ชง 5 แผนปฏิรูปพลังงาน เร่งเสรีก๊าซ-ไฟฟ้า รื้อ PDP รับโควิด
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เสนอ ครม.เดือน พ.ย.นี้ ชงปฏิรูปเร่งด่วน 5 แผนพลังงานปี 64-65 ชี้ โควิด-19 กระทบการใช้พลังงาน เร่งเปิดเสรีก๊าซ-ไฟฟ้า ร่างแผนพีดีพีใหม่ สร้างศูนย์ข้อมูลลดการบิดเบือนในสังคม
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเปิดเวทีรับฟังความเห็นแผนการปฏิรูปประเทศช่วงวันที่ 2-3 ก.ย.2563 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะนำความคิดเห็นไปปรับปรุงร่างแผนปฏิรูปให้เสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และใช้เป็นแผนปฏิรูปประเทศช่วงปี 2564-2565
นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ รับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยเป็นการทบทวนที่รวมปัจจัยผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต่อภาคพลังงาน ซึ่งช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ความต้องการใช้พลังงานลดลงทุกชนิด เช่น น้ำมันสำเร็จรูปลดลง 12.6% น้ำมันเตาลดลง 21.2% น้ำมันเครื่องบินลดลง 48.6% แอลพีจีลดลง 11.6% ก๊าซธรรมชาติลดลง 8.6% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 10.1% รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศลดลงถึง 12%
“จะต้องจับตาดูความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หากได้ผลดีจะทำให้เศรษฐกิจไทยทยอยปรับตัวดีขึ้นช่วงปลายปีนี้ และจะเข้าสู่ภาวะปกติในกลางปีหน้า แต่ถ้าวัคซีนไม่ได้ผลจะกระทบเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้”
สำหรับปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงและสะท้อนถึงด้านพลังงานที่ต้องปรับแผนเพื่อให้เข้ากับสภาวะที่เปลี่ยนไป ซึ่งคาดว่าผลกระทบของโควิด-19 จะส่งผลระยะสั้น 2 ปี ทำให้กระทบต่อแผนพีดีพี 2018 ที่ใช้ในกรอบเวลา 15-20 ปี ทำให้กระทบอย่างชัดเจนในช่วงต้นของแผนทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 25-26% แต่ช่วงปลายแผนจะกระทบไม่มากจึงต้องปรับแผนบ้าง โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานจะดูว่าช่วง 5 ปี นับจากนี้ว่าต้องปฏิรูปด้านใด
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เสนอ 5 ประเด็นเร่งด่วนที่เป็น Big Rock หรือประเด็นสำคัญและมีผลกระทบสูงต่อการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของไทย โดยจะเร่งโครงการส่วนใหญ่ให้เป็นรูปธรรมเร็วภายในปี 2565 และโครงการ 5 Big Rock ในการปฏิรูปประเทศต้านพลังงาน ได้แก่
1.การตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้านการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อลดเวลาและขั้นตอนการอนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน สนองเป้หมายยุทธศาสตร์ชาติด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ปลดล็อคข้อจำกัด และขั้นตอนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นการลงทุนด้านพลังงาน
2.การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center: NEIC) เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนหรือการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลด้านพลังงานที่โปร่งใส แม่นยำ เชื่อถือได้ ผ่านการจัดตั้งกลไกกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นระบบและมีรูปแบบสื่อสารที่เข้าใจง่าย เพื่อลดการบิดเบือนข้อมูล
รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญผ่านกลไกผู้บริหารสารสนเทศระดับสูงร่วมกับพลังงานจังหวัด สื่อมวลชน และเครือข่ายสังคมด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลพลังานได้ถูกต้อง ลดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อนโยบายพลังงาน
3.การใช้มาตรการธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ภาครัฐ โดย ESCO เป็นบริษัทจัดการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของเอกชนเพราะช่วยให้ประหยัดการพลังงานและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลควรนำระบบนี้มาใช้เพราะอาคารรัฐมีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าถึง 47,000 ล้านบาทต่อปี หากประหยัดได้ 10% จะเท่ากับประหยัดได้เกือบ 5,000 ล้านบาท
ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายระยะแรก คือ อาคารภาครัฐ 876 อาคาร จะช่วยประหยัดพลังงานภาครัฐคิดมูลค่า 2,600 ล้านบาทต่อปี ลดงบประมาณด้านซ่อมบำรุงและเกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ในอาคารรัฐ ช่วยสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เช่น ระบบเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อต่อยอดสู่บ้านอัจฉริยะและอาคารอัจฉริยะ โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่านโยบายนี้จะสร้างงานใหม่ให้ไทยไม่น้อยกว่า 37,500 ตำแหน่ง ในระยะ 10 ปีข้างหน้า แต่ภาครัฐต้องแก้กฎหมายและกฎระเบียบเพื่อรองรับระบบ ESCO
4.การพัฒนาอุตสาหกรมโตรเคมีระยะที่ 4 เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรปิโตรเลียม ยกระดับขีดความสามาถการแข่งขัน เกิดการจ้างานและสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนพัฒนาปิโตรเคมีมา 3 ระยะ (2524-2561) มีมูลค่าผลผลิตถึง 8-9% ของจีดีพี หรือมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท โดยนำก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาเป็นวัตถุดิบสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด
ทั้งนี้ หากไม่สำรวจก๊าซอ่าวไทยเพิ่มขึ้นก็คาดว่าจะทยอยหมดไปในช่วง 10 ปีนี้ ซึ่งหากไม่ดำเนินการใดๆ อุตสาหกรรมนี้อาจจะต้องหายไป และกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทยทั้งระบบ เพราะปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติกต่างๆเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมทุกประเภท
รวมทั้งหากไม่เร่งพัฒนาต่อยอดความรู้ที่สะสมมากว่า 30 ปี ไปสู่ปิโตรเคมีระยะ 4 ไปสู่การนำวัตนถุดิบชนิดอื่นรวมทั้งผลผลิตภาคการเกษตรมาผลิตปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติกชีวภาพ รวมไปถึงการนำเม็ดพลาสติกต้นน้ำไปผลิตแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
5.ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยปฏิรูปแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พีดีพี 2022 ทั้งในด้านการบริหารและโครงสร้างราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม มีการทดสอบ (Sanbox) แพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อเพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังานไฟฟ้า เตรียมการรองรับการเปลี่ยนระบบการผลิตจากรวมศูนย์สู่กระจายศูนย์ แยกระบบส่งและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากกิจการผลิตไฟฟ้า เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกมากขึ้น
รวมทั้งการผลิตใช้เองและขายเข้าระบบ พร้อมปฏิรูปการบริหารจัดการของ 3 การไฟฟ้าให้ประสาเชื่อมโยงแผนลงทุน และแผนปฏิบัติการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนการปฏิรูปด้านก๊าชธรรมชาติจะต้องจัดหาให้มีความต่อเนื่องไม่เกิดการหยุดชะงักทั้งแหล่งอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศเพื่อหาแหล่งก๊ซรรมชาติเพิ่มเติม นอกจากนี้จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่เกี่ยวข้องให้ประเทศมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและกระจายตัวให้ประชาชนข้าถึได้มากที่สุด รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดก๊ซรรมชาติสร้างโอกาสให้ประเทศเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ของภูมิภาค
“คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะนำความเห็นไปปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (ฉบับ Big Rock) ให้สมบูรณ์ ก่อนเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและ ครม.เดือนพ.ย.นี้ และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศบังคับใช้ต่อไป”