‘ตาวีฟาร์ม’หัวใจพอเพียง คนหนุ่มกลับถิ่นอย่างผู้ชนะ
ผู้ทิ้งชีวิตเมืองทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปีแรกเป็นผู้แพ้ขาดทุนนับล้าน ตั้งหลักสู้ทำฟาร์มผักอินทรีย์ ถอดรหัสเศรษฐกิจพอเพียง ก้าวทีละก้าว ไม่วิ่งตามมายา ยึดความมั่นคงแก่นแท้ไร่ช่วยให้รอดช่วงโควิด ความไม่เพอร์เฟคไร้จริตของ'ฟาร์มผักตาวี' เป็นเสน่ห์กลางป่าลึก
บทเรียนจากการที่หยุด! พอเพียง ไม่วิ่งตามหาเงิน กลับมีเงินงอกเงยจากไร่ผืนงามของพ่อ “ธีระศักดิ์ พรหมลา” – บอย เจ้าของ “ตาวีฟาร์ม”เขาใหญ่ ผู้ที่เคยตกอยู่ในวังวนรีบเร่งทำงาน เก็บเงิน สะสมเงินให้มากเพื่อเลี้ยงตัวเองยามเกษียณ แต่สุดท้ายค้นพบว่าการวิ่งตามหาเงินเป็นที่ตั้ง ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข กลับต้องแบกความเครียด เมื่อครั้งเป็นมนุษย์เงินเดือน ต้องจ่ายให้กับต้นทุนชีวิตค่าใช้จ่าย แต่งตัวเพื่อหน้าตาทางสังคม รวมถึง เวลาชีวิตและเวลาที่ให้กับครอบครัว ต้องเสียไปมีเวลากลับบ้านเฉพาะช่วงวันหยุด
ในระหว่างที่ขับรถกลับบ้าน ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง แล้วกลับไปเผชิญกับรถติดในกรุงเทพฯ เขาจะถามตัวเองเสมอว่า ทุกคนต่างขับรถมุ่งมาพักผ่อนกับครอบครัวที่เขาใหญ่ แล้วเขาทิ้งที่แห่งนี้ไปทำไม
วันหนึ่งเมื่อพ่อป่วย ถึงถึงจุดตัดสินใจลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน เซลล์ขายวัสดุก่อสร้างกลับบ้านเกิด
เขายอมรับว่า เริ่มต้นกลับบ้าน เขาใหญ่ อ.ปากช่อง ในปี 2555 ก็ยังเดินหน้าโดยยึดเงินเป็นตัวตั้ง ความหวังคือยึดที่ดินพ่อโซนเขาใหญ่เนื้อที่ 50 ไร่ ก่อร่างสร้างตัว ยอมเสี่ยงนำเงินกู้จากบัตรเครดิตรมาลงทุนปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว แตงกวาและมะเขือเทศที่ราคากำลังดี แค่เพียงปีแรกก็ก้าวพลาด ขาดทุนเป็นหนี้บัตรเครดิตนับล้านบาท
ยอมรับเป็นการกลับบ้านแบบเป็นผู้แพ้อย่างหมดรูป!!!!!
“พอช่วงตามหาเงินอย่างเดียว เหมือนวิ่งตามภูเขาที่เดินหนีเราตลอด หวังใช้ที่ดินของพ่อปลูกเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นแมส แตงกวา มะเขือเทศ มีคนกำหนดราคาอย่างเดียวก็ขาดทุน ยังมีปัญหาซับซ้อนทั้งปุ๋ย และความเสี่ยงภูมิอากาศ ฝนตก น้ำแล้ง ควบคุมไม่ได้ ต้องจ่ายเงินจ้างลูกน้องช่วยเก็บผลผลิตจำนวนมาก แถมยังเหนื่อยสุขภาพก็แย่ ตื่นตี5 นอนเที่ยงคืน”
ด้วยความที่เป็นนักสู้ และไม่ยอมแพ้ เห็นโอกาส “เกษตรอินทรีย์” จะเป็นทางรอด ดีทั้งกับผืนดินพ่อ ผู้ปลูก และตลาด แม้จะติดขัดไม่มีลูกค้าโซนเขาใหญ่เลย แต่ก็คิดหา "ทางออก" หิ้วผักใส่กล่องไปเจรจาขอพื้นที่ขายในห้าง ปรากฏว่าขายหมดตั้งแต่วันแรก จนนำไปสู่สัญญาการออกอีเวนท์เกี่ยวกับสุขภาพ และเกษตรตามห้างตลอดปีสัดส่วน 80% อีก 20%
การออกบูทตามห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ขายผักปลอดสารพิษตามงานอีเวนท์คนรักสุขภาพ ตลาดสีเขียว รวมถึงโรงพยาบาล จึงเป็นช่องทางหลักสร้างรายได้ให้แแปลงผักตาวี ตั้งแต่นั้น
จากเซลล์วัสดุก่อสร้างมีหนี้ติดตัว 1 ล้านบาท หันมาปลูกผักอินทรีย์ไปเปิดบูทขายในห้าง และโรงพยาบาล มีรายได้เติบโต “ปลดหนี้” ได้ภายใน 3 ปี แม้จะมีความรู้ด้านเกษตรเป็นศูนย์ แต่พากเพียรหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ต ผสมเรียนรู้หน้างาน จนชำนาญถึงกับมีทั้งสูตรปุ๋ยหมัก ยาปราบศัตรูพืช ที่คิดขึ้นเอง รวมถึงวางระบบน้ำหยด ฟาร์มสมัยใหม่ที่ดูแลง่ายได้ผลผลิตดี ผักสด หวาน หอมกรอบ ราคาผักอินทรีย์มากกว่าทั่วไปเท่าตัว จาก 60 บาทต่อโลเป็น 120 บาทต่อโลก ไขรหัส “ทำน้อยได้มาก” เพิ่มความโดดเด่นไม่แพ้กันคือ เอาความรู้จากเคยเป็นลูกมือเชฟอาหารฝรั่งเศสมาคิดค้นน้ำสลัด สูตรเฉพาะ “ฟาร์มตาวี” ทำให้ลูกค้าติดใจ
“เมื่อวิถีเกษตรไม่ใช่อย่างเราฝันต้องขาดทุน เรายังไม่กินผักของเรา ก็กลับไปทำของมีคุณภาพ และคนต้องการเกษตรอินทรีย์เริ่มจากผักสลัด จนถึงพืชอื่นผสมผสาน ไม่พึ่งพิงพืชตัวเดียวทำเงิน รายจ่ายน้อยลง เพราะเราปลูกเอง ขายเอง เราปลูก แฟน(คุณยุ้ย) เป็นคนขาย พิถีพิถันชิมผักจากแปลงเองทุกเช้า รวมถึงจดบันทึกทำให้รู้ว่าฤดูกาลไหนควรปลูกปริมาณเท่าไหร่ ผักฟาร์มตาวี จึงไม่ชนกับตลาดจึงได้ราคาดี ปลูกแค่สองไร่แต่ขายได้เงินมากกว่าคนปลูก5ไร่”
ด้วยความที่เดินตามหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในหลวงรัชกาลที่ 9 รู้จักประมาณตน และสร้างภูมิคุ้มกัน จึงบริหารความเสี่ยง ในช่วงที่เริ่มขายดี รายได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อเดือน เขาทบทวนตัวเองพึ่งพาช่องทางอีเวนท์จากห้างมากไป จึงกระจายความเสี่ยง “เปิดร้านอาหารปรุงสดจากฟาร์ม” และร้านกาแฟ เปิดให้เข้าชมฟาร์ม ซื้อทาน และขายชั่งกิโลนำกลับบ้าน ตามโมเดลเกษตรอินทรีย์ญ๊่ปุ่น ผสมผสานเกษตรท่องเที่ยว เน้นเซอร์วิส มายด์ เจ้าของสวนต้อนรับลูกค้าด้วยตัวเอง
พลิกจากฟาร์มที่เป็นแปลงปลูกผักส่งขาย กลายเป็นฟาร์มร่มรื่นกลางป่า ที่แม้ขับรถเข้าไปลึก แต่ลูกค้าวีไอพีระดับผู้บริหาร เซเลบ หนีกรุงดั้นด้นเข้าไปชมฟาร์ม เริ่มเปิดตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.ปี 2562 ก่อนที่โควิดจะระบาดอย่างหนัก จนห้างต้องปิดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“ไม่รู้จะเกิดเหตุการณ์โควิดต้องปิดห้าง แต่ไม่อยากพึ่งช่องทางขายในอีเวนท์ในห้างอย่างเดียว กลายเป็นช่วงโควิดอยู่รอดจากการมีหน้าร้านและเปิดขายออนไลน์ตั้งแต่ปลายปี พอโควิดคนทำกับข้าวเองและมีคนกรุงเทพฯ หนีมากักตัวบ้านที่เขาใหญ่ก็สั่งผักอินทรีย์ไปส่งที่บ้าน ขายดีเท่ากับออกบูท” อานิสงส์จากการบริหารความเสี่ยงทบทวนธุรกิจเสมอ
