'ชาญศิลป์' นำทีมขึ้นเบิกความฟื้นฟูการบินไทย เจ้าหนี้ 50 ราย รอฟังผลพิจารณาคดี
“ชาญศิลป์” นำทีมคณะผู้จัดทำแผน ขึ้นเบิกความฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” ลุ้นศาลพิจารณา 2 คำสั่ง ไฟเขียวฟื้นฟูกิจการ - แต่งตั้งคณะผู้ทำแผน ด้านเจ้าหนี้ 50 ราย รอฟังผลการพิจารณาคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลาประมาณ 8.30 น. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางมายังศาลล้มละลายกลาง ตามคำสั่งนัดไต่สวน เรื่องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยในวันนี้ (17 ส.ค.) นายชาญศิลป์ เป็นตัวแทนลูกหนี้ขึ้นเบิกความ เพื่อขออนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ และคณะผู้จัดทำแผน
สำหรับบรรยากาศ ก่อนการพิจารณาคดี ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาคดี เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอันประกอบไปด้วยลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้ยื่นคัดค้าน และผู้ที่มีเอกสารหลักฐานที่ต้องการยื่นเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ขณะที่เจ้าหนี้ต่างๆ ได้จัดสรรพื้นที่ภายนอกให้รับชมตลอดการพิจารณาคดี ซึ่งพบว่ามีเจ้าหนี้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 ราย
อย่างไรก็ดี การนัดไต่สวนครั้งนี้ ยังมีคณะผู้จัดทำแผนเข้าร่วมแสดงตน คือ บริษัทอีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด
รวมกับกรรมการการบินไทย 6 คน อันประกอบด้วย 1.พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 5. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และ 6.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
สำหรับการบินไทยในฐานะลูกหนี้ ได้เตรียมข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลางอย่างละเอียดรอบด้าน โดยในวันนี้ ศาลจะพิจารณาคำสั่ง 2 ประเด็น คือ 1.การบินไทยควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ 2.ควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอหรือไม่
ส่วนเจ้าหนี้แต่ละรายจะได้รับชำระหนี้เท่าไรและเมื่อไหร่จะยังไม่มีการพิจารณาในรายละเอียด เพราะขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นหลังศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเร็วเท่าไหร่ จะทำให้เจ้าหนี้ทุกรายได้รับเงื่อนไขการรับชำระหนี้จากแผนฟื้นฟูกิจการเร็วเท่านั้น
โดยหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนพิจารณาคดีแล้ว นายชาญศิลป์จะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยก่อนหน้านี้นายชาญศิลป์เคยให้สัมภาษณ์ว่า มั่นใจว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยจะผ่านการอนุมัติจากเจ้าหนี้ และผมมั่นใจว่าคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอชื่อเป็นคณะผู้ทำแผนที่มีความรู้ความสามารถ จะทำงานอย่างหนักเพื่อศึกษาแนวทางในการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างธุรกิจ
รายงานข่าว ระบุว่า ช่องทางฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 ได้ชี้แจงถึงปัญหาทางการเงินล้นพ้นตัว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรง ประกอบกับข้อจำกัดและความไม่คล่องตัวในการบริการจัดการเนื่องจากเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นเหตุให้กำไรต่อหน่วยของการบินไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ มูลหนี้ที่การบินไทยระบุในคำขอฟื้นฟูกิจการอยู่ที่ 352,494 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 104,669 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 247,824 ล้านบาท