ธปท.ไฟเขียว '5 แบงก์' เปิดบัญชีออนไลน์ ใช้เทคโนโลยีชีวมิติจดจำใบหน้า
“แบงก์ชาติ” ไฟเขียว 5 ธนาคารพาณิชย์ออกจาก “แซนด์บ็อกซ์” หลังผ่านการทดสอบใช้เทคโนโลยีชีวมิติ ด้วยการจดจำใบหน้า เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากผ่านระบบออนไลน์ เผยยังมีนอนแบงก์-แบงก์ เข้าทดสอบอีก 9 ราย เตรียมออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารได้อนุญาต ให้ 5 ธนาคาร คือธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย และซีไอเอ็มบีไทย ออกจาก ศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ของธนาคารเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) ผ่านการจดจำใบหน้า หรือการเปรียบเทียบใบหน้า(Facial recognition) ในการเปิดใช้เปิดบัญชีเงินฝากผ่านระบบออนไลน์ได้ อย่างเป็นวงกว้างแล้ว
หลังจากช่วงที่ผ่านมา ธปท.มีการเปิดให้สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ เข้าทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า (Know You Customer : KYC) ด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงินในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ได้ออกจากแซนด์บ็อกแล้ว 5 ราย จากผู้ให้บริการทั้งหมด 14 ราย ซึ่งประกอบด้วยสถาบันการเงิน 10 ราย และนอนแบงก์ หรือผู้ให้บริการอีมันนี่อีก 4 ราย
อย่างไรก็ตาม การเปิดทดสอบ ให้สามารถใช้เทคโนโลยี จดจำใบหน้า ที่เปิดให้ทดสอบในวงจำกัดในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านเทคโนโลยีนี้แล้ว ราว 5.4 ล้านบัญชี ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะเห็นการเปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างแพร่หลายขึ้น เพราะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เปิดบัญชี ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงสาขาของธนาคารยาก
ทั้งนี้ ธปท.จำเป็นต้องออกแนวปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวมิติ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า เพื่อให้ผู้ให้บริการมั่นใจว่า การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าว มีความมั่นคงปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการทางการเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ให้บริการทางการเงินในอนาคต
โดยแนวปฏิบัติดังกล่าว มีหลักการครอบคลุม 6 ด้านด้วยกัน ด้านแรก การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2. การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพปลอดภัย 3. การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4. การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5. คุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมพอเพียงและ 6. ควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อนาคต ผู้ให้บริการ จะสามารถต่อยอด เทคโนโลยีทางการเงิน จดจำใบหน้าเพื่อใช้เปิดให้บริการด้านอื่นๆได้ด้วย เช่น การให้สินเชื่อ การเปิดบัญชีหลักทรัพย์และการทำธุรกรรมประกันฯลฯได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าทดสอบใน แซนด์บ็อกซ์ใหม่อีกครั้ง หากผู้ให้บริการรายนั้นได้รับอนุญาตจากธปท.ให้ออกจากแซนด์บ็อกซ์ได้แล้ว
แต่ผู้ให้บริการ จะต้องรายงาน และเข้ามาพูดคุยกับธปท.ก่อน เพื่อให้ธปท.ทราบถึงกระบวนการต่างๆ เช่นกระบวนการการปล่อยสินเชื่อ การวิเคราะห์สินเชื่อ การดูด้านหลักประกันต่างๆ ก่อน
“การใช้เทคโนโลยี ผ่านการจดจำใบหน้า เพื่อยืนยันตัวตน ที่ผ่านมาจากการทดสอบ พบว่าสามารถยืนยันได้แม่นยำถึง 99.5% ขณะที่อีก 0.50% อาจมีปัญหาเรื่องแสง สี เวลาถ่ายภาพ แต่การเปิดบัญชีด้วยการยืนยันตัวตนผ่านเทคโนโลยี สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ การไออัพเดทข้อมูลกับธนาคารให้เป็นปัจจุบัน ถึงจะสามารถเปิดบัญชีได้”
สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าข้ามธนาคาร (Cross-verification) บนแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) ล่าสุดมีสถาบันการเงินเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์แล้วทั้งหมด 7 ราย
ขณะเดียวกัน ภายในเดือนส.ค.นี้ จะเริ่มขยายวงในการทดสอบโดยให้บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวมถึงประกันเข้ามาร่วมทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ในการเปิดบัญชีในระยะถัดไปด้วย