ช่วงโควิดกลับเป็นจุดพลิกดึงคนแห่มาชมฟาร์ม ปลุกใจคนที่มากักตัวแถวเขาใหญ่ ผู้ถวิลหาธรรมชาติ แวะเวียนมาเสพ บรรยากาศความดิบๆ ของร้านกาแฟ ชิมอาหารสดจากฟาร์มกลางป่า แม้อยู่ลึกมีคนมาชมถึง60-100 คนต่อวัน สถานที่รองรับได้เพียง 6 โต๊ะ บางครั้งคนแห่มาเยอะต้องบอกลูกน้องให้ขับรถไปปิดทางเข้างดรับลูกค้า เพื่อดูแลลูกค้าที่เข้ามาก่อนได้ทั่วถึง และคงเสน่ห์ความเงียบ ช่วงหลังเมื่อคนเริ่มมามากขึ้นต้องออกกฎใหม่รับเฉพาะคนที่จองเข้ามาเท่านั้น
“คนที่เข้ามานั่งจิบกาแฟชอบตรงที่ไม่มีจริต ไม่ปรุงแต่ง คนโหยหาความธรรมดาสามัญ มีช่วงหนึ่งคนเข้ามาบ่นว่าไม่สวยเหมือนในรูปในเฟซบุ๊ค เราจึงคุยกันคิดปลูกดอกไม้เพิ่มควมสวย กลับมีสถาปนิกคนหนึ่งได้ยินกระชากความคิดทันที ขอร้องไม่ให้เปลี่ยนคุณค่าที่ไร่มี เพราะเขาหลงใหลที่นี่ตรงที่ได้นั่งบรรยากาศ ดูคนงานนั่งดึงหญ้า ปลูกผัก ก็อิ่มเอมหัวใจแล้ว ดอกไม้เขาเห็นมาตลอดทางเขาใหญ่”
ชายหนุ่มเจ้าของไร่ตาวี เชื่อว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อได้ลงมือทำจริง ยิ่งค้นพบคำตอบว่าจากพระองค์ท่าน ที่ไม่เคยหยิบยื่นเงินทอง แต่ให้แนวทางทำงาน พอเพียง ประเมินตน เข้าใจ ตัวตนว่าต้องการอะไร ยึดความมั่นคงความต้องการพื้นฐานชีวิตเป็นหลัก ”เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง เมื่อมีเหลือก็คืนกลับสู่สังคม และธรรมชาติ
“โควิดทำให้เห็นว่าเงินเป็นแค่มูลค่า แต่อาหาร คือ คุณค่าที่เราทาน เราจึงเชื่อในคุณค่าที่เราทำในไร่ ความพอเพียงแต่ละคนไม่เท่ากันไม่ใช่พอเพียงแล้วจน เรามีรายได้ปลูกขายได้จริง ยังมีเวลาและมีความสุข ส่วนคนที่ทำแล้วไม่เชื่อมีอยู่ 2 อย่างคือไม่เคยทำ หรือทำแล้วไม่สำเร็จ เพราะอาจจะไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริง ที่ไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ที่เห็นชัดที่สุดคือช่วงโควิด คนมีเงินยังต้องไปแย่งซื้อไข่ไก่ แต่เราไม่ต้องแย่งกับใคร”
เขาเทียบวิถีการทำงานในฟาร์ม เหนื่อยต่างกันกับเหนื่อยขับรถทำงานวิ่งขายวัสดุก่อสร้างในเมือง งานทำฟาร์มผักเป็นงานที่เหนื่อยเปื้อนยิ้ม เก็บเกี่ยวความสุขระหว่างวันได้เสมอ แตกต่างจากงานประจำ เหนื่อยตั้งแต่ทำงานจนถึงเวลานอน ปัญหามีไม่จบ เมื่อถูกเจ้านายตำหนิจะรู้สึก เฟลตลอดวัน สิ่งที่พิเศษเสมือนเป็นรางวัลชีวิตที่เงินหาซื้อไม่ได้ คือความสุข ของคนได้อยู่บ้านเกิด พร้อมหน้าครอบครัว ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก คุณภาพชีวิตดี
แม้แต่พี่สาวเขาที่เคยไปทำงานเป็นไกด์บินไปทั่วโลก ได้มีโอกาสกลับไร่ช่วงโควิด ยังได้พบคำตอบว่าความสุขที่วิ่งหาไปทั่วโลก สุดท้ายเกิดอยู่ในตาวีฟาร์ม ที่ที่มีสมาชิกในครอบครัวพร้อมหน้าล้อมวงกินข้าวด้วยกัน
ธีระศักดิ์ เล่าว่า เขากำลังจะถูกเลือกจากธนาคารเกษตรการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปากช่อง ส่งเข้าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ New Gen Hug บ้านเกิด เพื่อเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ หวนคืนสู่มาตุภูมิช่วยกันกันพัฒนาบ้านเกิด อย่างผู้ที่มีพลัง และชัยชนะ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ พร้อมตรงที่ เก่งมีพลัง มีไฟ เพียงแต่ต้องเพิ่มมุมมองให้รอบด้าน
