โควิด-19 ดันธุรกิจแผ่นฟิล์มรุ่ง 'โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย)'
วิกฤติโควิด-19 ผลักดัน 'คำสั่งซื้อออนไลน์' พุ่ง ! 'โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย)' รับอานิสงส์บวก หลังความต้องการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ในบรรจุภัณฑ์อาหารล้น 'อมิต ปรากาซ' เอ็มดี โชว์ 3 พันธกิจ 'ขยายกำลังผลิต-ซื้อกิจการ-สร้างสินค้าที่เพิ่มมูลค่า'
'วิกฤติโควิด-19 !' ที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สะท้อนผ่านการเติบโตของ 'ธุรกิจออนไลน์' (Online) หลังผู้บริโภคหันมาสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านทาง Online จำนวนมากขึ้น และหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ 'บวก' ดังกล่าว ต้องยกให้ 'ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET เพื่อใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหาร'
'โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL' ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET เพื่อใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับปริมาณการขาย (แผ่นฟิล์ม) เพิ่มขึ้น 12% จาก 155,167 เมตริกตัน เป็น 174,562 เมตริกตัน แม้ว่าผลประกอบการปี 2562/2563 (1เม.ย.2562-31 มี.ค.2563) “กำไรสุทธิลดลง” จาก 2,324.39 ล้านบาท เหลือ 1,803.08 ล้านบาท
'อมิต ปรากาซ' กรรมการผู้จัดการ บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมของกลุ่มผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ได้รับความนิยมนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ส่งผลให้มีการเติบโตอย่าง 'ก้าวกระโดด' ในช่วงวิกฤติของโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการได้รับประโยชน์และเร่งผลิตสินค้ารองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยมีการประเมินว่าตลาดผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง เพื่อนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของภูมิภาคอาเซียน ช่วงโควิด-19 เติบโตสูงถึง 30-40% จากเดิมเติบโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี !
'อุตสาหกรรมแผ่นพิล์ม PET ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ที่ได้รับความนิยมนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด'
ขณะที่ PTL เขาบอกว่า คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563/2564 (เม.ย.-มิ.ย.2563) จะทำ 'ยอดขาย' ได้เติบโตขึ้น จากปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบางในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวใน 'อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ' ประกอบกับการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตและอัตราการใช้เครื่องจักรที่ดี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี
โดย PTL ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นอันดับ 5 ของโลก จากฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศ อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย ตุรกี และ สหรัฐฯ ดังนั้นบริษัทจึงได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากปริมาณความต้องการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบางที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาวในอัตราปกติ 5-7% ต่อปี
ทั้งนี้ ตลาดเอเชียถือเป็นตลาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง คิดเป็น 3 ใน 4 ของแผ่นฟิล์มทั่วโลก เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน ในหลายประเทศยังมีอัตราการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ต่อหัวต่อปียังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทที่มุ่งผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง รับความต้องการของใช้ในภูมิภาคนี้มากขึ้น
ขณะที่ 'ตลาดแผ่นฟิล์ม PET ชนิดหนา' ที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น เทปฉลาก การเคลือบด้วยความร้อน การถ่ายภาพและงานกราฟิก แผงโซล่าเซลล์ การก่อสร้าง และอุปกรณ์เกี่ยวกับแสง แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หลังจากที่หลายประเทศได้ประกาศคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง จึงคาดว่าความต้องการจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 4-6% ต่อปี และช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทรับจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว
ขณะที่ แนวโน้มผลการดำเนินงานงวดปี 2563/2564 (1 เม.ย.2563-31 มี.ค.2564) 'รายได้และกำไรสุทธิ' จะเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับงวดปี 2562/2563 (1 เม.ย.2562-31 มี.ค.2563) ที่มีรายได้รวม 14,051 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,804 ล้านบาท
'กรรมการผู้จัดการ' บอกต่อว่า สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ (ปี 2563/2564) บริษัทมีแผนขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศใหม่ๆ แต่จะต้องศึกษาความต้องการใช้ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ประกอบกับบริษัทไม่ได้ปิดกั้นโอกาสใน 'การเข้าซื้อกิจการ' (M&A) เพื่อขยายการตลาด ซึ่งรูปแบบของผลิตภัณฑ์สินค้านั้นจะต้องเป็น 'สินค้าแบบชนิดพิเศษหรือสินค้าที่เพิ่มมูลค่า' (High Value Product) ของแผ่นฟิล์ม PET ทั้งชนิดบางและชนิดหนาโดยในปีนี้บริษัทใช้งบลงทุน 90-100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,000 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า เช่น การลงทุนแผ่นฟิล์ม BOPP หรือแผ่นฟิล์มโพลีโพรพีลีน ที่มีประสิทธิภาพสูง ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งปีแรกของปี 2564-2565
นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดเล็กในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่นๆ เช่น การผลิตฟิล์มเคลือบซิลิโคน ฟิล์ม โฮโลแกรม แผ่นฟิล์ม Blown ฟิล์มเป่าและแผ่นฟิล์มเคลือบนอก ในสายการผลิตในไทยและตุรกี โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ของแผ่นฟิล์ม PET ทั้งชนิดบางและชนิดหนา ผ่านฐานการผลิตทั้ง 5 แห่ง รองรับโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น
'เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน จากกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มและการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและความมั่นคงทางธุรกิจรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากดีมานต์ความต้องการของตลาดที่เกิดจากเศรษฐกิจฟื้นตัว และรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดี'
สอดคล้องกับ 'จุดแข็ง' ของบริษัทที่มีฐานการผลิตที่ช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิตด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บริษัทสามารถเก็บเกี่ยวรายได้และสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทได้อย่างยั่งยืนในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบของบริษัทปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน
ดังนั้น จึงส่งผลให้ราคาขายบริษัทมีการปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งบริษัทจึงได้วางกลยุทธ์ผลิตสินค้าที่เป็นเกรดชนิดพิเศษเพื่อให้มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมมาร์จินของบริษัท
ท้ายสุด 'อมิต' ทิ้งท้ายไว้ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลก รวมถึงที่ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในด้านลบแต่อย่างใด แต่ขณะเดียวกันได้รับประโยชน์ในด้านบวกเช่นกัน ด้วยการที่มีความต้องการใช้สินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทเฟล็กซิเบิ้ล แพคเกจจิ้งเพิ่มมากขึ้น
โบรกฯ มองกำไร 5 ปี ยัง 'สดใส'
'ดุลเดช บิค' นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอสวิคเคอร์ส บอกว่า บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL เป็นผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชั้นนำของไทย โดยมีกำลังการผลิต PET Thin Film 1.75 แสนตันต่อปี , PET Thick Film 2.88 หมื่นตันต่อปี , BOPP 6 หมื่นตันต่อปี และกำลังการผลิต Metallizer Film 5.49 หมื่นตันต่อปี ปัจจุบันมีโรงงานในไทย , ตุรกี , อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ
โดยคาดว่า Core profit ปี 2564 (สิ้นสุดเดือนมี.ค.2564) ไว้ที่ 2,500 ล้านบาท เติบโตแข็งแกร่ง 39% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในปี 2563 (สิ้นสุดเดือนมี.ค.2563) ปริมาณขายเพิ่มขึ้น ส่วนราคาขายเฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมัน ทำให้ยอดขายได้จะอยู่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ลดลงประมาณ 5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
แต่ 'มาร์จินเพิ่มขึ้น' เพราะต้นทุนต่ำลง ยังผลให้ GPM สูงขึ้นเป็น 23.4% ดีขึ้นจาก 21.7% ในปี 2562 ส่วนกำไรสุทธิปี 2564 (สิ้นสุดเดือนมี.ค.2564) เติบโตจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 20% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 23% ต่อปี
ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2562-2566) จาก 4 ปัจจัยหนุน คือ 1.การขยายกำลังการ BoPET , BoPP และ Metallizer Film หลังลงทุนขยายโรงงาน BoPET & BoPP ในอินโดนีเซีย 2. เพิ่มสินค้าที่เป็น Value added 3. ปรับปรุงสายธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4. อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มเพราะอุปสงค์บรรจุภัณฑ์ดีขึ้น
ดังนั้น ปัจจัยพื้นฐานด้วยคำแนะนำ 'ซื้อ' โดยให้ราคาเป้าหมาย 27.50 บาท อิง P/E ปี 2564F(สิ้นสุดมี.ค.2564) ที่ 9.9 เท่า โดยชอบ PTL ที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่ง , เป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำเพราะธุรกิจครบวงจร และได้รัผลกระทบจากโควิด-19 จำกัด