‘อหิวาตกโรค’กลายพันธุ์ เปลี่ยนแปลง 4 เรื่องทำให้รุนแรงขึ้น
ศูนย์จีโนมฯ รามาฯ เผย "อหิวาตกโรคกลายพันธุ์" มีความรุนแรงกว่าเดิม เพราะมีการเปลี่ยนแปลง 4 เรื่อง อยู่ทน-ดื้อยา-หลบเลี่ยงดี ขณะที่ “วัคซีนอหิวาตกโรค”ยังไม่จำเป็นต้องใช้ทั่วไป
KEY
POINTS
- องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)ประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ สถานการณ์ในไทยสามารถควบคุมได้จากที่พบผู้ป่วย 4 ราย ผลจากการระบาดในเมืองชเวโก๊กโก่ เมียนมาชายแดนจ.ตาก
- ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี เผยอหิวาตกโรคกลายพันธุ์ ทำให้เปลี่ยนแปลง 4 เรื่องสำคัญ ความรุนแรงมากขึ้น
- วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค จำเป็นสำหรับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ระบาดรุนแรง ไม่ได้ใช้ทั่วไป ให้ทางการหยอดเข้าปาก การกินเข้าไป ต้องรับครบก่อน 2 สัปดาห์ถึงจะมีภูมิคุ้มกัน ที่อยู่ได้ 2 ปี ประสิทธิผลไม่ได้สูงมาก 60-80%
ก่อนสิ้นปี 2567 ไม่นาน องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)ประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ เนื่องจากมีการระบาดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีระบบน้ำและสุขอนามัยไม่เพียงพอ แม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลง แต่การเสียชีวิตกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก
ขณะเดียวกัน วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทานในคลังสำรองทั่วโลกหมดลง ส่งผลกระทบต่อการควบคุมการแพร่ระบาด WHO จึงออกมาตรการเร่งด่วน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงระบบน้ำและสุขาภิบาล การเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังการระบาด และการเร่งผลิตวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการ
ในปี 2566 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 13% จำนวน 535,321 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 71% หรือ กว่า 4,000 ราย โดยเฉพาะในแอฟริกาที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 125% ปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนวัคซีนชนิดรับประทานและการเข้าถึงการรักษา
อหิวาตกโรค สถานการณ์ล่าสุดในไทย
มีการรายงานงอหิวาตกโรคในประเทศไทย พม่า และลาว โดยมีความรุนแรงแตกต่างกัน ในประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดี ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสม 4 ราย แบ่งเป็น ชาวต่างชาติ 2 ราย คนไทย 2ราย และมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อีก3ราย ต่างชาติ 2 ราย คนไทย 1 ราย ทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว และไม่มีผู้เสียชีวิต
ส่วนในเมืองชเวโก๊กโก่ ประเทศเมียนมา ซึ่งติดกับชายแดนจังหวัดตาก สถานการณ์ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยลดลงจาก 761 รายในปลายธันวาคม 2567 เหลือเพียง 40 รายที่กำลังรักษาอยู่ แม้จะดีขึ้น แต่บางเขตใกล้ชายแดนยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสำหรับผู้ป่วยรายใหม่
อหิวาตกโรคกลายพันธุ์ เปลี่ยนแปลง 4 เรื่อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2568 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กเพจของศูนย์ฯ สาระสำคัญส่วนหนึ่งคือ การกลายพันธุ์ที่น่ากังวล พบสายพันธุ์ใหม่ BD-1.2 ที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม (BD-2) เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้
- เชื้อสร้างไบโอฟิล์มได้ดีขึ้น อยู่ในลำไส้ได้นานขึ้น
- ทนต่อสภาพกรดในลำไส้ได้ดีขึ้น
- ดื้อต่อยาหลายชนิด
- หลบเลี่ยงการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น
จากผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications (2024) วิเคราะห์เปรียบเทียบสายพันธุ์ของเชื้อ Vibrio cholerae ในบังกลาเทศระหว่างปี 2015-2021 พบความแตกต่างสำคัญดังนี้
อหิวาตกโรค สายพันธุ์ BD-1.2
• เป็นสายพันธุ์ที่พบใหม่และเป็นสาเหตุของการระบาดในปี 2022 แทนที่สายพันธุ์ BD-2 ที่เคยระบาดก่อนหน้านี้
• มียีนที่ทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น:
- lon_3: ควบคุมการสร้างไบโอฟิล์ม ทำให้เชื้อเกาะติดผนังลำไส้ได้ดีและอยู่รอดได้นาน
- endA: ช่วยเพิ่มความรุนแรงของเชื้อผ่านการสร้างและปลดปล่อยสารพิษ
- bcr_2: ทำให้ดื้อต่อยาหลายชนิด ทำให้การรักษายากขึ้น
• มีการกลายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการอยู่รอด:
