เปิด 15 คดีจริยธรรม แพทย์พึงระวัง นำสู่การฟ้องร้อง
กรรมการแพทยสภาเปิดข้อมูล 15 คดีจริยธรรม แพทย์พึงระวัง อาจนำมาสู่การฟ้องร้อง แม้เรื่องที่ไม่ได้เป็นปัญหาเมื่อ 20 ปีก่อน คดีโฆษณาเสริมสวย ยังฮิตติดอันดับ
KEY
POINTS
- แพทย์ไทยมีเกือบ 80,000 คน ช่วงอายุ 31-40 ปีมากที่สุด และมีแพทย์ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 24 คน
- พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม กำหนดให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ทำผิดโทษเบาสุดว่ากล่าวตักเตือน ส่วนโทษหนักสุด เพิกถอนใบอนุญาต
- กรรมการแพทยสภาเปิดข้อมูล 15 คดีจริยธรรม แพทย์พึงระวัง อาจนำมาสู่การฟ้องร้อง แม้เรื่องที่ไม่ได้เป็นปัญหาเมื่อ 20 ปีก่อน คดีโฆษณาเสริมสวย ยังฮิตติดอันดับ
ปัจจุบันแพทย์ที่เป็นสมาชิกแพทยสภา จำนวน 78,418 คน เป็นชาย 41,994 คน หญิง 36,424 คน โดยเป็นแพทย์ที่มีชีวิตที่มีใบอนุญาต 74,727 คน ช่วงอายุมากที่สุด 31-40 ปีจำนวน 23,112 คน รองลงมา24-30 ปี จำนวนก 17,051 คน และ 41-50 ปี จำนวน 14,336 คน และมีแพทย์ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 24 คน
แพทย์ต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 31 กำหนดให้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภา
โดยข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549
หมวด 2 หลักทั่วไป กำหนดว่า
- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรม และเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง
- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดี โดยไม่คำนึงถึงฐานะเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง
หมวดที่ 3 การโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตน
- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของผู้อื่น
กรณีที่มีการร้องเรียนจริยธรรม เมื่อมีการสอบสวน ในการวินิจฉัยชี้ขาด คณะกรรมการแพทยสภาวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ
- ว่ากล่าวตักเตือน
- ภาคทัณฑ์
- พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี
- เพิกถอนใบอนุญาต
15 คดีจริยธรรม แพทย์พึงระวัง
ทั้งนี้ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า ขอสวัสดีปีมะเส็งด้วยการรวบรวมคดีจริยธรรมมาเล่าให้ฟังเป็นบทเรียนปีมะโรง ดังนี้
1.คดีสื่อสาร คำพูด กิริยาท่าทาง ที่อาจไม่เป็นปัญหา ใน 20 ปีก่อน ปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้น
พูดเรื่องจริงแต่ลงเอยด้วยฟ้องจริยธรรม “มาทำไม เป็นแค่นี้ทำไมจึงมา อาการไม่ฉุกเฉินมาห้องฉุกเฉิน หมอไม่รักษาคนที่ไม่ฟังหมอ รู้ดีไปเรียนหมอเลย คำสบถคำหยาบคาย การตีมือ ตีไหล่เพื่อนร่วมวิชาชีพ บุคลากร” นำมาซึ่งการฟ้องร้องจริยธรรม
2.โปรดมีเมตตาธรรม แม้ปัจจุบัน ภาระงานโรงพยาบาลของรัฐจะ หนักหนาสาหัส โรงพยาบาลเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายสูงที่ต้องดูแล แต่ คนไข้อาการหนัก ปวดท้องคลอดถี่ ไม่รู้สึกตัว ไม่มีเงิน ไม่มีสิทธิการรักษา ไม่ว่าไปเอกชนหรือโรงพยาบาลรัฐโปรดรับไว้รักษาก่อน
