'Eidy' โมเดลภาษาขนาดใหญ่ AI ผู้ช่วยแพทย์-รพ. ลดภาระงาน
ปัญหาการฆ่าตัวตายสร้างผลกระทบทั้งต่อบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศอย่างยิ่ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567
KEY
POINTS
- สิ่งที่เห็นมาตลอด คือหมอไม่เพียงพอ และเรามีประสบการณ์ในอดีตที่เจอเพื่อนหมอทำงานหนักจนเสียชีวิต โมเดลภาษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Eidy จะเป็นผู้ช่วยแพทย์ แบ่งเบาภาระงานให้แก่แพทย์
- โมเดลภาษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Eidy จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง าเป็น Deep Technology ที่มีระบบความคิด สมองแบบแพทย์
- สตาร์ตอัปมีการพัฒนา AI เข้ามาใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งคนไทยมีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ แต่มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน
ปัญหาการฆ่าตัวตายสร้างผลกระทบทั้งต่อบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศอย่างยิ่ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ภาพรวมประเทศ อัตราการฆ่าตัวตาย อยู่ที่ 4.68 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนั้น มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งที่ฆ่าตัวตายจากภาระงาน
จากข้อมูลของแพทยสภา ณ วันที่ 4 เม.ย. 2566 พบว่ามีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียน 72,250 คน เสียชีวิต 3,503 คน ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 22 คน คงเหลือแพทย์ 68,725 คน ในจำนวนนี้ ที่สามารถติดต่อได้ 66,685 คน อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ 32,198 คน ทำงานอยู่ในต่างจังหวัด 34,487 คน อายุ 31-40 ปี มีจำนวนมากที่สุด 21,509 คน อายุ 20-30 ปี มี 14,174 คน และอายุมากกว่า 70 ปี มี 4,229 คน
ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์ทำงานอยู่ทั้งสิ้น 24,649 คน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบประชากรประมาณ 45 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน หรือถ้าใช้เกณฑ์สากล คือมีแพทย์ 5 คนต่อประชากร 10,000 คน ยิ่งไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ต่อให้ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยกลับไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ศิริราช' ยกระดับการแพทย์ AI เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู
Eidy นวัตกรรมการบริหารจัดการ
ด้วยปัญหาดังกล่าว “บริษัท Trillion Sure” สตาร์ตอัปน้องใหม่แกะกล่องที่เปิดบริษัทเมื่อต้นปี 2567 โดยมี “พ.ญ.นวพร นะลิตา” เป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท “พัฒนาโมเดลภาษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Eidy” นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการ จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อทีมแพทย์และแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลรวมถึงคนไข้ที่อยากได้ความรู้ หรือสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพ
“สิ่งที่เห็นมาตลอด คือหมอไม่เพียงพอ และเรามีประสบการณ์ในอดีตที่เจอเพื่อนหมอทำงานหนักจนเสียชีวิต ยิ่งในตอนนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้คนอาจจะหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่จำนวนคนไข้ไม่ลดลง แพทย์ยังคงต้องแบกรับภาระงานที่มากส่งผลให้แพทย์จำนวนหนึ่งมีความเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาสุขภาพจิตใจ และร่างกาย ทำให้บางคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย” พ.ญ. นวพร กล่าว
ฉะนั้น หากมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์ แบ่งเบาภาระงานก็จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ส่วนหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการสำรวจเมื่อ 4-5 เดือน ก่อนจะเปิดบริษัท Trillion Sure และพัฒนาโมเดลภาษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Eidy
ระบบความคิดที่เหมือนกับแพทย์
Eidy ได้มีทีมแพทย์ทดลองใช้ประมาณ 400 กว่าคน และนำร่องในโรงพยาบาลเอกชน และโรงเรียนแพทย์ โดยภายในปี 2568 นี้ทาง Eidy ได้ร่วมมือกับทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจะมีการเปิด AI คลินิก เพื่อเป็นโมเดลภาษาทางด้านการแพทย์ที่จะให้บริการแก่แพทย์และคนไข้
พ.ญ.นวพร กล่าวต่อว่า สำหรับจุดเด่นของโมเดลภาษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Eidy นั้นจะเป็น AI ทางการแพทย์ที่มีด้านศัพท์เฉพาะทาง และระบบความคิดที่เหมือนกับแพทย์ จริงๆ มีความคล้ายกับ ChatGPT แต่ Eidy จะเป็นโมเดลภาษาสำหรับคนเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถนำมาต่อยอดเป็น Chatbot ตอบคำถามทางการแพทย์เฉพาะทาง