สิ่งที่เขาอยากเตือนคนรุ่นใหม่คือ การประเมินตนไม่เกินตัว เป็นหนี้เพื่อทำตามฝันที่วาดไว้อย่างสวยหรู
การลงมือทำทีละเล็กละน้อย จะทำให้เราจับทิศทางได้เองว่าจะเดินไปอย่างไร คนรุ่นใหม่จึงไม่ควรมองการเกษตรแค่ภาพสวยหรู เพราะก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จ มีแปลงผักเขียวขจี ลูกค้าจ่อคิวมารอรับซื้อถึงไร่ มีร้านอาหาร และร้านกาแฟชิคๆ คูลๆ ทำงาน 4-5 ชั่วโมงต่อวัน แล้วนั่งชมชิลล์ดริปกาแฟ ผ่านการจับจอบเสียม ตากแดด อาบเหงื่อ อย่างหนักหน่วง จนเข้าใจวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างปรุโปร่ง ลูกค้าจึงเชื่อใจออเดอร์ประจำ
“ตอนเห็นคนหนีกรุงกลับมาบ้านช่วงโควิดแล้วถูกประณาม แล้วเสียใจ อยากให้คนกลับบ้านอย่างผู้ชนะ ไม่ถูกต่อต้าน ไม่รอให้วิกฤติสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องกลับบ้าน คนหนุ่มมีแรง มีพลังควรกลับบ้านมาช่วงที่ยังพร้อมทั้งแรงกายแรงใจ เพือมาทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น อย่างผมไม่รอเก็บเงินจนเกษียณกลับมาในวันที่ไม่มีแรง“
แม้จะถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จมีรายได้ประจำ ปลูกผัก ร้านอาการ และกาแฟ อยู่ตัว มีคนนำเสนอเงินสั่งซื้อผักเพิ่มเข้ามาจำนวนมาก แต่เขาก็ไม่คิดจะขยายแปลงปลูกผักเพิ่มกำลังการผลิต เพราะประเมินกำลังตัวเองแล้วทำไม่ไหว
สิ่งที่เขาคิดจะขยายคือการกระจายความเสี่ยง ตามแนวทางพระราชดำริในหลวงร.9 ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์ อย่าง ปลูกป่า ที่จะให้คุณค่าเป็นพื้นที่สีเขียวคืนกลับธรรมชาติ และเพราะกล้าไม้ป่าขาย ที่ในไม่ช้า 10-20 ปี จะกลายเป็นอุโมงค์ต้นไม้ในไร่ รวมถึงการเพิ่มอีกขาธุรกิจ โดยค่อยๆ ทำที่พัก เล็กๆ ตามกำลังที่มี ไม่ทำรีสอร์ทขนาดใหญ่เกินตัว ที่ต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
“พอไม่วิ่งตามเงิน เงินกลับเข้ามาหาเราเอง มีออเดอร์เข้ามามาก แต่เรายึดหลักการเดิมที่เราสร้างฟาร์มขึ้นมาคือ เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง เมื่อมีแปลงผักก็ขยายมาทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ และที่พัก ค่อยๆ ลงทุน แตกธุรกิจ ขยายตามกำลังที่มี เพราะเราทำกันเองในครอบครัว”
----------------
สูตรกลับบ้านเกิด
อย่างผู้ชนะ..!
-ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
-ทำจริงรู้จริงเกษตรอินทรีย์ เล่าลูกค้าฟังได้
-กระจายเสี่ยงธุรกิจ ปลูกพืชหลากหลาย
-รับออเดอร์ตามกำลังผลิตไม่เกินตัว
-เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง