส่วน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) สัดส่วนคงเดิม
กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนสถาบันค่อนข้างต่ำ ทำให้โอกาสที่จะเห็นแรงขายหนักๆ น้อยลง แม้แนวโน้มธุรกิจยังมีความเสี่ยง แต่มูลค่าหุ้นปัจจุบันก็ค่อนข้างต่ำเช่นกัน
ในเชิงธุรกิจ เชื่อว่ากำไรก่อนการตั้งสำรองฯ น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงของการปิดเมือง ทำให้ครึ่งปีหลังน่าจะเห็นการฟื้นตัวได้บ้าง แต่หากมองกำไรสุทธิคงต้องพิจารณาเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแบงก์ที่ตั้งสำรองฯ เผื่อไปมากแล้วในไตรมาส 2 มีโอกาสที่จะเห็นการฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง แต่แบงก์ที่ยังตั้งสำรองไม่มากนัก อาจจะเห็นกำไรในครึ่งปีหลังลดลงได้ เมื่อหมดมาตรการพักชำระหนี้
“จะเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ไม่ได้ลดลงมานักแม้จะประกาศกำไรออกมาแย่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาหุ้นในปัจจุบันที่ค่อนข้างต่ำแล้ว จากเทรดอยู่ที่ 0.5 เท่าของบุ๊ค หรือราว -2.5SD หากสถานการณ์แย่ลง มองว่าราคาหุ้นแบงก์มีความเสี่ยงขาลงราว 10-15% แต่กลับกัน หากสถานการณ์ไม่แย่ลงไปมากนัก ก็มีโอกาสที่ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์จะกลับไปเทรดที่ระดับ -2SD ซึ่งมีอัพไซด์ 30-35%”