ครม.ตีกรอบปล่อยกู้สหกรณ์ คุมสินเชื่อ1.2แสนล้าน
สถาบันการเงินอีกรูปแบบที่มีขนาดและมูลค่าใหญ่ในประเทศคือ “สหกรณ์” ปัจจุบันมีจำนวน 6,579 แห่ง มีสมาชิกกว่า 11 ล้านคน มีเม็ดเงินในระบบมากกว่าแสนล้านบาท ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดใดกับสถาบันการเงินนี้ ย่อมต้องส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศตามไปด้วย
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ปี2562 จำนวน 5 ฉบับประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้และให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น กำหนดให้สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภทคือ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 12 งวด, เงินกู้สามัญเป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกเพื่อใช้จ่าย หรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวด และ เงินกู้พิเศษ มีวัตถุประสงค์ของการกู้เพื่อประกอบอาชีพหรือการเคหะ หรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 360 งวด อายุสูงสุดของผู้กู้ชำระหนี้แล้วเสร็จไม่เกินอายุ 75 ปี เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้สมาชิกต้องส่งข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น
2.ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ก่อหนี้ และสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่เกิน3 ปี กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ ส่วนสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์
3.ร่างกฎกระทรวงการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้ทั้ง 2 สหกรณ์ มีสภาพคล่องเพียงพอและดำรงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วโดยที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การกำหนดให้สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน อาทิ เงินสด เงินฝากธนาคาร โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่า 3% ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท ส่วนชุมนุมสหกรณ์กำหนดไว้ที่6%
4.ร่างกฎกระทรวงการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดชั้นสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้สามารถจัดชั้นการให้เงินกู้และการให้สินเชื่อหรือสินทรัพย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริงและการกันเงินสำรอง เช่น กำหนดให้สหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากต้นเงินคงเหลือสำหรับลูกหนี้จัดชั้นดังนี้ ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ 2%, ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน 20%, ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย 50%, ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญและลูกหนี้จัดชั้นสูญ 100%
5.ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งเพื่อเป็นการป้องกันการกระจุกตัวความเสี่ยงไม่ให้สูงจนเกินไป เช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้แก่สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกิน10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงินหรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมถึงการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก และกำหนดด้วยว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับสหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกิน 25% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง ยกเว้นกรณีสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกิน 50%
พลโท วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับ ได้ผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนสหกรณ์แล้ว คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบการดำเนินงานของสหกรณ์โดยรวม และสามารถปรับตัวให้เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวได้ แต่สิ่งที่กังวลคือร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องการให้แต่ละสหกรณ์ปล่อยกู้ได้เพียง 150 งวดเท่านั้น ในขณะที่สหกรณ์ใหญ่ เช่น สหกรณ์ครู ทหาร ตำรวจ เหล่านี้ปล่อยงวดเงินกู้ตั้งแต่ 200-300 งวด หากบังคับให้ลดลง จะส่งผลให้ผู้กู้ต้องชำระมากขึ้น
ทั้งนี้การก็เงินในกรณีที่มีหลักทรัพย์คำประกัน เช่นกู้ซื้อบ้าน ที่ดิน เหล่านี้ อาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่กรณีกู้สามัญ ที่ต้องให้สมาชิกค้ำประกัน เช่นเพื่อนำไปซ่อมบ้าน กู้ส่งลูกเรียน กู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เหล่านี้ จะได้รับผลอย่างแน่นอน และหากมีการหนีหนี้ ผู้ค้ำประกันต้องชำระแทน