นอกจากนั้น Eidy ยังเป็นหนึ่งในการใช้งาน AI ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุข คือ บทบาทด้านการช่วยการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ หรือ ศาสตร์ที่เรียกว่า Medical Education และเป็นผู้ช่วยอาจารย์แพทย์ในการวางแผน และดีไซน์การสอนให้น่าสนใจ และดึงศักยภาพของนิสิตและนักศึกษาแพทย์แบบรายบุคคลออกมาให้ได้มากที่สุด
Eidy หมอที่อยู่ข้างกายทุกคน
พ.ญ.นวพร กล่าวต่อว่า หากไม่มีการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ที่มีมหาศาล หรือนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างคุณค่า ระบบสาธารณสุขทั่วโลกอาจจะแตกสลายได้ เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่าระบบสาธารณสุขมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น แต่ยังต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์เป็นหลัก ทุกประเทศต่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนอายุยืนมากขึ้น ข้อมูลที่ได้จากระบบสุขภาพจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในฐานะแพทย์ที่ต้องการช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์มองว่าควรนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อนำกลับมาทดแทนมนุษย์ที่วัยแรงงานกำลังน้อยลง และรองรับโรคอุบัติการณ์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
“โมเดลภาษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Eidy ในไทยนั้นมีสตาร์ตอัปขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวไม่กี่แห่ง แต่ทุกแห่งต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และ Eidy จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราตั้งเป้าเป็น Deep Technology หรือเทคโนโลยีระดับสูง เป็นโมเดลภาษาทางการแพทย์ที่มีระบบความคิด สมองแบบหมอ อยากให้ Eidy เป็นเสมือนหมอที่อยู่ข้างกายของทุกคน ซึ่ง Eidy ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และขณะนี้กำลังร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ Eidy ไปสู่ระดับโลก”พ.ญ.นวพร กล่าว
“Eidy” ได้ขึ้นเป็นตัวแทนประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในงาน Bangkok Shanghai Economic Conference โดยเน้นถึงบทบาทและความแข็งแกร่งของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านสาธารณสุขและความจำเป็นของการนำเทคโนโลยี AI โดยEidy เป็น Multilingual Medical LLM ที่เน้นการนำไปใช้งานในระดับโลก โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากเครือข่ายบริษัทเทคโนโลยีของประเทศจีน เช่น SenseTime AI เป็นต้น
สตาร์ตอัปไทยเก่งแต่ขาดเงินทุน
“โมเดลภาษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่” ในต่างประเทศมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่จะเป็นในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ แต่ในประเทศไทยจะเป็นกลุ่มสตาร์ตอัปเป็นหลัก ทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนา
พ.ญ.นวพร กล่าวอีกว่าจากการนำมาใช้ในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผลตอบรับค่อนข้างดี แพทย์ยืนยันว่าทำให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากขึ้น และการให้เหตุผลของตัวโมเดล AI จะมีที่มาที่ไปชัดเจน แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนใช้งาน ซึ่ง AI ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการตอบคำถามแบบตรงๆ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกจุดเด่นของ Eidy
ขณะนี้หลายสตาร์ตอัป หลายบริษัทที่นำ AI เข้ามาใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งอุตสาหกรรมทางการแพทย์มีการนำมาใช้จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถในการพัฒนา AI มาใช้หรือต่อยอดจากนวัตกรรมเดิมๆ แต่มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน เพราะการจะพัฒนานวัตกรรม AI ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากยิ่งอยากทำให้เป็น Deep Technology ต้องมีการสนับสนุนเรื่องของเงินลงทุน
“สตาร์ตอัปเป็นเพียงกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีความตั้งใจจริงในการพัฒนาเทคโนโลยีAI ทางการแพทย์ หรือในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือคนทำงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ดังนั้น อยากให้ทางภาครัฐ หรือหน่อยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง สธ. เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัปได้เข้าไปทำงานร่วม เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันของสธ. ในการขยายผลงานหรือเทคโนโลยีด้าน AI ให้เกิดความเชื่อมั่นและสนับสนุนมากขึ้น” พ.ญ.นวพร กล่าวทิ้งท้าย