'โควิด' กระตุ้นอุตฯหุ่นยนต์ รัฐเร่งแผนหนุนผู้ผลิตไทย

'โควิด' กระตุ้นอุตฯหุ่นยนต์  รัฐเร่งแผนหนุนผู้ผลิตไทย

การระบาดของโรคโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งทำแผนสนับสนุนผู้ประกอบการไทยผลิตเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการผลิตโดยรวมของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีต้นทุนลดลง และเข้ามาช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทยที่เรื้อรังมานาน จนต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคน รวมทั้งยังเป็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยจากการผลิตขั้นพื้นฐานไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียถือว่ามีปริมาณการใช้และอัตราการเติบโตสูงสุดในโลก จากข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR) พบว่า

ปี 2562 ยอดขายหุ่นยนต์ทั่วโลก ประมาณ 421,000 ยูนิต ซึ่งภูมิภาคเอเชียมียอดขายสูงสุดอยู่ที่ 285,000 ยูนิต และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะมียอดขายสูงถึง 420,000 ยูนิต คิดเป็น 72.9% ของยอดขายหุ่นยนต์ทั่วโลก ที่มีจำนวน 576,000 ยูนิต

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันไทย-เยอรมัน ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้ทรานฟอร์เมชั่นผู้ประกอบการเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต โดยการส่งเสริมการลงทุนระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทั้งในส่วนของการสร้างและซ่อมบำรุงเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม

ขณะนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการคนไทยในการผลิต และออกแบบระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยจะยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อที่จะนำเข้ามาประกอบเป็นหุ่นยนต์ภายในประเทศไทย คาดว่าจะออกประกาศได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อที่จะแข่งขันกับหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศได้

ทั้งนี้ ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวบางส่วน ก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีหันมาลงทุนใช้หุ่นยนต์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการผลิตมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่ส่งผลให้มียอดการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมากในขณะนี้ เพราะผู้ประกอบการยังมีปัญหาในเรื่องของตลาดขายสินค้าที่อยู่ในภาวะซบเซา และเชื่อว่าหลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการจะหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น

“ในขณะนี้ราคาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติก็มีราคาลดลงมาก โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่มาจากประเทศจีน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ก็คาดว่ายอดการใช้หุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้น เพราะทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้ ใช้หุ่นยนต์เป็นจำนวนมาก”

159680377117

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า บีโอไอมุ่งให้ความสำคัญกับกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งกลุ่มผู้ผลิต (Supply Side) และกลุ่มผู้ใช้ (Demand Side) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้มีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้มากขึ้นก่อน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตามมา นำมาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งระบบ

ทั้งนี้ บีโอไอ ยังได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานตาม “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต” โดยผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน สามารถนำเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังได้เพิ่มเติมสิทธิและประโยชน์ หากโครงการนั้นใช้ระบบอัตโนมัติที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยน โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 50% เพิ่มเป็น 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง) เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหันมาใช้ระบบอัตโนมัติไทยเพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2561 ถึงเดือน มิ.ย.2563 หรือกว่า 2 ปี 6 เดือน มีโครงการที่ได้รับอนุมัติตามมาตรการนี้ทั้งสิ้น จำนวน 54 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนระบบอัตโนมัติ 5,610 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในระบบอัตโนมัติที่มีความเชื่อมโยงในประเทศไทย หรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศไทย มีมูลค่า 2,508 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 45% ของมูลค่าระบบอัตโนมัติทั้งหมดตามมาตรการนี้

ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่ามาตรการนี้ นอกจากจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในโครงการแล้ว ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ระบบอัตโนมัติของไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างเห็นผลอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการของบีโอไอที่สนับสนุนให้ไทยก้าวสู่ “ประเทศไทย 4.0” ได้เร็วขึ้น

สำหรับ ยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ ในปี 2562 ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีจำนวนทั้งสิ้น 12 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 100% มีเงินลงทุน 1,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 580% ส่วนในไตรมาส 1 ปี 2563 มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1 ราย มีเงินลงทุน 2 ล้านบาท