'หวย' กับดักความมั่งคั่ง เปิด 2 ทางเลือกเปลี่ยน 'ค่าหวย' เป็น 'เงินออม'
เปิด 2 ทางเลือกเปลี่ยน 'ค่าหวย' เป็น 'เงินออม' เส้นทางสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนกว่ารอ 'ความโชคดี'
"หวย" ความหวังที่ซ่อนอยู่ใน "เลขเด็ด" ที่หวังว่าจะสามารถเปลี่ยนชีวิตจากคนธรรมดาเป็นเศรษฐีได้ในทุกๆ วันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน เสน่ห์ของหวย ที่ทำให้หลายๆ คนถอนตัวไม่ขึ้น คือการได้ลุ้นรางวัลใหญ่ รวยได้แบบพลิกผ่ามือ ด้วยเงินจำนวนน้อย แต่หากมองในระยะยาวเงินค่าหวยเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้หลายคนมีชีวิตในทิศทางตรงข้ามกับสิ่งที่หวังไว้ ที่แทนที่จะ "รวย" กลายเป็น "รวยไม่ได้" สักที เพราะถลำลึกทุ่มรายได้ไปกับการลุ้น
แน่นอนว่า "ดวง" และ "วาสนา" จะทำให้เราเป็นผู้โชคดีเข้าสักวัน แต่ระหว่างที่เรายังไม่ได้เป็นผู้โชคดีคนนั้น ลองแบ่งเงินค่าหวยบางส่วน มาเก็บออมสนุกๆ ควบคู่ไปด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ยังเหลือเงินไว้ต่อยอดชีวิตในมิติอื่นๆ ได้แบบไม่ต้องอาศัยโชคอย่างเดียว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สลาก 'ออมสิน' VS 'ธ.ก.ส.' ช่องทางออมเงินของคนชอบลุ้น
- ลุ้นหวย ซื้อ 'สลากออมสิน' ยังไง ให้มีสิทธิ 'ถูกรางวัล' ทุกเดือน?
- สำรวจ 'รางวัลที่ 1' หวยไทย 999997 แปลกกว่านี้มีอีกไหม?!
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคอหวยมาแบ่งเงินมา "ออม" และ "ลงทุน" เพื่อวางแผนรวยที่ยั่งยืนกว่ารอความโชคดี โดยรวบรวม 2 ทางเลือกที่ทำได้ง่ายๆ ใช้เงินเริ่มต้นเพียงหลักสิบเท่านั้น
ทางเลือกที่ 1: "สลากออมทรัพย์"
"สลากออกทรัพย์" คือการออมเงินรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับคน "ชอบลุ้น" กติกาในการซื้อสลากออมสิน คือ การซื้อ "หน่วยของสลาก" ซึ่งมีหน้าตาเป็นตัวอักษรและตัวเลขต่อท้าย เช่น xx0000001 ซึ่ง 1 หน่วยของสลากออกมทรัพย์คล้ายกับการซื้อลอตเตอรี่ 1 ใบ ถ้าถูกทุกตัวก็จะได้รางวัลใหญ่ แต่ถ้าถูกแค่ 3 ตัวท้าย หรือ 4 ตัวท้าย ก็จะได้รางวัลเล็กลดหลั่นกันลงมา
ราคาหน่วยของสลากออมทรัพย์ แต่ละรุ่น แต่ละธนาคาร แตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ราคาหน่วยละ 20 บาทไปจนถึง 1 ล้านบาท สามารถเลือกได้ตามความพึงพอใจและกำลังทรัพย์ เช่น สลาก A เปิดขายหน่วยละ 100 บาท เรามีเงิน 1,000 บาท จะได้ทั้งหมด 10 หน่วย
โดยส่วนใหญ่สลากออมทรัพย์จะกำหนดเวลาถือครอง 1 ปี 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่รุ่นของสลาก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ถือครอง หน่วยสลากที่เรามีอยู่จะมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลได้ทุกงวด จนกว่าจะครบกำหนด หมายความว่าการซื้อสลากออมทรัพย์ 1 ครั้งมีโอกาสถูกรางวัลมากกว่า 1 ครั้ง ต่างจากการซื้อลอตเตอรี่ที่มีโอกาสถูกรางวัลงวดละ 1 ครั้งเท่านั้น
ถ้าโชคดีถูกรางวัลเราก็จะได้รับเงินรางวัลโอนเข้ามาในบัญชีที่ผูกไว้ ช่วยให้เงินออมของเราโตเร็วขึ้น แต่ถ้าโชคไม่ดี ไม่เคยถูกรางวัลเลย เราจะยังเหลือเงินที่ซื้อสลากไว้ครบทุกบาททุกสตางค์ หากถือครบกำหนด และจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเป็นรางวัลปลอบใจเล็กๆ น้อยอีกด้วย
- ความแตกต่างระหว่าง หวย กับ สลากออมทรัพย์
- ความเสี่ยง: ลอตเตอรี่ มีความเสี่ยงสูงมาก สลากออมทรัพย์ไม่มีความเสี่ยงเลย
- การลุ้น: ลอตเตอรี่ ซื้อ 1 ครั้ง ลุ้นได้ 1 ครั้ง สลากออกทรัพย์ซื้อ 1 ครั้งลุ้นได้หลายครั้ง (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาสลาก) เช่น ซื้อสลากรุ่น 1 ปี จะมีโอกาสลุ้นได้ทุกวันที่ 16 ของเดือนเท่ากับว่ามีโอกาสถูกรางวัล 12 ครั้ง เป็นต้น
- ต้นทุนในการซื้อ: ลอตเตอรี่เริ่มต้นที่ใบละ 80 บาท สลากออมทรัพย์เริ่มต้นที่หน่วยละ 20 บาท
- "สลากออมทรัพย์" ซื้อได้ที่ไหน
สถาบันการเงินที่ขายสลากออมทรัพย์ 3 แห่งได้แก่ ธนาคารออมสิน เริ่มต้นหน่วยละ 20 บาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มต้นหน่วยละ 20 บาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เริ่มต้นหน่วยละ 50,000 บาท
