สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลตามประกาศใหม่ธปท. ...ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้กับคนไทย

สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลตามประกาศใหม่ธปท.  ...ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้กับคนไทย

สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลภายใต้ประกาศล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยสะท้อนถึงวัตถุประสงค์ที่ดีสองประการ

คือ 1) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ และกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อส่วนบุคคลมาก่อน และ 2) ลดต้นทุนสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้บริโภคลง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่อาจจะก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้ประกอบการ อาทิ การพิสูจน์ความสมเหตุสมผลในการใช้ข้อมูลทางเลือก ความท้าทายในการหาลูกค้าใหม่ภายใต้ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายในการรักษาลูกค้าและการเติบโตของยอดคงค้างจากการให้สินเชื่อในระยะสั้น และมีวงเงินขนาดเล็ก เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2563 นี้ ผู้ประกอบการน่าจะอยู่ในช่วงเรียนรู้และวางแผนปรับตัวการดำเนินงานให้เข้ากับเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงน่าจะมีโอกาสมองเห็นธุรกิจการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลตามประกาศใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างชัดเจนขึ้นในปีหน้า ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลตามประกาศใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2564 อาจจะยังมีมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก โดยผู้ประกอบการน่าจะอยู่ในช่วงทดลองตลาดด้วยการให้สินเชื่อต่อรายในวงเงินที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และจำเป็นต้องใช้เวลาในระยะหนึ่งเพื่อการทดลองความเหมาะสมของรูปแบบหรือวิธีการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มใหม่

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ที่ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) เพื่อประเมินถึงความสามารถหรือความเต็มใจที่จะชำระหนี้ของลูกค้า อีกทั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลยังจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการให้บริการสินเชื่อ ตั้งแต่การประเมินความสามารถหรือความเต็มใจที่จะชำระหนี้ การเบิกจ่ายและการชำระคืนสินเชื่อ และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ อาทิ อัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมและบริการต่างๆ เป็นต้น

แน่นอนว่า การใช้ข้อมูลทางเลือกในการประเมินความสามารถหรือความเต็มใจที่จะจ่ายหนี้ เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลทางเลือกดังกล่าวจะต้องอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และมีความสมเหตุสมผลในการนำไปใช้เพื่อประเมินความสามารถหรือความเต็มใจที่จะจ่ายหนี้ เช่น ข้อมูลการชำระค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือาจเป็นข้อมูลพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ของผู้บริโภค เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลักเกณฑ์การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลภายใต้ประกาศล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายละเอียดข้างต้น จะสะท้อนถึงภาพรวมตลาดสินเชื่อดิจิทัลในไทยอยู่ 2 ประการหลัก ดังนี้

  • ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลน่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ[1] รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อส่วนบุคคลมาก่อน เนื่องจากอาจมีข้อจำกัดทางด้านการพิสูจน์รายได้ นั่นเป็นเพราะการทลายข้อจำกัดในการใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลทางด้านรายได้ของลูกค้าเพียงอย่างเดียว นับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อทำการตลาดสินเชื่อดิจิทัล หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ในระยะถัดไป

  • อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลภายใต้ประกาศล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ช่วยให้ต้นทุนของลูกค้าต่ำลง เมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลในปัจจุบันที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึงร้อยละ 36 ต่อปี เนื่องจากผู้ประกอบการในหลายรายจะใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ ในการปล่อยสินเชื่อ หรือเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนอกระบบที่อาจมีอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าร้อยละ 50 ต่อปี ซึ่งน่าจะทำให้กลุ่มลูกหนี้นอกระบบสามารถเข้ามาใช้บริการสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้ประกอบการเดิมบางรายในตลาดที่ใช้ข้อมูลทางเลือกอยู่แล้ว เช่น ข้อมูลภาพถ่ายหรือข้อมูลการโพสข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประเมินถึงไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนถึงทัศนคติที่ดีในการชำระหนี้ เป็นต้น ก็จะสามารถเพิ่มการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลอีกประเภทหนึ่งในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงื่อนไขในหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลภายใต้ประกาศล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยบางประการ น่าจะหนุนให้ผู้ประกอบการตื่นตัวและวางแผนธุรกิจให้เข้าเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความท้าทายให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลในระยะข้างหน้า ซึ่งมีข้อสังเกตอยู่ 3 ประการหลัก ดังนี้

  • ในทางปฏิบัติ ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจำเป็นต้องพิสูจน์ความสมเหตุสมผลในการใช้ข้อมูลทางเลือก เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความสามารถหรือความเต็มใจที่จะชำระหนี้ของลูกค้า นับว่าเป็นความท้าทายของผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่อาจยังไม่คุ้นเคยถึงการใช้ข้อมูลทางเลือกที่นอกเหนือจากรายได้ในการพิจารณาถึงความสามารถหรือความเต็มใจที่จะชำระหนี้ของลูกค้า ส่งผลให้ผู้ให้บริการอาจจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการทดลองหรือพิสูจน์ความเหมาะสมหรือความสมเหตุสมผลของการใช้ข้อมูลทางเลือก ขณะเดียวกัน หากผู้ให้บริการทำการพิสูจน์ความสมเหตุสมผลด้านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าไม่ชัดเจน ก็ควรต้องพิสูจน์ความสมเหตุสมผลด้านความเต็มใจที่จะชำระหนี้ของลูกค้าในระดับที่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่จะได้รับ
  • ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจำเป็นต้องหากลุ่มลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดสินเชื่อดิจิทัลที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากมีข้อกำหนดว่า เมื่อผู้ประกอบการทำการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลครบ 1 ปี จำเป็นต้องมีสัดส่วนการให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ลูกค้ารายใหม่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งลูกค้ารายใหม่นั้นจะต้องไม่เคยเป็นลูกค้าของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจมาก่อน หรือเคยเป็นลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจ แต่ไม่มียอดหนี้คงค้างภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันที่ยื่นขอสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล นับว่าเป็นความท้าทายภายใต้ภาวะปัจจุบันที่ลูกค้ามีความเสี่ยงทางด้านเครดิตสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
  • ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำลง เมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่วงเงินกู้ยืมมีขนาดเล็ก และมีระยะเวลาในการกู้ยืมสั้น ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของขนาดพอร์ตสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า กลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลน่าจะได้รับความสะดวกและเกิดความคุ้นชินในการใช้บริการ เนื่องจากบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีความสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งน่าจะส่งผลให้มีการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลน่าจะเป็นสินเชื่อทางเลือกที่สามารถสามารถสร้างสภาพคล่องให้แก่ผู้บริโภคได้ในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่น่าจะเข้าเงื่อนไขในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลภายใต้ประกาศล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการบางรายที่มีความพร้อม ขณะที่ผู้เล่นหลักยังน่าจะอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อดิจิทัลที่อยู่ในตลาดรายเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการวางแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนการเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มที่

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2563 นี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในช่วงเรียนรู้และวางแผนปรับตัวการดำเนินงานให้เข้ากับเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการวางแผนคัดกรองลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ และการจัดวางระบบการให้บริการ จึงน่าจะมีโอกาสมองเห็นธุรกิจการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลตามประกาศใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างชัดเจนขึ้นในปีหน้า ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เนื่องด้วยธรรมชาติของสินเชื่อดิจิทัลที่มีระยะเวลากู้ยืมสั้นและมีวงเงินขนาดเล็ก อีกทั้ง ยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกที่โมเดลธุรกิจต่างๆ ยังต้องรอการพิสูจน์ความเป็นไปได้ที่เหมาะสม ดังนั้น การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลตามประกาศใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2564 อาจจะยังมีมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในช่วงทดลองตลาดและจำเป็นต้องใช้เวลาในระยะหนึ่งเพื่อการทดลองความเหมาะสมของรูปแบบหรือวิธีการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าในกลุ่มใหม่นี้ ในขณะที่ คาดว่า วงเงินที่จะปล่อยภายใต้กรอบประกาศใหม่การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะมีมูลค่าต่อรายไม่มากนัก โดยสินเชื่อที่ออกมาใหม่นี้ คงเน้นการขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ลูกค้าในระดับล่างมากขึ้น ไปกว่าที่จะทดแทนสินเชื่อดิจิทัลเดิมในปัจจุบัน