MICROเหยียบคันเร่ง ขึ้นแท่นผู้นำ 'รถบรรทุกมือ2'
หวังนำเงินระดมทุนติดเครื่องธุรกิจโต 'เท่าตัว' จุดเด่นน้องใหม่ไอพีโอ 'ไมโครลิสซิ่ง' เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 1 ต.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 2.65 บาท 'วินิตย์ ปิยะเมธาง' มือปืนรับจ้าง ส่งซิกพร้อมขยายพอร์ตสินเชื่อรถบรรทุกมือสองพุ่ง !
'ฮอตฮิต' ตั้งแต่ยังไม่ขายหุ้นไอพีโอ !
สำหรับ บมจ. ไมโครลิสซิ่ง หรือ MICRO ผู้ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง เช่น รถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ และ 12 ล้อ เป็นต้น ที่สร้างเซอร์ไพรส์ตั้งแต่ยังไม่เคาะราคาไอพีโอ ! หลังความต้องการของนักลงทุนรายใหญ่-รายย่อย สะท้อนผ่านนักลงทุนแสดงความสนใจขอจองซื้อหุ้นหลักร้อยล้านหุ้น !
'เราขายหุ้นไอพีโอจำนวน 235 ล้านหุ้น แล้วนักลงทุนรายเดียวต้องการหุ้นเป็นร้อยล้านหุ้น เราจะไปนำหุ้นที่ไหนมาให้ !'
โดยเตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 235 ล้านหุ้น ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ในราคาหุ้นละ 2.65 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท คิดเป็นเงินระดมทุนจำนวน 620 ล้านบาท บริษัทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 460 ล้านบาท ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 150 ล้านบาท และลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวน 10 ล้านบาท
บมจ.ไมโครลิสซิ่ง หรือ MICRO ก่อตั้งในปี 2537 ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเช่า ซื้อรถบรรทุกมือสอง ด้วยประสบการณ์และความชำนาญในการดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 25 ปี โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีความประสงค์จะเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองสำหรับใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น ให้บริการรับจ้างขนส่งสินค้า หรือใช้สำหรับงานขนส่งสินค้าภายในกิจการ และให้บริการสินเชื่อรูปแบบอื่นๆ เช่น สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถบรรทุกแบบโอนเล่มเป็นหลักประกัน และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ (Refinance)
ณ ปัจจุบัน MICRO แบ่งประเภทสินเชื่อให้บริการออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 95% สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อรถบรรทุกมือสองเพื่อประกอบธุรกิจ 2.สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง คิดเป็นสัดส่วน 5% หรือสินเชื่อแบบมีรถบรรทุกเป็นหลักประกัน จัดทำภายใต้สัญญาเช่าซื้อ สำหรับลูกค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน และ 3.สินเชื่อรีไฟแนนซ์ คิดเป็นสัดส่วน 1% สำหรับลูกค้าปัจจุบันที่มีประวัติการผ่อนชำระที่ดี
'วินิตย์ ปิยะเมธาง' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไมโครลิสซิ่ง หรือ MICRO เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า มานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (MD) ได้ราว 2 ปี เมื่อมานั่งตรงนี้เห็นชัดๆ ว่าธุรกิจยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก ซึ่งภารกิจแรกที่ต้องทำ นั่นคือ การผลักดันบริษัทเข้ามานำระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน หากต้องการต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตในอนาคต ซึ่งแผนการระดมทุนคือ 'ธงผืนใหญ่' เขาบอกเช่นนั้น !!
การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นยอมรับว่า ต้องการแก้ไขปัญหา 'ข้อจำกัด' การเติบโตของธุรกิจโดยบริษัทต้องมีแหล่งเงินลงทุนต้นทุนต่ำเพื่อไปขยายพอร์ตธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น สะท้อนผ่าน เงินระดมทุนเสนอขาย IPO จะนำไปใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ชำระคืนเงินกู้ยืม และกู้ยืมใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง (Refinance)
เมื่อเป้าหมายสำคัญต้องการขึ้น 'เป็นผู้นำในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองของประเทศไทย' บ่งชี้ผ่านมูลค่าตลาดรถบรรทุกมือสองอยู่ที่ '2หมื่นล้านบาท' โดยภาพรวมตลาดเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทมี 'ส่วนแบ่งทางการตลาด' (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 5.5% ขณะที่ 2 รายใหญ่ในตลาดรถบรรทุกมือสองมีมาร์เก็ตแชร์รวมกันอยู่ที่ราว 20% ดังนั้น ยังมีความต้องการ (ดีมานด์) ในตลาดให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อีกมาก
'ความต้องการรถบรรทุกมือสองเทียบกับความต้องการรถบรรทุกมือหนึ่งอยู่ที่ 51:49 นั้นแปลว่าคนมีความนิยมในการซื้อรถบรรทุกมือสองมากขึ้นจากเดิม สะท้อนผ่านจากปีก่อนความนิยมมือหนึ่งยังสูงกว่ามือสอง'
'กรรมการผู้จัดการ' แจกแจงแผนธุรกิจให้ฟังต่อว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้า (2564-2565) บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ต่อปี และ พอร์ตสินเชื่อคงค้างจะแตะ 5,000 ล้านบาท จากไตรมาส 2 ปี 2563 มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2,141 ล้านบาท และ จะควบคุมหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ให้เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7% แต่หากรวมรถยึดจะอยู่ที่ 2.9%
'ปีนี้วางเป้าไว้ว่ามูลค่าพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 2,400-2,500 ล้านบาท ส่วนปีหน้า 4,000 ล้านบาท เพราะว่าเราจะปล่อยสินเชื่อเท่าตัวประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ปล่อย 1,200 ล้านบาท และในปี 2565 ปล่อยสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท มูลค่าพอร์ตสินเชื่อคงค้างจะไปแตะ 5,000 ล้านบาท เท่ากับว่า 2 ปีข้างหน้า (2564-2565) มูลค่าพอร์ตสินเชื่อจะเติบโตเท่าตัว !'
นอกจากนั้น บริษัทมีแผนจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2564-2565 คาดจะมี 16 สาขา และ 20 สาขา จากปี 2563 มี 12 สาขา มุ่งเน้นในจังหวัดที่มีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสูง หรือในพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการเต็นท์รถบรรทุกมือสองจำนวนมาก โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนในการขยายสาขาเฉลี่ยสาขาละ 4 ล้านบาท จากเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อรองรับเป้าหมายในการขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อให้เติบโต
สำหรับ 'กลุ่มลูกค้า' ของบริษัทที่มีการปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง แบ่งเป็น 'อุตสาหกรรมอุปโภค-บริโภค' คิดเป็นสัดส่วน 60% 'อุตสาหกรรมเกษตร' คิดเป็น 17% 'อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง' คิดเป็น 20% และอุตสาหกรรมอื่นๆ คิดเป็น 3% ซึ่งเรามีการกระจายพอร์ตสินเชื่อไม่ได้ปล่อยให้กับอุตสาหกรรมเดียว ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงของบริษัทด้วย สะท้อนผ่านวิกฤติโควิด-19 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะว่าบริษัทมีการกระจายกลุ่มลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่าง วัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบ แต่อุตสาหกรรมที่เติบโตได้จะเป็นขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค เพราะว่าคนต้องคนต้องกินต้องใช้
'ฉะนั้น จะเห็นว่าวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้เข้ามากระทบในทุกอุตสาหกรรม เพราะว่าเรามีการกระจายพอร์ตสินเชื่อในหลากหลายอุตสาหกรรมมาก และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยมากคือกลุ่มลูกค้าที่ขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค'
อย่างไรก็ตาม แผนธุรกิจในอนาคตในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมและการขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านการเพิ่มจำนวนคู่ค้าผู้ประกอบเต็นท์รถบรรทุกมือสองที่มีศักยภาพ เช่น มีปริมาณรถบรรทุกหมุนเวียนสูง และจำหน่ายรถบรรทุกที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการเพิ่มจำนวนพนักงาน และการเพิ่มจำนวนสาขาในภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองของบริษัทครอบคลุมทุกพื้นที่และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ โดยบริษัทมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มเติมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางฝั่งตะวันตก และภาคกลางฝั่งตะวันออก
ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นการแข่งขันเชิงรุกเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ (Local Entrepreneurs) นอกจากนี้ บริษัทจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ โดยในปัจจุบันบริษัทได้เริ่มพัฒนาระบบการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อผ่านทาง Mobile Application ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถรองรับการขยายธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติมได้ในอนาคตโดยบริษัทมีนโยบายให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อโดยเน้นการอนุมัติที่รวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจของลูกค้า
โดยในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ บริษัทให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบและรัดกุมโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านคุณภาพหลักประกันและคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ โดยบริษัทได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบและคัดกรองลูกค้าสินเชื่อ ในลักษณะเดียวกับผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรายใหญ่อื่นๆ ของประเทศ เช่น การตรวจสอบประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโร (NCB) และการใช้ระบบ Credit Scoring ในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้า โดยลูกค้าที่สามารถขอสินเชื่อจากบริษัทจะต้องมีคะแนนเครดิตผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทกำหนด
โดยบริษัทจะสามารถแจ้งผลการอนุมัติให้แก่ลูกค้าได้ภายใน 3-5 วัน หลังได้รับเอกสารประกอบการขอสินเชื่อครบถ้วนในด้านการประเมินคุณภาพหลักประกัน บริษัทมีการจัดทำฐานข้อมูลราคากลางของรถบรรทุก หรือ Rate Book สำหรับใช้เป็นฐานอ้างอิงราคาประเมินรถบรรทุกที่จะให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งฝ่ายประเมินหลักประกันของบริษัทจะทำการสำรวจราคารถบรรทุกแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อจากแหล่งข้อมูลภายนอกที่น่าเชื่อถือ
สำหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560–2562) มีอัตราการเติบโตของรายได้รวมเฉลี่ย (CAGR) 24.4% ต่อปี และในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 202.5 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 37.10 % ด้านกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) สูงถึง 30.6% ต่อปี ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 62.5 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 52.1% โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ดอกเบี้ยเช่าซื้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 30.8% และสิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 330.2 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 110.8 ล้านบาท
ท้ายสุด 'วินิตย์' ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ธุรกิจของเรายังเติบโต โดยลูกหนี้เช่าซื้อบางส่วนได้รับผลกระทบ แต่บริษัทก็มีมาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งสามารถบริหารจัดการ ติดตามและยึดคืนหลักประกันจากลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระได้โดยเร็ว พร้อมกับการคุม NPL ในระดับต่ำไม่ถึง 3% สะท้อนธุรกิจรถบรรทุกเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง