ลุ้น รมว.พลังงาน เคาะต่ออายุตรึงราคา ‘ก๊าซหุงต้ม’
สนพ.เตรียมเสนอรมว.พลังงานคนใหม่ พิจารณามาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน อุ้มราคาแอลพีจี ครัวเรือนต่อ 3 เดือน หนุนราคาเอ็นจีวีเปิดเสรีกิจการก๊าซ โรงไฟฟ้าชุมชน คาดความต้องการใช้พลังงานปี63 กรณีเลวร้ายสุด - 7.9%
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.เตรียมนำเสนอแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณานโยบายในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือก๊าซหุงต้ม ภาคครัวเรือน ที่ปัจจุบัน ภาครัฐได้ตรึงราคาอยู่ที่ 3 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 45 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2563 โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแล ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯในส่วนของบัญชี LPG ติดลบอยู่ที่ประมาณ 6,500 ล้านบาท จากกรอบเงินดูแลราคา LPG ที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ราคา LPG ตลาดโลกปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 350 ดอลลาร์ต่อตัน จากกว่า 200 ดอลลาร์ต่อตัน และมีแนวโน้มช่วงปลายปีนี้จะเพิ่มเป็น 400-500 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ประมาณการว่า จะส่งผลให้เงินไหลออกจาก
กองทุนฯเพิ่มขึ้นเดือนละ 300-400 ล้านบาท ดังนั้น ควรพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินเข้าไปดูแลประมาณ 1,200 ล้านบาท อยู่ในกรอบวงเงินที่ตั้งไว้ เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
รวมถึงนโยบายชดเชยราคาก๊าซธรรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ ที่ปัจจุบัน ปตท.ยังรับภาระส่วนต่างอยู่ 2 บาทต่อกิโลกรัม หรือ จำหน่ายอยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคา NGV ขายปลีกทั่วไปอยู่ที่ 15.31 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.63 จึงต้องรอรับทราบแนวนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานคั่งค้างที่ต้องรอรับฟังแนวนโยบายจากรัฐมนตรีฯ เช่น การเปิดแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ที่ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 คือเปิดให้เอกชนยื่นขอรับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) แต่ยังรอนโยบายว่าจะดำเนินอย่างไรต่อ
รวมถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ ที่ครอบคลุมถึงการก่อสร้างคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และท่อส่งก๊าซฯ ที่จะรองรับโรงไฟฟ้ามั่นคงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โรงไฟฟ้าน้ำพอง และภาคใต้ เช่น โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ว่าจะวางระบบจัดหาก๊าซฯในแต่ละพื้นที่อย่างไร
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะต้องรอความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับ 4 แผนพลังงาน ที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) คือ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2018)
“จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศนั้น สนพ.ได้เตรียมจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับรองรับการปรับปรุงแผนPDP ในอนาคต คาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณ ก.ย.นี้”
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 63 สนพ. ได้พยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายที่เกี่ยวข้องมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดยในกรณีเลวร้ายที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้ปรับตัวลดลงรุนแรง ติดลบ 9 – 10% คาดว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานของประเทศลดลง 7.9% โดยการใช้น้ำมันเบนซิน ลดลง 6.3% การใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 4% การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 43.5% การใช้ LPG ลดลง 10.9% การใช้น้ำมันเตา ลดลง 10% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 3.0%
อย่างไรก็ตาม สํานักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะมีการทบทวนตัวเลข GDP ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ขณะเดียวกัน สนพ.ได้ประมาณการกรณียึดตัวเลข GDP ของสศช. เมื่อวันที่ 18 พ.ค.63 ที่ติดลบ 5-6% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 63 ลดลง 5.3% โดยคาดว่า การใช้พลังงานจะลดลงเกือบทุกประเภท โดยการใช้น้ำมันลดลง 14.2% การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 5.4% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ลดลง 1% ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 63 คาดว่าจะลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน