'คุ้มภัยโตเกียวมารีน'อ่วมโควิด หั่นเป้าเบี้ยรับปีนี้เหลือ 1.7 หมื่นล้าน

'คุ้มภัยโตเกียวมารีน'อ่วมโควิด หั่นเป้าเบี้ยรับปีนี้เหลือ 1.7 หมื่นล้าน

“คุ้มภัยโตเกียวมารีน”หั่นเป้าเบี้ยรับปีนี้เหลือ 1.7หมื่นล้านบาท จากเป้าเดิมที่ 2 หมื่นล้านบาท หลังครึ่งปีแรกทำได้เพียง 8.95 พันล้านบาท เหตุ โควิดฉุดยอดขายรถใหม่ -ส่งออกวูบ

นายฮิโระโนะริ คิริว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคุ้มภัยโตเกียวมารีน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากกระบวนการควบกิจการตามกฎหมายของบมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย(ประเทศไทย) ได้เสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมานี้และยังคงแผนขับเคลื่อนธุรกิจในไทยระยะ3ปี (ปี2564-2566)แต่จากในช่วงโควิด-19 กระทบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปีนี้ ทำให้ยอดขายรถยนต์ป้ายแดงและการขนส่งลดลง ส่งผลให้การประกันภัยรถยนต์และประกันภัยมารีนและขนส่งลดลงตามไปด้วย

ดังนั้น บริษัทจึงปรับลดเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมปีนี้เหลือ 17,000 ล้านบาท  จากต้นปีตั้งเป้า 20,000 ล้านบาท   และยังยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก2563 บริษัทมียอดเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่8,950 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่า ในปีนี้จะสามารถเติบโตได้เป้าหมายใหม่ที่วางไว้ เนื่องจากภายหลังมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ สถานการณ์ต่างๆโดยเฉพาะยอดจองซื้อรถเริ่มปรับตัวดีขึ้น และบริษัทยังดูแลบริการลูกค้าได้   ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันวางกลยุทธ์ขยายตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประกันภัยตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยเฉพาะทางด้านประกันภัยรถยนต์ สำหรับกลุ่มรถใหม่ จะมุ่งพัฒนาแผนความคุ้มครองเพิ่มเติมจากความคุ้มครองเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมถึงจะขยายตลาดกลุ่มรถใช้แล้วและรถต่ออายุ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัดผ่านเครือข่ายสาขามากขึ้น นอกจากนี้จะขยายประกันภัยใหม่ๆ จากพฤติกรรมใหม่ new normal หลังโควิด-19 เช่น การรับประกันภัยไซเบอร์ซีเคียวริตี้จากการซื้อขายออนไลน์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันบริษัท มีส่วนแบ่งตลาดประกันภัยรถยนต์อันดับ 2 และมีเบี้ยประกันภัยรถยนต์สัดส่วนถึง 60% ของพอร์ตรับประกันรวม แบ่งเป็นกลุ่มรถใหม่ 30% และรถใช้แล้ว รถต่ออายุอีก 70% ขณะที่อัตราความเสียหายประกันภัยรถยนต์ของบริษัทอยู่ที่62-63% ถือว่ายังดีอยู่ หลังจากลูกค้าหยุดใช้รถในช่วงวิกฤติโควิด-19

พร้อมกันนี้ การควบรวมในเฟสสอง คือ การควบรวมกระบวนการบริหารจัดการภายในของทั้งสองบริษัทจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ เพื่อพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเต็มตัวในปี2564 คาดว่าในปีหน้าจะมีเบี้ยรับประภัยรับรวมจะกลับมาเติบโตได้มากกว่าอุตสาหกรรมเติบโตเฉลี่ยที่4% และยังคงแผนเติบโตในระยะ3ปีข้างหน้า มีส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นติด 1ใน3ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย จากหลังการควบรวมแล้วปัจจุบันอยู่อันดับ 4

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจในไทยระยะ3ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “Foster a Sustainable Future” ด้วยการมุ่งผสานความร่วมมือของกลุ่มบริษัทโตเกียวมารีนทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ผ่านเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ มีความร่วมมือด้านการบริหารเงินทุนภายใต้กลุ่มโตเกียวมารีน ส่งผลให้การบริหารงานด้านการรับประกันภัยต่อมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังมีความร่วมมือด้านการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน รวมไปถึงแผนการรวมสำนักงานได้ด้วยกัน และยังมีความร่วมมือในด้านการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตลงทุนให้สามารถจัดความเสี่ยงดีขึ้นและสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังผสานจุดแข็งของบริษัทความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรญี่ปุ่นด้วย และการมีเบี้ยประกันภัยที่แข็งขันได้

นายฮิโระ กล่าวด้วยว่า บริษัทแม่ญี่ปุ่นยังคงแผนธุรกิจขับเคลื่อนในภูมิภาคเอเชียและในไทยในช่วง 3 ปีข้างหน้า สำหรับในไทยมุ่งสร้างกำไรจากการรับประกันภัยและการลงทุน ทางด้านการรับประกันภัย ยังรักษาพอร์ตรับประกันรถยนต์ไว้ที่60% รวมถึงขยายฐานลูกค้าธุรกิจในประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่75% และกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่น25 % ส่วนทางด้านการลงทุน ยังเน้นความระมัดระวัง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก

“บริษัทแม่ญี่ปุ่นยังคงคาดหวังกับการเติบโตในไทย เพราะยังมีกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากและไทยเป็นฐานการส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่น อีกทั้งกลุ่มธุรกิจไทยยังมีศักยภาพเติบโตไดอีกมาก เพื่อที่จะขยายไปประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค ดังนั้นธุรกิจประกันในไทย สามารถเป็นศูนย์กลางขยายตลาดในกลุ่มCLMV ปัจจุบันกลุ่มโตเกียวมารีนมีสำนักงานตัวแทนที่พม่าและสำนักงานภูมิภาคที่สิงคโปร์”