เปลี่ยนเพื่อรอด! “แอร์เอเชีย” ทรานส์ฟอร์มสู่ "ทราเวล เทค คอมพานี"
“กลุ่มแอร์เอเชีย” ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ “ทราเวล เทค คอมพานี” เปิดตัว “แอร์เอเชีย ดิจิทัล” รุกกระจายความหลากหลายของรายได้ฝ่ายุคโควิด-19 ลุยเขย่าตลาดแพลตฟอร์ม “ท่องเที่ยว-อีคอมเมิร์ซ-การเงิน-อาหาร” ในภูมิภาคอาเซียน
นายโทนี่ เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า กลุ่มแอร์เอเชียได้เปิดตัว “แอร์เอเชีย ดิจิทัล” ตามแผนการทรานส์ฟอร์มองค์กร เพื่อกระจายความหลากหลายของที่มารายได้ ไม่ยึดติดเฉพาะรายได้จากสายการบินเท่านั้น สอดรับกับสถานการณ์แข่งขันของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป
“เราตั้งเป้าเป็นทราเวลเทคคอมพานีภายในภูมิภาค ด้วยการอาศัยจุดแข็งด้านสินทรัพย์และความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าของแอร์เอเชีย”
หลังจากกลุ่มแอร์เอเชียประกอบธุรกิจสายการบินมาเกือบ 20 ปีจนสามารถสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งติดอันดับโลก และขยายธุรกิจจนเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนผู้โดยสารหมุนเวียนนับตั้งแต่เปิดให้บริการมามากกว่า 600 ล้านคน ด้วยจำนวนสายการบินในเครือรวม 8 สายทั้งมุ่งให้บริการเที่ยวบินระยะใกล้และระยะไกลใน 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และญี่ปุ่น โดยมีฝูงบินรวมกว่า 246 ลำในปัจจุบัน ทำการบินสู่ 160 จุดหมายปลายทาง และมีฐานปฏิบัติการบินกว่า 24 ฮับบิน
“การเปิดตัวแอร์เอเชียดิจิทัลไม่ใช่แผนสำรองหรือPlan-Bแต่เป็นPlan-Aของกลุ่มแอร์เอเชียตั้งแต่แรกก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ด้วยซ้ำ เพื่อมุ่งสร้างความหลากหลายของรายได้ธุรกิจ โดยโควิด-19 เป็นเหมือนตัวกระตุ้น ทีมงานและผู้บริหารต่างเฟ้นไอเดียอย่างหนักในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเพื่อเร่งผลักดันให้เกิดแอร์เอเชียดิจิทัลเร็วขึ้น”
สำหรับแอร์เอเชีย ดิจิทัล ประกอบด้วย 3 เสาหลัก เสาที่ 1 คือVenture Builderเปรียบเสมือนแหล่งฟักตัวและสร้างการเติบโตในเชิงกลยุทธ์ โดยแบ่งออกเป็นเรื่องของแพลตฟอร์ม ผ่านairasia.comตั้งเป้าสู่การเป็นASEAN Travel & Lifestyle Super Appอาทิ การพัฒนาฟีเจอร์SNAPจองตั๋วเครื่องบินพ่วงโรงแรม และการเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ ให้ลูกค้าได้เลือกสั่งซื้อบนแพลตฟอร์มดังกล่าวด้วย เพื่อดึงคนเข้ามาใช้งานในทุกวัน
พร้อมขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ อาศัยจุดแข็งเรื่องการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) ของกลุ่มแอร์เอเชีย การันตีจัดส่งสินค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนในเวลา 24 ชั่วโมงด้วยบริการเทเลพอร์ต (Teleport)รองรับการเติบโตของตลาดดิลิเวอรี่
นอกจากนี้ ยังรุกให้บริการด้านการเงิน (Financial Services)ได้แก่ บริการบิ๊กเพย์(BigPay)ฝันเป็นThe ASEAN Digital Bankโดยโจทย์การพัฒนาคุณค่าของบิ๊กเพย์มีทั้งมิติของขนาด (Scale), เทคโนโลยี, ระบบKYC(Know-Your Customer), ข้อมูล และไลเซนส์เทียบชั้นมาตรฐานของธนาคารชั้นนำ ควบคู่ไปกับการยกระดับลอยัลตี้โปรแกรมอย่างบิ๊กรีวอร์ดส (Big Rewards)ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมสะสมคะแนนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียน สามารถมอบดีลน่าสนใจและตื่นเต้นแก่ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
อีกบริการคือด้านอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์Santanของกลุ่มแอร์เอเชีย จะอาศัยจุดเด่นเรื่องบริการอาหารบนเครื่องบินมาต่อยอดเป็นคอนเซ็ปต์ “อาเซียน ฟาสต์-ฟู้ด” และจะพัฒนาเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารสำหรับนั่งทานที่ร้านและดิลิเวอรี่ ให้โด่งดังเหมือนแบรนด์ร้านอาหารระดับโลกอย่างแมคโดนัลด์ เคเอฟซี และเบอร์เกอร์คิง โดยเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะเมื่อย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนยังไม่ค่อยมีใครรู้จักสายการบินแอร์เอเชีย แต่วันนี้ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันได้สร้างอีกแพลตฟอร์มใหม่ชื่อOUR FARMเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับเกษตรกรภายในอาเซียนโดยตรง
นายโทนี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนอีก 2 เสาหลักของแอร์เอเชียดิจิทัลคือRedBeat Academyเป็นศูนย์อบรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มแอร์เอเชียกับกูเกิล เพื่อผลิตวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล มุ่งยกระดับขีดความสามารถของพนักงานในองค์กร และเสาสุดท้ายคือศูนย์ข้อมูล (Data Centre)ทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์ และวินิจฉัยข้อมูล เพื่อคาดการณ์และให้คำปรึกษา นำไปสู่การตัดสินใจบนฐานข้อมูลและกำหนดกลยุทธ์ของกลุ่มแอร์เอเชีย