'สภาพัฒน์' เปิดเวทีรื้อยุทธศาสตร์ชาติ ดัน Local Economy สู้โควิด
สศช.เปิดเวทีระดมความเห็นปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน 2-3 ก.ย.นี้ เตรียมแผนปี 64-65 ด้านเศรษฐกิจ เร่ง “โลคอล อีโคโนมี” ควบคู่จุดแข็งเมดิคอลฮับ ด้านพลังงาน หนุนเสรีก๊าซ เสรีซื้อขายไฟ “มนูญ” ชี้สำรองไฟสูง แนะปรับพีดีพี
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดล่าสุดของ 13 คณะ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2563 อยู่ในช่วงรอบต่อที่ต้องปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สศช.ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน จัดการประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศในวันที่ 2-3 ก.ย.2563
สำหรับการจัดงานครั้งนี้จะรับฟังความคิดเห็นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับปรุงร่างแผนปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และให้ใช้เป็นแผนปฏิรูปประเทศในช่วงปี 2564-2565
การประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว แบ่งเป็น วันที่ 2 ก.ย.นี้ จะรับฟังความคิดเห็นในคณะกรรมการปฏิรูป 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ส่วนวันที่ 3 ก.ย.นี้ จะรับฟังความเห็นในคณะกรรมการปฏิรูป 6 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงานและด้านการศึกษา
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า การปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจในครั้งนี้มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) มากขึ้น เพื่อชดเชยช่วงที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาภายนอกและรับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19
ทั้งนี้ มี 5 ส่วนที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูป ได้แก่ 1.การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างเกษตรมูลค่าสูง 2.การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง 3.การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย 4.การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคของประเทศไทย 5.การพัฒนาศักยภาพคนเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรักษาและดูแลสุขภาพของภูมิภาค (Regional medical hub) ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการแพทย์สาธารณสุขที่ส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งเกิดกระแสการตื่นตัวของประชากรโลกที่ให้ความสนใจและพยายามแสวงหาการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีกว่า ซึ่งสอดรับกับทิศทาง การให้บริการทางการแพทย์และธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพที่เติบโตสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจเชิงสุขภาพ (Wellness Economy) มีแนวโน้มเติบโตและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ
โดยพบว่าด้าน Medical Tourism มีนักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคนครั้ง มีรายได้จากการท่องเที่ยว 4.1 หมื่นล้านบาท และมีการจ้างงานกว่า 9100 คน คน และด้าน Wellness Tourism มีนักท่องเที่ยวจำนวน 12.5 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 4.09 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 5.3 แสนคน
สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จที่คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจกำหนดไว้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2.5% ต่อปี ประเทศไทยรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขัน ที่จัดโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ไว้ในอันดับ 1 ใน 25 ของโลก ตัวเลขของการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้าทางด้านรายได้ของประชากรไทย วัดจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ต้องไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ที่ 0.41 รักษาอันดับประสิทธิภาพภาครัฐจัดโดย IMD อยู่ที่อันดับ 2 ของอาเซียนเช่นเดิม