มิฉะนั้น ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะถูก พิจารณาจริยธรรม ถูกปรับ มีคดีหนึ่งคนจีนถูกรถชน อาการหนัก รพ เอกชนไม่ยอมรับเข้าER ถูกปรับ เป็นเงินแสน ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลถูกสอบจริยธรรม
3. ขณะที่คดีจริยธรรมของแผนกศัลยกรรม แผนกออร์โธฯ ลดลง คดีเวชศาสตร์ครอบครัวไม่มีเลย
คดีสูติ-นรีเวชยังฮิตติดอันดับ
- ตรวจภายใน จะให้นักเรียนนักศึกษาแพทย์ประจำบ้านดูด้วยโปรดขออนุญาตคนไข้ ด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร
- คดีคนไข้ปวดท้องคลอดก่อนกำหนด ระวัง รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งต้องให้คลอด หากห้ามคลอดทารกอาจจะเสียชีวิตในครรภ์
- ทำคลอดติดไหล่ แม้ราชวิทยาลัยสูติ ฯ บอกว่าถูกมาตรฐานแต่คนไข้ฟ้องแพ่งอาญา
- ทำหมันแล้วท้อง หากพิสูจน์แล้วว่าได้ตัดท่อนำไข่ 2 ข้างจริงส่งผลทางพยาธิ หรือมีรูปถ่ายท่อนำไข่ ยืนยัน ถือว่าถูกมาตรฐาน แต่ถ้าไม่มี ข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นถือว่าผิดมาตรฐาน
- มารดาตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรม ควรมีแพทย์เฉพาะทางช่วยดูแล ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตแม่ จากภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมสูงติดอันดับ 1 ใน 3
- ส่งตรวจทางlab เอกซเรย์ พยาธิวิทยาต้องติดตามอ่านผล มีหลายคดีที่แพทย์ไม่ได้อ่านผล ภายหลังคนไข้เป็น HIV หรือเป็นมะเร็ง จึงย้อนติดตาม ฟ้องจริยธรรม
โฆษณาเสริมสวย กว่า 100 คดี
4. คดีโฆษณาเสริมสวย ยังฮิตติดอันดับ มากกว่าครึ่งของคดีจริยธรรมที่เข้ามาในแพทยสภา มากกว่าร้อยคดีต่อปี โปรดดูคำห้ามโฆษณา และศึกษา ข้อบังคับของสบส.และแพทยสภา
ทางที่ดี ก่อนโฆษณาสถานพยาบาลให้สบส.ตรวจ และอนุมัติก่อนทุกชิ้น โฆษณาแพทย์ติดต่อแพทยสภา ตรวจสอบก่อนการอ้างว่า เป็นแพทย์ปฏิบัติงานหรือเป็นแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล บริษัททำโฆษณาให้ ไม่รู้ไม่เห็นไม่เป็นเรื่องที่อ้างได้
5. จะออกคลิปต้องพูดแต่เรื่องจริง ระวังอย่าโฆษณาอาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งคำจำกัดความ ผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นกว้างรวมไปถึงอาหารด้วย
6. อย่าอวดอ้างตนเองเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการ หากไม่ได้รับ อนุมัติบัตร หรือวุฒิบัตรที่แพทยสภารับรอง อย่าอวดอ้างจำนวนเคสซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น อายุ 30 ต้น ๆทำไปหมื่นเคสแล้ว อย่าอวดอ้างว่าตนเองเป็นที่หนึ่ง ในประเทศ หนึ่งในโลก เป็นผู้ค้นคิดนวัตกรรมนี้เป็นคนแรกถ้าไม่มีการยืนยันการจัดอันดับด้วยสถาบันที่แพทยสภารับรอง
7.การล่วงละเมิดทางเพศ ของแพทย์ต่อคนไข้ เป็นเรื่องร้ายแรงมากอันจะยอมความไม่ได้มีคดีที่ไม่มี ผลการตรวจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีการตรวจน้ำอสุจิใดๆ มีแต่ผลหลักฐานรอบข้าง แพทย์ถูกคดีอาญาจำคุก และถูก พิจารณาคดีจริยธรรม
8. อย่าแขวนป้าย รายได้ 20,000-30,000 บาท ต่อเดือน แต่อาจจะถูก พักใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม สำหรับคนที่กำลังเรียน เป็นแพทย์ประจำบ้านจะมีปัญหาและอุปสรรคมาก เพราะจะทำงานในฐานะแพทย์ตรวจรักษาคนไข้ ไม่ได้
9. คดีเด็ก เมื่อเด็กเจ็บป่วย เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหรือการรักษา มักเลยเอยด้วยการฟ้องอาญาแพ่งจริยธรรม การใช้ยาในเด็กต้องระมัดระวังมาก มีข้อบ่งชี้และโดส ต่าง ๆต้องแม่นยำ
ในแพทย์ทั่วไป กรณีเด็กอาการหนักควรจะ ส่งต่อกุมารแพทย์ เด็กอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กเจ็บป่วยที่เสียชีวิต มีเรื่องฟ้องร้องให้ตรวจสอบมาตรฐาน การรักษาพยาบาลของแพทย์เป็นจำนวนมาก การตรวจสอบจริยธรรมนั้นอ้างอิง การตัดสินของราชวิทยาลัยเป็นหลัก
10. การออกใบรับรองแพทย์ ใบรับรองแพทย์มี 2 ชนิด คือ ใบรับรองแพทย์ตามมาตรฐานเช่นการตรวจสุขภาพ ต่าง ๆ และ ใบรับรองแพทย์ออกความเห็น เช่น การลางาน การให้หยุดพัก
แบบหลังนี้เป็นดุลพินิจ ซึ่งแพทย์ต้องบันทึกอาการคนไข้ ให้ละเอียด เป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับ การลาพัก การลาพักนั้นคนไข้อยากลาพักหลายวันแต่เจ้าของกิจการไม่อยากให้ลา แพทย์สามารถใช้ดุลพินิจในการออกความเห็น ถ้าไม่แน่ใจให้ลาตามความเหมาะสม และนัดมาดูอาการอีกครั้งหนึ่ง
การออกคลิป ต้องถูกต้องตามหลักวิชาการ
11.การออกคลิป ต้องระวังให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการออกคลิปว่าการกินยา โรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ไขมันสูง ทำลายเป็นอันตรายต่อตับไต มีสมาคมที่เกี่ยวข้อง ร้องสอบจริยธรรม
12 การบูลลี่แพทย์รุ่นน้องรุ่นพี่ นักศึกษาแพทย์ ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป ไม่มีคำว่า No Pain No gain มีการฟ้องร้องจริยธรรมหลายคดีคนที่บุลลี่ มักได้รับการลงโทษทางจริยธรรม
13.ไม่มีญาติมิตรในหมู่คนเสริมสวย อย่าไปทำเสริมสวยเพื่อน ญาติ นอกสถานที่ เช่นที่พัก,คอนโด
เวลาเกิดปัญหา เกิดภาวะแทรกซ้อน อุปกรณ์ช่วยชีวิตไม่มี ยาไม่มี การแก้ไขนั้นทำได้ยาก แม้จะเป็นญาติมิตรกัน ก็ถูกฟ้องอาญาแพ่งและจริยธรรม ถูกปรับเป็นเงินสูง
14.การเปิดคอร์สสอนทำหัตถการต่างๆโดยเฉพาะด้านเสริมสวย ต้องปฏิบัติตาม ข้อบังคับของสบส. ควรฝึกสอนในสถาน พยาบาลที่พักค้างคืน เพราะคลินิกนั้นไม่มีวัตถุประสงค์ในการ สอนและฝึกอบรม สถานพยาบาล ที่จะเปิดฝึกอบรม ถ้าให้ถูกต้องต้องแจ้งขออนุญาต สบส. และแพทยสภา ทั้งแพทย์ต้องติดตาม ความรู้ความก้าวหน้า
ประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) แพทยสภาอย่างใกล้ชิด อย่างเช่น nad ห้ามนำมาฉีดเสริมสวยแต่แพทย์หลายคนไม่รู้ ว่าที่ บริษัทยานำมาจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางไม่ได้เป็นยา ถูกปรับถูกจับไปเป็นจำนวนมาก
15.End of Life care ปัจจุบันกระแสตายดีมีมากขึ้น การเซ็นใบไม่ยินยอมรักษา ต้องดูรายละเอียดให้ดีว่าเขาเซ็นใบไม่ยินยอมทำอะไรบ้าง มีคดีหนึ่ง ไม่ให้ใส่ท่อหายใจไม่ให้เจาะคอ แต่ไม่ได้ปฏิเสธการให้อาหารน้ำเกลือหรือยาปฏิชีวนะ ถ้าแพทย์ไม่ทำตามก็กลายเป็น คดีฟ้องร้อง
ทั้งมีข้อพึงระวังคือญาติพี่น้องไม่ได้เห็นด้วยกับ พินัยกรรม การรักษาพยาบาลนี้ แพทย์เองในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉิน และสามารถ ช่วยชีวิตได้ ต้องช่วยไปก่อน ไม่ถือว่าผิดจริยธรรม รวมถึง ปัญหาเรื่องมรดก ซึ่งญาติพี่น้องไม่ถูกกัน ไม่ฟ้องกัน มาฟ้องหมอผู้ออกใบรับรองแพทย์แทน