เศรษฐกิจถดถอย 'ว่างงานสูง' รัฐบาลเอาอยู่ไหม?
เศรษฐกิจไทย Q2 หนักสุดในรอบ 2 ทศวรรษ กินลึกและกระทบกว้าง กำลังซื้อของประชาชนอยู่ในสภาพอ่อนแอ ภาคอุตสากหรรมกระทบไม่น้อย ประเมินว่ากำลังการผลิตขณะนี้อยู่ราว 52.84% แน่นอนกระทบต่อตลาดแรงงานไทย ประกอบกันวิกฤติการเมืองนอกสภา สิ่งเหล่านี้รัฐบาลเอาอยู่ไหม?
ปี 2563 ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจที่กล่าวได้ว่าสาหัสสุด ไตรมาส 2 จีดีพีหดตัวถึง 12.2% หนักสุดในรอบสองทศวรรษ พอๆ กับวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่รอบนี้กินลึกกระทบกว้างตั้งแต่แม่ค้าแผงลอย เกษตรกร มนุษย์เงินเดือนไปจนถึงเจ้าของธุรกิจตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่
ที่ไม่กระทบคงเป็นคนที่ทำงานเป็นข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจกลายเป็นที่อิจฉา เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบใดๆ รวมไปถึงคนที่ทำงานในบริษัทที่เป็นเมกะคอมปะนีใหญ่โตจนกึ่งผูกขาดเศรษฐกิจไม่มีใครเข้ามาแข่งได้ แต่อย่างน้อยแรงงานซึ่งอยู่ในภาคส่วนเหล่านี้มีจำนวนรวมกันเกือบ 2 ล้านคนเป็นส่วนหนึ่งที่มีกำลังใช้จ่ายพอประคับประคองเศรษฐกิจในยามที่ยากลำบาก
กำลังซื้อของประชาชนว่าอยู่ในสภาพอ่อนแอ เหตุผลหลักมาจากรายได้ลดลงและหนี้สูงขึ้น ไม่ต้องกล่าวถึงธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากสุดและจะเป็นภาคส่วนที่จะฟื้นตัวได้หลังสุดเมื่อไรก็ยังไม่รู้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าแรงงานไม่ได้มีเฉพาะในระบบประกันสังคม ซึ่งมีประมาณ 11.295 ล้านคน (มาตรา 33) ยังมีแรงงานนอกระบบอีกประมาณใกล้ๆ สิบล้านคนหรือมากกว่าเล็กน้อยจัดเป็นกำลังแรงงานของประเทศ ตัวเลขนี้ไม่รวมเกษตรกร แรงงานเหล่านี้กระจายไปทำงานอยู่ในภาคเอกชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ค้าปลีก บริการและแรงงานอิสระ
ประเมินว่า “พิษจากโควิด” ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยหายไปถึง 75-76% ขณะนี้ยังฟื้นตัวได้เล็กน้อยแม้จะมีโครงการไทยเที่ยวไทย ซึ่งเที่ยวเฉพาะวันหยุดหรือวันหยุดยาวๆ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหมด
ด้านอุตสาหกรรมก็กระทบไม่น้อย ประเมินว่ากำลังการผลิต (CPU) ขณะนี้อยู่เพียง 52.84% ลองคิดดูคนหรือแรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคส่วนจะยังอยู่สุขสบายหรือไม่ จากข้อมูลเดือน มิ.ย. มีโรงงาน 3,985 แห่งปิดกิจการชั่วคราว มีแรงงานประมาณ 8.026 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก โลหะ ภาคบริการ เช่น โรงแรม ค้าปลีก ขนส่ง อาหาร ฯลฯ คาดว่ากลุ่มเสี่ยงมีอยู่ถึง 2.18 ล้านคน
เศรษฐกิจที่ทรุดติดลบถึงสองหลักย่อมมีผลกระทบแน่นอนต่อตลาดแรงงาน ไม่ใช่เรื่องที่ทีมเศรษฐกิจหรือกระทรวงแรงงานจะมาโต้เถียงว่าตัวเลขไม่มีที่มาที่ไปคนตกงานมีไม่มาก การแก้ปัญหาของรัฐบาลต้องรับฟังรอบด้าน
แม้แต่เด็กๆ ที่มาเรียกร้องว่าปัญหาอยู่ตรงไหนอย่าปฏิเสธหรือไปดิสเครดิต ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงย่อมมา พร้อมกับอัตราว่างงานที่สูง อย่าไปบอกว่ากระทรวงแรงงานมีนายจ้างต้องการคนเป็นหลักแสน บางทีข้อมูลก็ขัดแย้งกันเอง แต่ดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นปัญหาเร่งด่วน มีการบรรจุเป็นวาระใน ครม.สัญจรจังหวัดระยอง (25 ส.ค.) จะมีการนำเสนอแผนการจ้างงานและแก้ปัญหาการว่างงานอย่างเป็นระบบ เห็นคุยว่าจะสร้างงานได้เป็นล้านตำแหน่ง
หากสมมติว่ามีการพบวัคซีน ซึ่งวันนี้ยังอยู่ในระยะทดลองที่หวังว่ากำลังซื้อที่จะกลับมาในเร็ววันคงไม่ได้ง่ายมีการประเมินว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีจึงจะกลับเหมือนเดิม การวางแผนเศรษฐกิจจึงต้องเป็นแบบประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดไปมากกว่าเดิม
จะทำอย่างไร เศรษฐกิจไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งพึ่งพาส่งออกทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ จะทำอย่างไรล้วนเป็นคำถามมากกว่าเป็นคำตอบ
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ครม.จะเคาะออกมาใหม่ ให้ไปดูว่างบประมาณเดิมที่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เงินมีแต่ไปติดขัดอะไรจึงใช้ไม่ได้ เช่น ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ เงินยังเหลือมากเพราะแบงก์ไม่กล้าปล่อย ขณะที่เงินเยียวยา 4 แสนล้านบาท ออกมาหลายเดือนป่านนี้ใช้เงินได้ไม่เท่าใด ยังไม่รวม พ.ร.ก.เงินกู้ความมั่นคง กองทุนตลาดพันธบัตร (BSF) อีก 4 แสนล้านบาท ที่ทราบว่ายังไม่ไปถึงไหน
ยังไม่รวมภาวะแทรกซ้อนวิกฤติการเมืองนอกสภาที่ผู้คนจำนวนมากออกมาชู 3 นิ้วหรือผูกโบว์สีขาว พวกนี้รอทีมงานเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีเลือกมากับมือให้เข้ามาแก้ปัญหา ที่ผ่านมาช้าไปมากแล้ว....เอาอยู่ไหมครับ