ช้อปช่วยชาติ! ยาวิเศษ พยุงเศรษฐกิจและการจ้างงาน?
ยาวิเศษพยุง "เศรษฐกิจไทย" หลังวิกฤติโควิด-19 ที่มีการประเมินว่าครึ่งปีหลังหดตัวลึกถึง 13.1% หนึ่งในแนวคิดของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคือมาตรการช้อปช่วยชาติมากระตุ้นการจับจ่าย รวมถึงมาตรการของ ศบศ.ทหนุนการใช้จ่ายประชาชนลักษณะชิมช้อปใช้ที่คาดเริ่ม ต.ค.นี้
การปรับ GDP ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ให้ตัวเลขปีนี้ “หดตัว” มากขึ้นเป็น 10% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะหดตัวเพียง 6.9% หมายความว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจกำลังประเมินว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังหดตัวลึกถึง 13.1% เป็นตัวเลขที่หนักกว่าช่วงไตรมาส 2 ซึ่งหดตัว 12.2% ตามที่สำนักงานสภาพัฒน์แถลงเมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่หดตัวด้วยตัวเลข 2 หลัก สะท้อนถึงแผลเป็น! ของเศรษฐกิจไทย ที่มี 2 ตัวเลขสำคัญต้องติดตาม คือ 1.อัตราการว่างงาน และ 2.จำนวนของธุรกิจที่ปิดกิจการ
ดังนั้น แนวคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด การพัฒนาระยะสั้นของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงเริ่มต้นที่ 2 นโยบายหลัก “การจ้างงาน การสร้างงาน และเอสเอ็มอีให้อยู่รอด”
- ลำพังการจ้างงาน แต่ไม่มีดีมานด์ ก็ยืนไม่ยาว
แม้ว่าจะมีนโยบายอุดหนุนการจ้างงาน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้นายจ้างเปิดตำแหน่งงานเพื่อจ้างพนักงานใหม่ โดยรัฐสนับสนุนผ่านการชดเชยเงินเดือนบางส่วน เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ผู้ประกอบการสามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า สมาคมฯ เชื่อว่า จะสามารถพยุงการจ้างงานเดิมได้ แต่ถ้าไม่มีดีมานด์ ไม่มีคนมาจับจ่ายช้อปปิ้ง การจ้างงานก็คงยืนไม่ยาว แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็ตาม ดังนั้น แนวคิดการกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศเพื่อหล่อเลี้ยงให้การจ้างงานยืนยาวผ่านวิกฤติโควิดให้รอด นับตั้งแต่..
- กระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการ ”ช้อปช่วยชาติ”
“ช้อปช่วยชาติ” เป็นมาตรการทางภาษีที่บุคคลสามารถนำการใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีของรอบภาษีปีนั้นๆ ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในปี 2558 และ ปี 2559 มีผู้เข้าโครงการใช้จ่ายถึงกว่า 1.5 ล้านคน สำหรับปีนี้ หากกำหนดให้จับจ่ายสินค้าได้ทุกประเภทโดยมีวงเงิน 50,000 บาท ในระยะเวลาอย่างน้อย 60 วัน คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 75,000 ล้านบาท
- ทำไมต้องเป็นโครงการ “ช้อปช่วยชาติ”
“ช้อปช่วยชาติ” หนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึงมาก! ซึ่งรัฐบาลเคยนำมาใช้กระตุ้นการบริโภคและสัมฤทธิผล สามารถเพิ่มเม็ดเงินลงไปในระบบได้จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด ซึ่งนอกจากไม่ต้องใช้เม็ดเงินโดยตรงจากรัฐบาล เพราะขณะนี้เม็ดเงินที่เหลือมีจำกัด จากที่อยู่ในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2563 แล้วภาคเอกชนเองได้เรียกร้องมาตรการดังกล่าวจากรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง
“อย่าไปประหยัดเลย ถ้ามีเยอะให้เขาใช้ลดหย่อนภาษีได้เยอะไปเลย เดิมเคยให้ลดหย่อน 15,000 บาท จำกัดประเภทสินค้าที่ซื้อ ผมว่าคราวนี้โดนผลกระทบทั้งประเทศ อาจจะให้ลดหย่อนถึง 50,000 บาท หรือถ้ากล้ากว่านั้นก็ให้เยอะกว่านั้นก็ได้ เชื่อว่าเงินที่เก็บๆ อยู่จะออกมาหมุนในระบบ ซึ่งถือเป็นการเอาคนที่มีกำลังมาช่วยคนที่ไม่มีกำลัง ซึ่งเป็นแนวทางที่เรากำลังคุยกันอยู่”
- ช้อปช่วยชาติ+ชิมช้อปใช้ สะพัด 1.3 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยรัฐจะให้เงินสนับสนุนการใช้จ่ายคนละไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคนเพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้า ซึ่งจะต้องมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ในโครงการลักษณะเดียวกับชิมช้อปใช้ คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มภายในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าภาครัฐต้องใช้เงินราว 45,000 ล้านบาท บวกกับ ข้อเสนอของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โครงการช้อปช่วยชาติ จะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบราว 75,000 ล้านบาท รวม 2 โครงการจะมีเม็ดเงินไหลเข้าระบบ 130,000 ล้านบาท ภายใน 2-3 เดือน
ซึ่งเม็ดเงิน 75,000 ล้านบาทที่ไหลเข้าระบบเป็นเงินของคนที่มีกำลังซื้อ รัฐชดเชยภาษีคืนเฉลี่ยในอัตรา 15% หรือเพียง 11,250 ล้านบาท ซึ่งก็ยังทยอยจ่ายปีหน้าอีกด้วย
“ช้อปช่วยชาติ” จึงน่าจะเป็น “ยาวิเศษ” ที่ภาครัฐควรรับพิจารณา