‘เขย่า’ค่าฟีธุรกิจโบรกเกอร์ สะท้อนดีกรีการแข่งขันเพิ่มขึ้น
เอ่ยถึงตลาดทุน มักจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวมากมาย ด้วยเป็นแหล่งที่มีเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องสูงหมุนเวียนในตลาดทุนหลักแสนล้านบาทต่อวัน มีภาคธุรกิจ เอกชนและภาครัฐ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และกลายเป็นที่มาข้อความข้างต้น
เฉพาะแค่ธุรกิจโบรกเกอร์ที่ขึ้นชื่อว่าว่ารวม เสือ สิงห์ กระทิง แรด วงการหนึ่งเพราะเป็นธุรกิจอยู่ในตลาดหุ้นโดยตรง มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมายทั้ง นายหน้าซื้อขายการลงทุน (หุ้น-อนุพันธ์-กองทุน และตราสารหนี้) ที่ปรึกษาทางการเงิน การบริหารเงินกองทุน จนทำให้เกี่ยวพันธ์กับฐานลูกค้าตั้งแต่มนุษย์เงินเดือน เจ้าของธุรกิจ จนไปถึงมหาเศรษฐี
ที่ผ่านมาธุรกิจโบรกเกอร์เผชิญการเปลี่ยนแปลงมากมายนับไปถ้วน นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง จนมาถึงเทคโนโลยีดีสปรับชั่น หากแต่สิ่งที่น่าแปลกใจว่านั้นคือ ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันจำนวนบริษัทโบรกเกอร์ที่อยู่กลับไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
ปัจจุบันมีโบรกเกอร์ 39 บริษัท ท่ามกลางจำนวนบัญชีผู้ลงทุน ณ สิ้นเดือน ก.ค .2563 ที่ 2 ล้านราย มีจำนวนบัญชี 3.2 ล้านบัญชี แต่มีบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวซื้อขายสม่ำเสมอ 4-5 แสนบัญชี และยังเป็นอัตราที่ทรงตัวมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ธุรกิจโบรกเกอร์ยังอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดมาตลอด
ยิ่งการปรับโครงสร้างค่าคอมมิชชั่น หรือ ค่านายหน้าซื้อขาย ถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักปรับลดลงตลอดจาก ขั้นต่ำ 0.5 % มาเป็น 0.25 % จากนั้นปรับเป็นขั้นบันได และสุดท้ายเปิดเสรีค่าคอมฯ จนมีโบรกเกอร์บางรายเปิดศึกราคาใช้โปรโมชั่นแรงลงไปเล่นที่ระดับ 0 % จนสมาคมโบรกเกอร์ต้องออกมาเบรกภาวะดังกล่าวภายใต้การใช้อัตราค่าคอมฯ แนะนำในปัจจุบัน
ขณะที่ในความเป็นจริงแม้เทคโนโลยีเข้ามาลดต้นทุนให้ฝั่งกับนักลงทุน แต่ในส่วนของผู้ประกอบการโบรกเกอร์ที่ต้องรักษาคุณภาพ ไม่มีการลงไปแข่งขันค่าคอมฯ ต้องลงทุนด้านบุคคลากรและเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ใช้ได้ง่าย กลับมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านอื่น จนมีผลต่อผลการดำเนินงาน จึงเป็นที่มาของการขอ ‘เขย่า ‘ให้ทบทวนค่าธรรมเนียมของตลาดหลักทรัพย์ และ สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้สอดคล้องกับค่าคอมฯที่ลดลง
เมื่อมาดูค่าธรรมเนียมที่ที่ถูกเรียกเก็บที่ผ่านมา แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมของตลาดหลักทรัพย์ (Trading Fee ) อัตรา 0.005 % หรือล้านละ 50 บาท ของมูลค่าซื้อขาย ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล (Regulatory Fee) อัตรา 0.001 % หรือล้านบาท 10 บาท ของมูลค่าซื้อขาย ค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing Fee) อัตรา 0.001 % หรือล้านบาท 10 บาท ของมูลค่าซื้อขาย เช่นกัน รวมแล้วต้นทุนในส่วนนี้จะอยู่ที่ 0.007 %
ดังนั้นเมื่อรวมกับค่าคอมฯ ทั้งผ่านมาร์เก็ตติ้งและอินเตอร์เน็ต ในฐานอัตราแนะนำแล้ว มูลค่าการซื้อขายน้อยกว่า 5 ล้านบาท อยู่ที่ 0.207-0.257 % มูลค่าซื้อขายเกิน 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่ที่ 0.187-0.227 % มูลค่าซื้อขายเกิน 10 ล้านบาท ไม่เกิน 20 ล้านบาท อยู่ที่ 0.157-0.187 % และมูลค่าซื้อขายเกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 0.127-0.157 % ซึ่งอัตราดังกล่าวยังไม่รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7 %
อัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บอัตราที่สัดส่วนน้อยแต่เมื่อคิดจากจำนวนโบรกเกอร์ และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 5 หมื่นล้านบาท กลับเป็นเม็ดเงินมหาศาล เฉพาะของ ตลท.ปี 2562 รายงาน มีรายได้รวม7,286ล้านบาท เพิ่มขึ้น10.75%จากปีก่อนหน้า มาจากค่าธรรมเนียมไม่น้อย
สินค้าเป็นหุ้นรายได้ทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ 1,298 ล้านบาท , งานชําระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ 368 ล้านบาท, ค่าธรรมเนียมหลักทรัพย์จดทะเบียน 723 ล้านบาท , งานรับฝากหลักทรัพย์ 347 ล้านบาท, ค่าธรรมเนียมสมาชิก 32 ล้านบาท สินค้าอนุพันธ์ รายได้รวม 806ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ 541 ล้านบาท , งานชําระราคา 233 ล้านบาท , ค่าธรรมเนียมสมาชิก 32 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อนำค่าคอมฯ ดังกล่าวมาทำเป็นกรณีตัวอย่าง จากมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาท ค่าคอมฯ ที่ลูกค้าจะจ่ายโบรกเกอร์อยู่ที่ 1,000 บาท ซึ่งเงินดังกล่าวหากนำมาคิดเป็นอันตราส่วน 100 % แบ่งเป็น โบรกเกอร์ มีส่วน 65 % ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 28 % และ VAT 7 %
หากเป็นไปตามสัดส่วนดังกล่าวคถือว่าไม่น่ามีปัญหา แต่ในส่วนของโบรกเกอร์จะมีการแบ่งให้กับทีมมาร์เก็ตติ้งที่ดูแลลูกค้ารายนั้นแล้วแต่จะตกลงกันที่สัดส่วนเท่าไร อาจจะสูงได้ถึง 30 % ไปจนถึง 50 %
ดังนั้นหากกรณีโบรกเกอร์รายดังกล่าวมีการจัดโปรโมชั่นค่าคอมฯ ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ทั้งลดราคา หรือใช้ราคาเดียวตามวอลลุ่ม เรียกว่า ‘บุฟเฟ่ต์’ เพื่อจูงใจลูกค้า ทำให้สัดส่วนรายได้ในส่วนนี้ของโบรกเกอร์จะลดทอนลงไปอีก จนเป็นที่มาที่ไปอีกสาเหตุที่ทำธุรกิจโบรกเกอร์ต้องออกมาขอปรับต้นทุนรอบนี้