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้จากสถาบันการเงินโดยตรง ซึ่งปัจจุบันสามารถเปิดบัญชี และซื้อขายได้ผ่านแอพพลิเคชั่นของแต่ละธนาคาร ที่สะดวกรวดเร็ว เห็นเงินแบบเรียลไทม์ และโอนเงินเข้าที่บัญชีเมื่อถูกรางวัลภายใน 1 วัน ที่ช่วยให้การเก็บเงินสนุกยิ่งขึ้น
ทางเลือกที่ 2: "กองทุนรวม"
"กองทุนรวมคือ" คือ คือการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะการลงทุนผ่าน "บลจ." หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่จะรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนรายย่อย หรือคนทั่วไป เพื่อไปกระจายลงทุนตามสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้นกู้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นคนบริหารเงินเหล่านั้น ตามนโยบายของกองทุนที่ตกลงไว้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดหวัง
ปัจจุบันการลงทุนในกองทุนรวม สามารถเข้าถึงได้ง่าย เรื่องจากมีบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ที่แทบไม่จำเป็นจำนวนเงินเริ่มต้นในการลงทุน มีค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนที่ตำ่กว่าในอดีต
กองทุนแต่ละกองจะได้ผลตอบแทนแตกต่างกันไปโดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตั้งแต่ 1-12% หรือมากกว่านั้น หรืออาจขาดทุนก็ได้ โดยผลตอบแทนของกองทุนแต่ละกอง จะแตกต่างกันออกไป ตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน สภาวะตลาด ช่วงเวลา และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างที่เรากำลังลงทุน โดผลตอบแทนในอดีตไม่ได้การันตีผลตอบแทนในอนาคต
มาถึงตรงนี้หลายคนรู้สึกว่า กองทุนรวม เป็นการลงทุนที่มีโอกาสขาดทุนและน่ากลัว แต่เมื่อเทียบกับการขาดทุนของ "กองทุน" กับ "หวย" แล้วความเสี่ยงของกองทุนมีแนวโน้มตำ่กว่ามาก เนื่องจากจำนวนเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนมีจะเพิ่มขึ้นและลดลงได้ตลอดเวลาที่ยังถือครอง ต่างจากเงินซื้อหวย ที่ถ้าไม่ถูกรางวัลก็จะอันตรธานหายไปทันที
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมนั้น มีความเสี่ยงผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะยิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจกับการลงทุนในกองทุนรวมได้มากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในการออมและลงทุนมากเท่านั้น ที่สำคัญคือจะทำให้คุณมีทั้งเงินเก็บ และสามารถต่อยอดความรู้ในการลงทุนต่อไปในลักษณะอื่นๆ ได้อีกด้วย
- ความแตกต่างระหว่าง หวย กับ กองทุนรวม
- ความเสี่ยง: ลอตเตอรี่ มีความเสี่ยงสูงมาก เมื่อซื้อแล้วไม่ถูกเงินที่ซื้อจะสูญเปล่าทันที ขณะที่กองทุนมีความเสี่ยงที่หลากหลายตั้งแต่เสี่ยงน้อยไปจนถึงเสี่ยงสูงมาก ขึ้นอยู่กับการเลือกซื้อตามความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ หากกองทุนรวมบริหารแล้วขาดทุนจะมีโอกาสเหลือเงินต้นมากกว่า มีโอกาสสูญเงินทั้งหมดน้อยกว่าหวยมาก และมีโอกาสเติบโตในระยะยาว
- การลุ้น: ลอตเตอรี่มีโอกาสได้ลุ้นเงินรางวัลก้อนโต กองทุนไม่มีการลุ้นรางวัล แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง
- ต้นทุนในการซื้อ: ลอตเตอรี่เริ่มต้นที่ใบละ 80 บาท กองทุนเริ่มต้นที่หน่วยละ 1 บาท (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน)
- "กองทุนรวม" ซื้อได้ที่ไหน
ปัจจุบันสามารถซื้อขายกองทุนได้ ผ่านแอพพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท แบบไม่ต้องเคอะเขิน โดยสามารถแบ่งช่องทางการซื้อขายกองทุนได้เป็น 2 ช่องทางหลัก ได้แก่
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 27 แห่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งเราสามารถติดต่อซื้อขายได้โดยตรงผ่าน บลจ. โดยจะมีแอพพลิเคชั่นในการลงทุนกับแต่ละ บลจ. โดยตรง ไม่สามารถซื้อกองทุนต่าง บลจ. ได้ (ตรวจสอบรายชื่อ บลจ. ได้ที่ รายชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต การจัดการกองทุนรวม (ประเภทบริษัทหลักทรัพย์) ของ กลต.)
- บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) เป็นช่องทางในการซื้อกองทุนรวมจาก บล. หรือ บลจ. หลายๆ แห่งได้ในที่เดียว ปัจจุบันมีผู้จดทะเบียน 11 แห่ง ซึ่งสามารถ (ตรวจสอบรายชื่อ บลน. ได้ที่ รายชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต ประเภท ง (ประเภทบริษัทหลักทรัพย์) ของ ก.ล.ต.)