'ธุรกิจเฮลท์แคร์' เสน่ห์แรง 'ต่างชาติ' เคาะประตูลงทุน

'ธุรกิจเฮลท์แคร์' เสน่ห์แรง 'ต่างชาติ' เคาะประตูลงทุน

พิษโควิดทำให้ 'การลงทุน' ถูกล็อกดาวน์..! แต่ใช่ว่า 'ดีมานด์' จะหาย โดยเฉพาะ 'ดาวเด่น' ธุรกิจคลังสินค้า-โรงงานเช่า โดยเฉพาะในกลุ่ม 'Health care' ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย เครื่องมือแพทย์ฯ หลังพบสัญญาณ 'ต่างชาติ' จ่อคิวดูพื้นที่-เคาะประตูลงทุนไทย

ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ! ทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติ 'ถูกจำกัด' การลงทุน เป็นผลจากมาตรการ 'ปิดประเทศ' (Lock down) สกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทว่า สำหรับ 'ธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานปล่อยเช่า' ในประเทศไทย ยังคงเป็น 'ดาวเด่น' เป็นที่ต้องการของนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการกระจาย 'ความเสี่ยง' ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นๆ สะท้อนผ่านธุรกิจดังกล่าวยังมีความสามารถสร้างการเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอตัว ตามผลกระทบของโควิด-19 ก็ตาม

สอดคล้องกับ 'กลินท์ สารสิน' ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า หลังจากหารือกับผู้บริหารของสภาหอการค้าญี่ปุ่น พบว่า ปัจจุบันมีนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นแสดงความจำนงขอเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยมากถึง 'หมื่นราย !' สะท้อนความต้องการ (ดีมานด์) ที่อัดอั้น

ยังไม่นับรวมนักธุรกิจจากประเทศจีน ไต้หวัน และเยอรมัน ที่มีความต้องการเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากเชื่อมั่นในระบบการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไทย

'รัชนี มหัตเดชกุล' กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.มั่นคงเคหะการ หรือ MK ผู้พัฒนาและบริหารเขตประกอบการอุตสาหกรรมและเขตปลอดอากร “โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน” ย่านบางนา-ตราด กม. 23 เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมคลังสินค้า-ปล่อยเช่าโรงงาน ยังถือว่าเป็นเซ็กเตอร์ที่สร้างการเติบโต 'ระดับที่ดี' ต่อเนื่อง

แม้ว่าจะพบอุปสรรคของการแพร่ระบาดโควิด-19 บ้าง ส่งผลให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมชะลอตัว

ทั้งนี้หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าอุตสาหกรรมคลังสินค้าและปล่อยเช่าจะมีอัตราเติบโต 'ระดับ40-50%' เหมือนในปี 2562 แม้ว่าในปี 2563 จะมีการระบาดของโควิด-19 แต่ธุรกิจยังเติบโตได้ดี สะท้อนผ่านตั้งแต่ต้นปี 2563 ลูกค้าสนใจติดต่อเช่าคลังสินค้าและโรงงานจำนวนมาก แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดปัญหาเข้ามาดูพื้นที่ไม่ได้

ยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ หรือ Health care เช่น ธุรกิจผลิตถุงมือยาง , หน้ากากอนามัย ,เครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปถึงธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจอาหาร ที่มีนักลงทุนสนใจลงทุนในไทยจำนวนมาก

โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวถือเป็น 'จุดแข็ง' ของเมืองไทย เนื่องจากประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องของอาหารที่ช่วงล็อกดาวน์ประเทศเมืองไทยไม่ขาดแคลนอาหาร เนื่องจากมีวัตถุดิบเพียงพอต่อการบริโภค ทำให้นักลงทุนต่างเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก ในเรื่องของการมีวัตถุดิบเพียงพอหากจะเข้ามาลงทุน

