'วรพล' แนะรัฐบาลลุยโครงสร้างพื้นฐาน พยุงเศรษฐกิจหลังโควิด
โควิดกดดันการจัดเก็บรายได้ภาครัฐต่ำกว่าเป้า หนี้สาธารณะจ่อเกิน 60% ขณะที่ภาคเศรษฐกิจหลายส่วนยังไม่ฟื้นตัวในระยะอันใกล้ "วรพล" แนะรัฐบาลเป็นผู้นำในการลงทุน - ส่งออก ใช้กลไกตลาดเงิน ตลาดทุน ระดมเม็ดเงินจากทั่วโลก พร้อมตั้งกองทรัสต์พยุงกิจการโรงแรมไทย
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะยังคงขยายตัวติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2/63 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะติดลบประมาณ 8 - 10% จากนั้นในไตรมาสที่ 3 -4 เศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น การลงทุนจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากโควิด
ไตรมาสที่ 3 จีดีพีจะอยู่ที่ - 5 ถึง -6% และในไตรมาสที่ 4 จะอยู่ที่ -3 ถึง - 4 % โดยแม้จีดีพีจะติดลบทุกไตรมาสแต่จะฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีและทั้งปีเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบประมาณ -5 ถึง - 6%
วรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)และอดีตประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจหดตัวจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้และการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลโดยในปี 2563 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท แต่มีการตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.7 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณที่ประมาณ 4.69 แสนล้านบาท แต่การแพร่ระบาดของโควิดจะทำให้การจัดเก็บงบประมาณในปีนี้ต่ำกว่าเป้า ทำให้การขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้น
สำหรับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นและการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า ทำให้รัฐบาลจะต้องวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้รัดกุมมากขึ้นนอกจากการลดค่าใช้จ่าย ยังต้องเตรียมการขยายเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมที่อยู่ 60% ของจีดีพี เนื่องจากการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นเกิดพร้อมกับเศรษฐกิจที่หดตัว และมีการกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาททำให้แนวโน้มหนี้สาธารณะของประเทศจะเกิน 60% ของจีดีพีได้ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมการแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการบริหารงบประมาณของรัฐบาล
"รัฐบาลอาจจำเป็นที่จะต้องมีการขยายเพดาน บริหารจัดการเศรษฐกิจ เพิ่มการค้ากับต่างประเทศ เก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและขยายการเก็บภาษี ใช้งบประมาณและเงินกู้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เปลี่ยนจากโครงการที่เป็นการแจกเงินเป็นการจ้างงานให้ได้โดยเร็ว"
ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวได้ล่าช้าเนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของโควิด รวมทั้งประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการลงทุนรัฐบาลควรเป็นผู้นำในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณก็สามารถขับเคลื่อนในกลไกตลาดทุนมาช่วยเสริมได้ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบถนน ราง ไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ
สิ่งที่ควรทำคือโครงสร้างพื้นฐาน และทำได้รวดเร็วกว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) และเป็นช่องทางในการระดมทุนจากเอกชน สถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศที่จะช่วยให้เกิิดการลงทุนในช่วงที่มีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจ ข้อจำกัดของงบประมาณแผ่นดิน และข้อจำกัดที่มีภาระหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมาภาครัฐยังมีการระดมทุนในรูปแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานไม่มากนักโดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐควรสนับสนุนก็คือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการลงทุนในท่าอากาศยานซึ่งสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเป็นการรองรับการพัฒนาสนามบินในประเทศให้มีความพร้อมที่จะรองรับผู้โดยสารหลังจากที่โควิดคลี่คลายแล้วสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้
ส่วนรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งรัฐบาลมีโครงการจำนวนมากที่ต้องมีการลงทุนในระบบราง หากรองบประมาณอย่างเดียวจะไม่สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ควรใช้รูปแบบการระดมทุนแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเช่นกันเพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐด้วย
อีกส่วนหนึ่งที่ควรใช้กลไกตลาดทุนมาใช้ในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวในขณะนี้ก็คือการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อร่วมลงทุนในกิจการโรงแรม เพื่อเกื้อหนุนธุรกิจโรงแรมให้อยู่รอดได้เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจโรงแรมของไทยอยู่รอดได้ในช่วงที่ขาดสภาพคล่อง ไม่เช่นนั้นมีความเสี่ยงที่กิจการจะตกไปอยู่ในคนต่างชาติทั้งหมด โดยเข้าไปถือหน่วยลงทุนไว้ในระยะเวลาหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นค่อยขายหน่วยลงทุนหรือหุ้นกลับไปให้กับเจ้าของกิจการได้
การช่วยให้โรงแรมมีเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจมากขึ้น และภาครัฐสามารถกำหนดเงื่อนไขในการช่วยพยุงกิจการเช่นกำหนดให้คงสภาพการจ้างงานพนักงานไว้โดยไม่ปลดพนักงานในช่วงนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องของศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระยะยาวของไทย รวมถึงเป็นการเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนให้กับประชาชนด้วย โดยผลตอบแทนจะอยู่ที่ 4 -5%ต่อปีซึ่งช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้ประชาชน