- OmpU G325D: ทำให้ต้านทานต่อแบคทีริโอฟาจได้ดีขึ้น ลดการถูกทำลายโดยไวรัส
- fabV และ gshB: ช่วยให้เชื้อปรับตัวในสภาพความเป็นกรดในลำไส้ได้ดีขึ้น
อหิวาตกโรค สายพันธุ์ BD-2
• เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบก่อน มีความรุนแรงน้อยกว่า BD-1.2
• มียีนเฉพาะที่สำคัญ:
- aer_3: ช่วยในการตอบสนองต่อระดับออกซิเจน ทำให้ปรับตัวในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้
- hlyA_2: สร้างสารพิษ แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายีนในสายพันธุ์ BD-1.2
- tetA และ tetR: ให้การดื้อต่อยา tetracycline เท่านั้น ไม่ได้ดื้อยาหลายขนาน
- mcrC: เป็นระบบป้องกันตัวเองของเชื้อ
ความสำคัญทางคลินิก
การเข้าใจความแตกต่างนี้มีความสำคัญต่อการวางแผนรักษาและควบคุมการระบาด เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ BD-1.2 มีคุณสมบัติที่ทำให้ควบคุมและรักษายากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม
ผลกระทบทางคลินิก คือ ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น ทำให้การรักษายากขึ้น ส่วนผลทางระบาดวิทยาคือเชื้อแพร่กระจายได้มากขึ้นและควบคุมยากขึ้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่ การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ และการปรับปรุงมาตรการควบคุมป้องกันโรคให้เหมาะสม
ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อหิวาตกโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น
1.สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค เนื่องจาก
- อุณหภูมิที่สูงขึ้นช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี
- ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่น เอลนีโญและลานีญาส่งผลต่อสภาพอากาศ
- การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลและความเค็มสามารถสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของเชื้อ
2.สภาวะความเป็นเมือง การขยายตัวของเมืองและชุมชนที่มีความหนาแน่นสูงส่งผลให้:
- เกิดแหล่งแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
- การใช้น้ำร่วมกันในชุมชนเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
3.ภัยธรรมชาติเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและแผ่นดินไหว สามารถทำให้:
- สภาพสุขอนามัยในพื้นที่ถูกทำลาย
- ประชาชนต้องอพยพ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง
- ระบบการดูแลสุขภาพได้รับผลกระทบ
4.การเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นทำให้
- เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการเดินทางทางอากาศ
- การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสามารถนำเชื้อโรคเข้ามาในประเทศได้
5.สภาพแวดล้อมทางน้ำบทบาทสำคัญในการแพร่ระบาด เนื่องจาก
- แหล่งน้ำในชุมชนที่ขาดการจัดการด้านสุขาภิบาล
- การปนเปื้อนของเชื้อในแหล่งน้ำธรรมชาติ
6.พฤติกรรมในการบริโภคอาหารมีผลต่อการแพร่ระบาด เช่น
- การบริโภคอาหารทะเลดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
- การบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด
การเข้าใจถึงปัจจัยเหล่านี้จะช่วยในการวางแผนป้องกันและควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า การที่WHOประกาศออกมา เพื่อต้องการยกระดับความตระหนัก เรื่องของความสะอาดของน้ำ สุขาภิบาลอาหาร กินร้อนมากกว่า ไม่ได้แนะนำให้ใช้วัคซีนเป็นมาตรการแรก แต่วัคซีนไม่ใช่มาตรการหลัก เป็นเพียงมาตรการเสริมสำหรับคนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด เช่น จะเดินทางไปยังเมียนมา และไปจุดที่ต้องไปทำงานพื้นที่ระบาด ถึงจะเหมาะสม
วัคซีนอหิวาตกโรค จะคล้ายวัคซีนโปลิโอ ให้ทางการหยอดเข้าปาก การกินเข้าไป เป็นแบบน้ำให้ 2 โดส ห่างกัน 2 สัปดาห์ แต่วัคซีนชนิดนี้จะแนะนำสำหรับคนที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของอหิวาตกโรครุนแรง ไม่ได้ใช้ทั่วไป ต้องรับครบก่อน 2 สัปดาห์ถึงจะมีภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญไม่ได้ป้องกันตลอดไป จะให้ภูมิคุ้มกัน 2 ปีเท่านั้น ประสิทธิผลไม่ได้สูงมากประมาณ 60-80% ผู้ที่รับวัคซีนยังมีความเสี่ยงหากรับเชื้อก็ป่วยได้ แต่รุนแรงน้อยลง
“ประเทศไทยมีวัคซีนอยู่แล้ว และให้เฉพาะคนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด แต่วัคซีนชนิดนี้ไม่ได้ฟรี ปัจจุบันกรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลเอกชนมีวัคซีนชนิดนี้ แต่ใช้สำหรับคนเดินทางไปพื้นที่ระบาดเท่านั้น ราคาประมาณ 400-500 บาทต่อโดส” นพ.โสภณ กล่าว