AI เพิ่มเวลาแพทย์รักษาคนไข้ คนรุ่นใหม่ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

AI เพิ่มเวลาแพทย์รักษาคนไข้  คนรุ่นใหม่ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

ปัจจุบันคนทั่วโลกหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพที่เหมาะกับแต่ละบุคคล หรือที่เรียกว่า  “การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล” (Personalized Care) และ “การแพทย์แม่นยำ” (Precision Medicine)

KEY

POINTS

  • AI ทางการแพทย์ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้แพทย์สามารถทำงานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น การควบคุมรูปแบบ input ที่เหมาะสมและการนำไปใช้ในบริบทที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ AI
  • พัฒนา  MOR-ASR ให้สามารถเชื่อมโยงผลการตรวจต่างๆ ของคนไข้ให้กับแพทย์ด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการและประหยัดเวลาในการทำงานเอกสาร
  • มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Care) ผ่าน Gindee Food AI ปัญญาประดิษฐ์ สำหรับถ่ายภาพอาหารและบอกข้อมูลโภชนาการ รวมถึงปริมาณแคลอรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ

ปัจจุบันคนทั่วโลกหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพที่เหมาะกับแต่ละบุคคล หรือที่เรียกว่า “การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล” (Personalized Care) และ “การแพทย์แม่นยำ” (Precision Medicine) ซึ่งเป็นการรักษาโรคโดยพิจารณาจากข้อมูลทางพันธุกรรมของแต่ละคน ทำให้การรักษาได้ผลดีและตรงจุดมากขึ้น

 โดยเทรนด์การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลกำลังเติบโต  ส่งผลให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญและตอบโจทย์บุคคลากรทางแพทย์ให้สามารถดูุแลผู้ป่วยได้ทั่วถึง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากเป็นผลดีต่อบุคคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังส่งผลดีต่อ้ผู้ป่วยอีกด้วย 

จากข้อมูลทางสถิติเฉลี่ย แพทย์ 1 คนในประเทศไทย มีภาระในการดูแลผู้ป่วยประมาณ 2,000 คน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่พบในประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก โดยทั่วไปประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ประมาณ 1.7 คน ต่อ 1,000 คน  สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปริมาณงานที่หนักหน่วง แม้จะมีการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการและการเข้าถึงสุขภาพของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ศิริราช' ยกระดับการแพทย์ AI เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู

ลดบวม ขับโซเดียมออกจากร่างกายหลังฉลองปีใหม่ต้องทำอย่างไร?

MOR-ASR ผู้ช่วยแพทย์

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยสามารถช่วยลดภาระงานของแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และยกระดับคุณภาพการบริการได้ อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อแนวโน้มการดูแลสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก และส่งเสริมให้ประไทยศูนย์กลางการแพทย์ในระดับภูมิภาค

กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์” ผู้ร่วมก่อตั้ง  บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) เล่าว่า แคริว่าได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา จากการรวมตัวกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อีกทั้งแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ และวิศวกรซอฟต์แวร์ด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์  จากการสังเกตเห็นปัญหาความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น

แคริว่า จึงได้ริเริ่มพัฒนา MOR-ASR (Automatic Speech Recognition) ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์ ด้วยเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับคุณภาพการบริการให้แก่ผู้ป่วย MOR-ASR สามารถช่วยแพทย์ในการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ด้อย่างครบถ้วนและรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดภาระงานด้านเอกสาร และเพิ่มเวลาในการให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ระบบนี้ใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)ในการบันทึกเสียงอัตโนมัติและสรุปข้อมูลจากบทสนทนา  ซึ่งบุคลากรทางแพทย์สามารถเลือกใช้งานระหว่างกำลังซักประวัติคนไข้ หรือหลังจากตรวจและประเมินอาการเสร็จแล้ว ระบบจะทำการสรุปผล เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง 

AI เพิ่มเวลาแพทย์รักษาคนไข้  คนรุ่นใหม่ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

นำร่องใช้ในสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำ

ขณะนี้หลายสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำ อาทิ  เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช  โรงพยาบาลพระราม 9   โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบดังกล่าวไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกหลายแห่ง  อาทิ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และโรงพยาบาลบางปะกอก เป็นต้น 

การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวมาใช้ในวงการแพทย์ ส่งผลให้เกิดประโยชน์หลายประการ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบันทึกข้อมูลสำคัญทางการแพทย์ของผู้ป่วย ส่งผลให้แพทย์สามารถประหยัดเวลาในการปฏิบัติงานได้เฉลี่ย 3-5 นาทีต่อผู้ป่วย ซึ่งเทียบเท่ากับการเพิ่มเวลาในการให้บริการผู้ป่วยได้อีก 1-2 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยและรักษา

“ในระยะต่อไป จะมีการพัฒนา  MOR-ASR ให้สามารถเชื่อมโยงผลการตรวจต่างๆ ของคนไข้ให้กับแพทย์ด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการและประหยัดเวลาในการทำงานเอกสาร ถ้าเราสามารถพิ่มเวลาที่แพทย์เสียไปในการกรอกข้อมูลให้คนไข้ได้ เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการทำงานของแพทย์ จาก 0.5 คนให้เพิ่มมาเป็น 1 คนหรือ 1.5 ต่อคนไข้ 1,000 คนได้ในอนาคต และหากแคริว่าได้รับการสนับสนุนให้นำ AI ไปใช้ในสถานพยาบาลที่มีคนไข้ไปใช้บริการมากๆ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนมากยิ่งขึ้น"

อุตสากรรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ หลายๆสตาร์ทอัปไทย มีบุคลากรที่มีทักษะ ความสามารถทัดเทียมกับนานาชาติ และมีศักยภาพในการเติบโตไปยังต่างประเทศ หากสตาร์ทอัพได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานร่วมกับการทำงานกับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในวงกว้างทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มีชาวต่างชาติมาใช้บริการก็จะช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัปสามารถเติบโต และยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับแคริว่า มีแผนจะพัฒนาต่อยอด MOR-ASR  ให้สามารถแปลได้หลายภาษา เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลในการรับลูกค้าต่างชาติ และขยายตลาดไปในประเทศแถบอาเซียนเพิ่มมากขึ้น 

ณรงค์ชัย  กล่าวว่า AI ทางการแพทย์ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้แพทย์สามารถทำงานได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การควบคุมรูปแบบ Input ที่เหมาะสมและการนำไปใช้ในบริบทที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ AI และท้ายที่สุด AI จะไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ตัดสินผลการรักษา แต่จะเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ผลได้อย่างสะดวกและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ยกระดับวงการแพทย์ไทย ผ่านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) 

ปัญหาของวงการแพทย์ไทยที่มีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ส่งผลถึงข้อจำกัดในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขของประชาชน แคริว่าจึงได้ต่อยอดนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องให้มีรูปแบบเสมือนผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เช่น PreceptorAI แชทบอทถามตอบทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง MOR-ASR เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยแพทย์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย 

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นในการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Care) ผ่าน Gindee Food AI ปัญญาประดิษฐ์ สำหรับถ่ายภาพอาหารและบอกข้อมูลโภชนาการ รวมถึงปริมาณแคลอรี่ อีกทั้งยังสามารถตั้งเป้าหมายในการดูแลสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ

AI เพิ่มเวลาแพทย์รักษาคนไข้  คนรุ่นใหม่ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ แคริว่าได้รับรางวัล  ชนะการแข่งขัน Meta AI Accelerator Pitchathon Thailand ด้วยโครงการที่ใช้ AI อย่าง Llama จากทาง Meta เพื่อแก้ปัญหาโรคหายากในไทย ช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพเพื่อการรักษาที่แม่นยำ และคุ้มค่า พร้อมลดภาระผู้เชี่ยวชาญด้านเวชพันธุศาสตร์ที่มีจำกัด อีกทั้งยังได้รับรางวัล อันดับ 4 ในงาน BioNLP ACL'24 เวทีแข่งขันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับนิสิตจุฬาฯ และศิริราช สร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถแปลงภาพเอ็กซ์เรย์หน้าอกเป็นรายงานรังสีวิทยาอย่างแม่นยำในโจทย์ Large-Scale Radiology Report Generation ท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันชั้นนำ เช่น Microsoft และ CMU โดยผลงานนี้ช่วยลดภาระนักรังสีวิทยา เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการรักษาได้อีกด้วย

“คีย์สำคัญในการสร้างความสำเร็จ ไม่ว่าจะในด้านการแพทย์หรือการทำงานของแคริว่า คือการมีคนที่เข้าใจปัญหาและอยู่ในฟิลด์นั้นจริงๆ อยู่ในทีม  แพทย์และพยาบาลในทีมที่เข้าใจปัญหาหน้างาน แพทย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และวิศวกรที่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา ช่วยให้แคริว่าสามารถพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากไอเดียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง”

AI เพิ่มเวลาแพทย์รักษาคนไข้  คนรุ่นใหม่ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง