อนาคตไทยยุคหลังโควิด : ไม่มี 'แพลตฟอร์มนโยบาย' ไม่ได้แล้ว
ทำไม “แพลตฟอร์มนโยบาย” หัวใจสำคัญในการร่วมสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี ถึงเป็นคำตอบสำหรับประเทศไทย ในโลกอนาคตยุคใหม่มีความซับซ้อน ความไม่แน่นอนสูง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉับพลันและมีผลกระทบสูงดังเช่นวิกฤตการณ์โควิด
ทุกวันนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่สะท้อนความไม่สมดุล ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
เราจึงเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การจ้างงาน ช่องว่างทางเทคโนโลยี และปัญหาต่างๆ อีกมากมาย เพื่อเอาชนะปัญหาดังกล่าว “นวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation)” เป็นทางออกเพราะเราต้องการวิธีคิดใหม่ๆ และวิธีปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนปัญหาให้เป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
อนาคตยุคหลังโควิด ไม่มี “แพลตฟอร์มนโยบาย (Policy Platform)” ไม่ได้แล้ว เพราะโลกอนาคตยุคใหม่มีความซับซ้อน ความไม่แน่นอนสูง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉับพลันและมีผลกระทบสูงดังเช่นวิกฤตการณ์โควิดที่เราเห็นผลกระทบรุนแรงในระดับโลกแพลตฟอร์มนโยบายเป็นหัวใจสำคัญในการร่วมสร้างนโยบายสาธารณะที่ดีโดยรวมพลังปัญญาคนทุกภาคส่วน ผสานกับนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ส่งต่อนโยบายจนขับเคลื่อนนโยบายออกมาได้ตอบโจทย์ประชาชน อย่างฉับพลันทันการณ์เรียกได้ว่าออกแบบและส่งต่อนโยบายแบบ From Vision toAction อย่างแท้จริง
เหตุผลที่แพลตฟอร์มนโยบาย หรือ Policy Lab ทวีความสำคัญ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา การกำหนดนโยบายเป็นไปแบบเหมารวมและอาจไม่ได้ออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์ประชาชนที่มีความหลากหลาย หรืออยู่ในบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันการจัดทำนโยบายในรูปแบบใหม่ๆผ่านแพลตฟอร์มนโยบายหรือPolicy Lab จะช่วยเปิดพื้นที่การทดลองและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ ออกแบบนโยบายโดยยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง นี่จึงเป็นการสร้างนโยบายบนฐานความเข้าอกเข้าใจ (Empathy-based Policies) ประชาชน และขับเคลื่อนนโยบายได้ตอบโจทย์เชิงพื้นที่ได้ดีกว่า
ที่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้มีการริเริ่ม Thailand Future Policy Platform เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการตอบโจทย์ต่างๆผ่านการร่วมสร้างสรรค์ (co-create) นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ที่สำคัญของประเทศพร้อมๆกับทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายชั้นนำระดับประเทศและระดับนานาชาติที่ได้ผลักดันแพลตฟอร์มนโยบายเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังมีความท้าทายอีกหลายประการ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องอาศัยกระบวนการแพลตฟอร์มนโยบายมาช่วยหาทางออกอีกหลายโดเมน ตัวอย่างเช่น
1) Inequality and Poverty Reduction: ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มที่จะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปิดโอกาสในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ประเทศจึงต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบระบบเพื่อนำ Big Data บริหารจัดการการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกแบบระบบเพื่อนำ Mobile Banking และเทคโนโลยี Blockchainมาใช้แก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน
2) Automation, Robot and Future of Job: ระบบอัตโนมัติ การพัฒนา Artificial Intelligent (AI) ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศจะต้องเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านการออกแบบระบบในการยกระดับทักษะแรงงานในอนาคตเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และ AI ได้ ตลอดจนออกแบบระบบสวัสดิการเพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เช่นUniversal Basic Income และอื่นๆ เป็นต้น
3) Sharing Economy and Future of Economy: เราจะต้องเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยการทดลองในรูปแบบของ Sandbox ทั้งในเชิง Physical Sandbox และ Regulatory Sandbox ตลอดจนการทดลองระบบการกำกับดูแลแบบใหม่ๆ ก่อนที่จะวางเป็นมาตรฐานของประเทศ รวมถึงการออกแบบระบบเพื่อรองรับการปรับตัวของอาชีพกลุ่มเดิมที่จะถูกทดแทน (Disruption) เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบเศรษฐกิจในอนาคตอย่างทั่วถึง
4) Future of Public Healthand Ageing Society : ปัจจุบัน ประเด็นด้านสาธารณสุขไทยกำลังประสบปัญหาหลายประการตั้งแต่ปัญหาการรอคิวของผู้ป่วยที่ยาวนาน การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ทั่วถึง ไปจนถึงปัญหาภาระที่เพิ่มขึ้นของระบบการเงินการคลังสาธารณสุขและความเหลื่อมล้ำของกองทุนประกันสุขภาพ นอกจากนี้ แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะส่งผลให้ประเด็นด้านสาธารณสุขมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นจะต้องมีการออกแบบการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบโดยการใช้มุมมองใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแก้ไขปัญหา
5) Education for the 21st Century : องค์ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและในอัตราเร่ง จนห้องเรียนและการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ ไม่เพียงพอต่อการเตรียมเด็กในปัจจุบันให้รองรับกับอาชีพในอนาคต การออกแบบระบบการศึกษาบนพื้นฐานของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นโจทย์สำคัญรวมไปถึงการออกแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้ใหญ่ เพื่อสามารถยกระดับทักษะการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในเศรษฐกิจแห่งอนาคต
ถ้า “แพลตฟอร์มนโยบาย” เป็นคำตอบสำหรับประเทศไทย เราอยากให้คุณ “มาร่วมตั้งคำถาม” และรวมพลังปัญญาเพื่อ “เป็นคำตอบ” ไปด้วยกัน