'แม้ว่าตอนนี้ลูกค้ายังไม่สามารถเดินทางเข้ามาเจอกันได้ เพราะติดปัญหาโควิด แต่ในแง่ของการพูดคุยทางธุรกิจก็ยังเดินหน้าต่อ โดยมีอีเมลยืนยันการวางเงินมัดจำของลูกค้าในการจองพื้นที่คลังสินค้าหรือโรงงานเช่าไว้ก่อน แล้วรอแค่ไทยเปิดประเทศเท่านั้น'

159742031659

รัชนี มหัตเดชกุล

เธอ ยังบอกว่า ปัจจุบันลูกค้าที่ต้องการขยายการลงทุนเข้าไทยชัดเจนจะเป็น 'ชาวจีน' โดยสัดส่วนลูกค้าจีนเริ่มมีสัญญาณอยากขยายลงทุนเข้ามาตั้งแต่ 2 ปีก่อน จากผลกระทบประเด็น 'สงครามการค้า' (Trade war) แต่ตอนนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาร่วมด้วยตอนนี้อาจจะไม่ได้เห็นแค่ลูกค้าจีนเท่านั้น แต่จะมีชาติอื่นๆ เข้ามาด้วย อย่าง ยุโรป สหรัฐ ที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียน ยิ่งเฉพาะ ไทย และเวียดนาม เพราะว่ากลุ่มประเทศในอาเซียนมีประชากร 600 กว่าล้านคน ที่สามารถเสิร์ฟธุรกิจได้เหมือนกัน

สำหรับธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า ภายใต้ 'โครงการ Bangkok Free Trade Zone' ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น ในทางกลับกันพบว่ามีกลุ่มลูกค้าต่างชาติเข้ามาติดต่อเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณเด่นชัดตั้งแต่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน (Trade war) ส่งผลให้จีนมองหาแหล่งผลิตและ ฐานกระจายสินค้าใหม่ ดังนั้นถึงถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจให้เช่า

ทั้งนี้ นับตั้งแต่พัฒนาโครงการ BFTZ ในปี 2559 ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่อาคารโรงงานและคลังสินค้าประมาณ 220,000 ตารางเมตร ซึ่งมีอัตราเติบโตสูงถึง 160% ซึ่งหากพัฒนาเต็มพื้นที่ในโครงการ พรอสเพค จะมีพื้นที่ทั้งหมด 300,000 ตารางเมตร ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 สามารถสร้างรายได้แล้ว 101 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ BFTZ เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากโครงการดังกล่าวมีความโดดเด่นโดยเป็นโครงการที่มีทั้งส่วนที่เป็น Free Zone และ General Zone มีพื้นที่ในการบริการทั้งในส่วนที่เป็นคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า มีระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบ บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 1,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีม่วงที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้

โดยสามารถเดินทางเข้าออกได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตร (กม.) 23 และ ถนนบางนา-ตราด กม.19 และมีการคมนาคมที่สะดวก โดยห่างจากท่าเรือคลองเตยเพียง 23 กม. ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 17 กม. และห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 90 กม.

ทั้งนี้สามารถเดินทางไปยังเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะทาง 50 กม. มีบริการเสริมสำหรับอำนวยความสะดวกที่เตรียมไว้ให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ Consulting Service

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทางพรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จึงได้เดินหน้าขยายธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าใหม่อีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 'บริเวณ กม.19 และย่านเทพารักษ์' รวม 150,000 ตารางเมตร ซึ่งโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าทั้ง 2 แห่ง จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปลายปี 2563 ซึ่งหากมีการพัฒนาเต็มทุกเฟสจะทำให้บริษัทมีพื้นที่อาคารโรงงานและคลังสินค้ากว่า 450,000 ตารางเมตร

พร้อมกันนี้โครงการ Bangkok Free Trade Zone ตั้งอยู่ที่ บางนาตราด กม.23 เป็นพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าที่มีการ ขออนุญาตให้เป็น Free Zone สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่ โดยสามารถเลือกได้ทั้งส่วนที่เป็น Free Zone หรือ ส่วนที่เป็น General Zone ซึ่งภายใน Bangkok Free Trade Zone นี้ มีอาคาร ให้เช่าแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.อาคารคลังสินค้า และ 2. อาคารโรงงาน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ สีม่วง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโรงงานในพื้นที่นี้ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขออนุญาต

'Bangkok Free Trade Zone พื้นที่ทั้งหมดในโครงการมีทั้งสิ้น 1,000 ไร่ ซึ่ง 700 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเช่าหรือ Leasable Area โดยอีก 300 ไร่ คือ พื้นที่เพื่อการสาธารณูปโภค อาทิ ถนนสาธารณะ โรงบำบัดน้ำเสีย และส่วนการรักษาความปลอดภัยภายในโครงการ เป็นต้น'

อย่างไรก็ตาม เธอ ทิ้งท้ายไว้ว่า หากไทยเปิดประเทศเมื่อใดมีโอกาสที่นักลงทุนจีนจะเป็นสัดส่วนลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทได้เพราะปัจจุบันลูกค้าจีนจ่อขยายลงทุนเข้ามาอีกจำนวนมาก

ด้าน 'จรีพร จารุกรสกุล' ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA บอกว่า คาดแนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลัง 2563 จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากรัฐบาลเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายและการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้านออกมาแล้ว หลังการระบาดของโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยากให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายการอนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศแบบ Business Bubble เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ หากดูในภาพโดยรวมแล้วธุรกิจของบริษัทไม่ได้รบผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากนัก สะท้อนจากภาพตอนนี้ยังมีความต้องการลงทุนที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ภายในเดือนส.ค.นี้ บริษัทจะรอความชัดเจนด้านนโยบาย Business Bubble จากทางภาครัฐ ซึ่งจะมีผลต่อเป้าหมายประมาณการยอดขายที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท โดยก่อนหน้านี้บริษัทวางเป้ายอดขายที่ดินไว้ที่ 1,400 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นที่ไทย 1,200 ไร่ และที่เวียดนาม 200 ไร่ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมที่ประเทศเวียดนามขณะนี้มีการลงนาม MOU แล้ว 180 ไร่

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 ปี 2563 บริษัทจะเปิดนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จำนวน 1,000 ไร่ จะรองรับกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระตุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจากภาครัฐอีกด้วย

'โควิด-19 ไม่ได้กระทบต่อดีมานด์ของความต้องการพื้นที่ในนิคมฯเลย อยากจะเรียกร้องให้ภาครัฐออกนโยบายด้าน Business Bubble โดยเร็ว ซึ่งปกติแล้วธุรกิจของบริษัทในช่วงครึ่งหลังจะเติบโตได้ดีกว่าในครึ่งปีแรกอยู่แล้ว ในเดือนส.ค.จะสรุปตัวเลขแผนธุรกิจต่างๆ ให้ชัดเจนอีกครั้ง เพราะจะต้องรอนโยบายของภาครัฐให้ชัดเจนก่อน'

+++++++++++++++++++++++++++++++

โบรกฯมองไทยยังมีเสน่ห์ 'ลงทุน'

'เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม' รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS เปิดเผยในงาน 'จับสัญญาณการเคลื่อนย้ายฐานการผลิต กระแสเงินทุนไหลเข้า EEC เป็นอย่างไร และหุ้นนิคมฯน่าลงทุนไหม' ว่า ในระยะยาว 'หุ้นนิคมอุตสาหกรรม' ยังคง 'โดดเด่น' เนื่องจากมีปัจจัยหนุน คือการย้ายฐานผลิตเข้ามาในไทย และเวียดนาม ประกอบกับ ยอดขายที่ดินซึ่งเป็นรายได้ที่มั่นคงของกลุ่มนิคมฯ แต่ระยะสั้นผลประกอบการชะลอตัวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมต่างโดนผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม รายงานจาก US News and World Report ระบุว่า ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จะได้รับผลบวกจากการย้ายฐานผลิตมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยไทยมีความน่าสนใจมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค เนื่องจากมีปัจจัยที่เหนือกว่าคู่แข่งประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล, ติดต่อราชการสะดวก, ต้นทุนการผลิตต่ำ, อยู่ใจกลางอาเซียนสามารถเชื่อมต่อกับต่างประเทศง่าย, เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่าย ซึ่งดอกเบี้ยยังอยู่ระดับต่ำ, มีเสถียรภาพการเงินดี และยังผลักดันโครงการ EEC ซึ่งจะทำให้ได้รับอานิสงส์ขาขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตอีกด้วย

ทั้งนี้ ญี่ปุ่น และสหรัฐ มีฐานการผลิตในจีนจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดปัญหาสงครามการค้า ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยญี่ปุ่น และสหรัฐ ต่างต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และมีการกระจายตัวของฐานผลิตไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งงบประมาณช่วยเหลือบริษัทจำนวน 2.4 แสนล้านเยน เพื่อย้ายฐานผลิตจากจีนกลับมาญี่ปุ่น แต่ถ้าย้ายไปประเทศอื่นก็ยังมีงบช่วยเหลือเช่นกัน ส่วนสหรัฐฯ มีแนวโน้มใช้มาตรการเดียวกันกับญี่ปุ่น

159742040310

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บัวหลวง (BLS) ระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจในการเป็นฐานการผลิตสินค้า 'อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์' เพราะบางบริษัทมีฐานการผลิตอยู่แล้ว ดังนั้นการขยายกำลังการผลิตในไทย จึงเป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศจีน

โดยจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลก กำลังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่รุนแรงขึ้นในปี 2018 ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิต เริ่มมองหาฐานการผลิตอื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการกีดกันการค้า (นอกเหนือจากปัญหาการค้า ค่าแรงที่สูงขึ้น กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับมลพิษ และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้จีนเริ่มน่าสนใจลดลงในการเป็นฐานการผลิต)

ทั้งนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนเร็วขึ้น เพราะการแพร่ระบาดที่เริ่มต้นในประเทศจีน ทำให้จีนประกาศปิดเมืองกว่า 1 เดือน หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดสายการผลิต การส่งสินค้าหยุดชะงัก ทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบจากการขาดชิ้นส่วนจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีสายการผลิตที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก และจีนยังเป็นผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก เช่น โทรศัพท์มือถือส่งออกประมาณ 28% ของโลก คอมพิวเตอร์ส่งออก 20% และโทรทัศน์ 20% ของโลก

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

'PROSPECT' กองทรัสต์

ลงทุน 'คลังสินค้า-รง.'

'ไพบูลย์ นลินทรางกูร' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และที่ปรึกษาทางการเงิน บอกว่า PROSPECT เป็นกองทรัสต์ที่เข้าลงทุนในทรัพย์สินอาคารคลังสินค้าและโรงงาน ตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ผู้เช่าช่วงพื้นที่รายย่อยมีหลากหลายสัญชาติและประกอบกิจการในหลากหลายอุตสาหกรรม

โดยกองทรัสต์ฯ จะเข้าลงทุนในทรัพย์สินครั้งแรก รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณไม่เกิน 3,738 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน วงเงินประมาณไม่เกิน 1,136 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะระดมทุนโดยการเสนอขายหน่วยทรัสต์

โดยทรัพย์สินที่กองทรัสต์ฯ จะเข้าลงทุนครั้งแรก มีอัตราการเช่าพื้นที่อยู่ในระดับที่ดีมาตลอด โดยในปี 2560–2562 มีอัตราเช่าพื้นที่อยู่ที่ 88.7% 96.4% และ 93.2% ของพื้นที่เช่าทั้งหมด ตามลำดับ ส่วน ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 มีอัตราเช่าพื้นที่อยู่ที่ 93.7% ของพื้นที่เช่าทั้งหมด และไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหลังเกิดโควิด-19 โดยมีผู้เช่าช่วงพื้นที่รายย่อยที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ และยังกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจการผลิตเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมรีไซเคิล ธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทรัสต์ฯ ได้ประมาณการเงินจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ในปีแรก (First Year Yield) ตามประมาณการงบกำไรขาดทุนตามสมมติฐานตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 ถึง 30 ก.ย. 2564 สอบทานโดยผู้ตรวจสอบบัญชี ที่อัตรา 1.112 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตรา 11.1%