'ไพรินทร์' ถอดรหัส 'สะพานไทย' ลงทุน 9 แสนล้านต่อยอด EEC

'ไพรินทร์' ถอดรหัส 'สะพานไทย' ลงทุน 9 แสนล้านต่อยอด EEC

“ไพรินทร์”ชูโครงการสะพานไทยเชื่อมความเจริญอีอีซีลงภาคใต้ กระจายท่องเที่ยว ความเจริญ จากภาคตะวันออกไปยังอีกฝั่งทะเลอ่าวไทย ระบุ  9 แสนล้านคุ้มค่า ช่วยกระตุ้นการใช้คอนเทนท์ในประเทศ  ชี้ สกพอ.ควรเป็นแม่งานในการศึกษาเป็นโครงการเชื่อมโยงจากพื้นที่อีอีซี

โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลมีการทุ่มงบประมาณ และผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันความเจริญที่เกิดขึ้นในอีอีซีก็ทำให้เกิดคำถามว่าจะกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจจากอีอีซีไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศได้อย่างไร 

ล่าสุดมีข้อเสนอเรื่องการสร้างโครงการ “สะพานไทย” เชื่อมต่อจากพื้นที่อีอีซีไปยังภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้ตอนบน กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจและประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ในคณะกรรมการศูนย์บริหารสถารการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 หรือ“ศบศ.”เกี่ยวกับแนวความคิดและความสำคัญของโครงการนี้ 

นายไพรินทร์กล่าวว่าความเจริญในพื้นที่อีอีซีมีความแตกต่างจากอีกด้านของอ่าวไทยมาก และแม้แต่การท่องเที่ยวก็แตกต่างกันโดยสถิติการท่องเที่ยวระหว่างสองฝั่งในทะเลอ่าวไทยคือด้านประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน ต่างกับด้านพัทยา ชลบุรีมาก โดยในฝั่งพัทยา ชลบุรีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าอีกฝั่งหนึ่งถึง 10 เท่า ทั้งที่จริงแล้วคนก็ต้องการที่จะท่องเที่ยวสองฝั่งแต่ในฝั่งพัทยา ชลบุรี มีสิ่งที่ดึงดูดมากกว่า ขณะที่โครงการควมเจริญต่างๆก็ถูกสร้างไว้ที่ชลบุรี และฝั่งอีอีซี อนาคตเราจะมีสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์สร้างขึ้นอีกก็ยิ่งเป็นการดึงดูดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นอีก 

การที่เราจะแบ่งความเจริญข้ามมาอีกฝั่งคือจากชลบุรี และอีอีซีมายังเพชรบุรี หัวหิน ได้มากขึ้นคือการทำโครงการที่ชื่อว่า “สะพานไทย” เชื่อมระหว่างพื้นที่อีอีซีมายังฝั่งตะวันตกในพื้นที่ของจ.เพชรบุรี หรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเป็นสะพานที่มีความยาวประมาณ 80 - 100 กิโลเมตร ทำให้เส้นทางที่ปกติต้องอ้อมไกลถึงเกือบ 400 กิโลเมตรลดลงเหลือ 1 ใน 3  หากทำทางเชื่อมได้ความเจริญจากภาคตะวันออกจะมาเชื่อมกับภาคตะวันตก และลงไปยังพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตกได้เลยซึ่งเป็นวิธีิที่หลายประเทศเช่นญี่ปุ่นทำแล้วประสบความสำเร็จมาแล้ว

ด้วยวิธีการแบบนี้เมื่อมีถนนที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยฝั่งตะวันออกและตะวันตกความเจริญที่กระจุกตัวอยู่เพราะมีความเจริญ สิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่มาก จะถ่ายโอนไปยังฝั่งตะวันตกได้ สนามบินอู่ตะเภาที่สร้างในพื้นที่อีอีซีฝั่งตะวันตกก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวมาลงที่อู่ตะเภาก็เดินทางข้ามฝั่งไปยังฝั่งตะวันตกได้ หรือหากภาคใต้ต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ไม่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมก็แก้ปัญหาโดยใช้วิธีเอาไฟฟ้าจากภาคตะวันออกโดยฝากสายส่งไปกับสะพานไทยเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าจากฝั่งตะวันออกที่มีโรงไฟฟ้าจำนวนมากได้ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าได้ด้วย  

“ในโลกนี้มีการสร้างถนนที่เป็นสะพานเชื่อมสองฝั่งของทะเลอยู่แล้วหลายเส้น เช่นในญี่ปุ่นมีที่อ่าวโตเกียว เรียกว่า aqualine วิ่งจากชิบะมายังโยโกฮาม่า ส่วนที่จีนเพิ่งทำสำเร็จคือจากฮ่องกงมาที่มาเก๊า จูไห่ เชื่อมปากแม่น้ำเพิล กับ 11 มณฑลของจีนกับฮ่องกงทำให้ความเจริญจากอีกพื้นที่ไปอีกพื้นที่"

นายไพรินทร์กล่าวว่าจากการประมาณการโครงการลักษณะแบบนี้ใช้การลงทุนประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งโดยหลักการในการสร้างถนนแบบนี้จะสร้างเป็นทั้งอุโมงค์และสะพานเพราะบางช่วงของทะเลมีเรือแล่นผ่านก็ไม่รู้ต้องสร้างสะพานสูงแค่ไหน ก็สร้างเป็นอุโมงค์ก่อนสัก 20 - 3 0 กิโลเมตร โดยข้อดีของการสร้างเป็นอุโมงค์ก็คือ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่กระทบปะการัง ป่าชายเลนในทะเลเหมือนเราสร้างลอดแม่น้ำเจ้าพระยา  แล้วมีเกาะเทียมอยู่กลางทะเลสำหรับเป็นจุดพักรถ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งชมวิวจากนั้นก็เป็นสะพานเชื่อมไปถึงอีกฝั่ง ซึ่งจะได้ทั้งถนนและสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งข้อเสนอของตนคือให้มีการศึกษาโครงการนี้ว่ามีความเป็นไปได้ และคุ้มค่าในการในการลงทุนหรือไม่ โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการลงทุนแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (พีพีพี) 

โดยล่าสุดโครงการนี้คณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานมอบหมายให้สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สำนักงานอีอีซี) ไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้โดยจะจัดสรรงบประมาณปี 2564 ให้ทำการศึกษาโครงการ โดยสาเหตุที่ให้สำนักงานอีอีซีไปศึกษาเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายของตนเองหากเป็นโครงการที่เชื่อมโยงต่อเนื่องไปจากพื้นที่อีอีซีก็ยังถือว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตกฎหมายของอีอีซี ดังนั้นโครงการนี้สำนักงานอีอีซีควรจะเป็นแม่งานในการศึกษา และหากทำได้ความเจริญจากอีอีซีก็จะกระจายไปยังทั่วประเทศโดยลงไปถึงภาคใต้ ที่สำคัญคือแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย 

ทั้งนี้โครงการนี้นายกรัฐมนตรีรับทราบโครงการและจาก ศบศ.ก็ได้นำโครงการนี้ไปเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบโครงการแล้ว และนำโครงการมาเข้าที่ประชุมบอร์ดอีอีซีแล้วซึ่งจะได้งบประมาณในการศึกษาโครงการเบื้องต้น (pre feasibility study) ในโครงการนี้ 

160222207486

“9 แสนล้านบาทถามว่าเป็นเงินที่เยอะมั้ยก็ต้องบอกว่าเยอะ แต่ถ้าคุณลองเอาเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหมดของอีอีซี 3 - 4 โครงการมาบวกกันก็เป็นตัวเลขประมาณนี้ แต่ที่แน่ๆก็คือสะพานนี้เป็นหิน ปูน เหล็ก เป็นคอนเทนท์ของคนไทยทั้งนั้นไม่ได้ไฮเทคแบบที่ต้องไปซื้ออุปกรณ์จากภายนอกประเทศมา ถ้าก่อสร้างแบบทยอยทำไป 10 ปี ก็เท่ากับว่าโรงปูน โรงเหล็ก โรงงานต่างๆในไทยจะได้ประโยชน์จากกำลังการผลิต ก็เป็นไอเดียร์ว่าให้ไปศึกษากันว่าสุดท้ายแล้วโครงการนี้จะเหมาะสมในการลงทุนหรือไม่”

นายไพรินทร์กล่าว ว่าโครงการลักษณะนี้ถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่นำเอาความเจริญจากอีกพื้นที่ไปสู่ท้องถิ่นหากเป็นในญี่ปุ่น จะให้แต่ละท้องถิ่นเสนอโครงการเข้ามาเพื่อแข่งกันว่าจะให้ส่วนปลายของโครงการสะพานไทยจะไปลงที่พื้นที่ในตำบล อำเภอใด เพราะจะได้ประโยชน์จากโครงการในลักษณะนี้มาก ส่วนในท้องถิ่นที่ไม่ต้องการให้โครงการนี้ไปผ่าน ก็ไม่ต้องทำข้อเสนอเข้ามา เพราะเอาความเจริญไปให้ไม่ได้เอาภาระไปให้