“เจเล่” ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ สู้ศึกน้ำดื่มผสมวิตามิน  จับตา! ผู้เล่นแจมตลาดเพิ่ม 5 ราย  

“เจเล่” ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ สู้ศึกน้ำดื่มผสมวิตามิน  จับตา! ผู้เล่นแจมตลาดเพิ่ม 5 ราย  

เดือดปรอทแตก!! ตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน 1,200 ล้าน แต่ผู้เล่นแห่เข้ามาชิงเค้กล้นตลาด ล่าสุด "เจเล่" ส่ง AQUA-VITZ by Jele ราคา 15 บาท. ระเบิดศึกสู้ผู้เล่นเดิมที่กุมตลาดเหนียวแน่น แต่สงครามยังไม่จบ เตรียมตัวรับคู่แข่งเพิ่ม

กลายเป็นทะเลแดงเดือด(Red Ocean) เรียบร้อยแล้วสำหรับตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินเพราะการแข่งขันเข้มข้นดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น ผู้เล่นหน้าใหม่ตบเท้าเข้ามาท้าชิงแบ่งเค้กการตลาดที่ปัจจุบันยังเป็นก้อนเล็กๆ หลัก 1,200 ล้านบาท (ที่มา : อิชิตัน) แต่คาดการณ์มูลค่าตลาดปีหน้าจะเติบโตเป็นเท่าตัวแตะระดับ 3,500 ล้านบาท นั่นเป็นเหตุผลพอที่จะเย้ายวนให้ค่ายเครื่องดื่มโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ 

ย้อนกลับไปปี 2557 ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ถือเป็นแบรนด์แรกที่บุกเบิกตลาด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมองเห็นโอกาสจากปัญหา(Pain point)ของผู้ป่วยที่ทานยายาก จึงวิจัยและพัฒนาเครื่องดื่มผสมวิตามินที่ทำให้ผู้ป่วยดื่มแล้วสดชื่น ทว่า โอกาสตลาดมีมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคทั่วไป ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายซื้อไปจำหน่าย จึงผลิตตอบสนองความต้องการตลาดในเชิงพาณิชย์  นี่คือข้อมูลที่ เจษฏา อุดมถิรพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด เคยฉายภาพให้กรุงเทพธุรกิจฟัง 

ภาพการทำตลาดของยันฮี วิตามิน วอเตอร์ เหมือนซุ่มเงียบ แต่จริงๆ เจษฎา บอกว่าแบรนด์ตลาดมาโดยตลอดแต่ไม่เสียงดังนัก อีกทั้งแบรนด์มาในสายโรงพยาบาลมากกว่าคอมเมอร์เชียล ทว่า ล่าสุด แบรนด์เดินเกมเชิงรุกมากขึ้น เพื่อป้องกันบัลลังก์เบอร์ 1 ไว้ 

ปีนี้ผู้นำถูกท้าชิงจากแบรนด์ใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น บลู จากค่ายเซ็ปเป้, วิต อะ เดย์ จาก บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด, อิชิตันน้ำอัลคาไลน์ พีเอช พลัส 8.5 อิชิตัน วิตามิน วอเตอร์ ซี พลัส อี, น้ำอัลคาไลน์ เอทพลัส จากบริษัท อัลก้า พลัส จำกัด และน้ำอัลคาไลน์ แมนเนเจอร์ พีเอช พลัส 8.5 เป็นต้น  

160368919533

แต่ยังไม่หมด เพราะคู่แข่งล่าสุดที่เพิ่งส่งสินค้าบุกตลาดคือ “AQUA-VITZ by Jele”(อควาวิทซ์ บาย เจเล่) วิตามิน มิเนอรัล วอเตอร์ ที่ผสมทั้งวิตามินบี 200% แร่ธาตุ 7 ชนิด และค่าความเป็นด่าง หรือ pH 7++  เรียกว่าเป็นการมาทีหลัง แต่นำจุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ของผู้เล่นทุกรายมาผสมกันอยู่ในขวดเดียวจบ

ส่วนขนาดอยู่ที่ 400 มิลลิลิตร(มล.) ราคาขาย 15 บาท ประเดิมช่องทางจำหน่ายผ่านร้านนสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นด่านแรกสร้างแบรนด์ และหยั่งกระแสผู้บริโภค ด้านราคาอาจจะดูต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ปริมาณก็น้อยกว่า เช่น น้ำอัลคาไลน์ แมนเนเจอร์ พีเอช พลัส 8.5 ชนาด 500 มล. ราคา 20 บาท พีเอชพลัส 8.5 ขนาด 550 มล. ราคา 20 บาท เป็นต้น 

สำหรับ “AQUA-VITZ by Jele”(อควาวิทซ์ บาย เจเล่) วิตามิน มิเนอรัล วอเตอร์ แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ศักดิ์ศรีไม่ด้อยกว่าใคร เพราะหากเปรียบมวยแล้ว ศักยภาพของแบรนด์ใต้ร่มเงาของเจเล่ของบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด(มหาชน) ที่มีสินค้าทั้งขนมขบเคี้ยว(สแน็ค) และเครื่องดื่มแบรนด์ดังในพอร์ตโฟลิโอจำนวนมาก เช่น เจลลี่ เจเล่, ปลาหมึกอบกรอบ เบนโตะ, ขนมขาไก่ โลตัส, เครื่องดื่มเฉาก๊วยเมจิก ฟาร์ม บิสกิตสอดไส้ เบเกอรี่เฮาส์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละปีทำรายได้หลักพันล้านบาทและบริษัทกำลังแต่งตัวเพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)นำเงินขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น  

160368944179

พอร์ตโฟลิโอสินค้าของศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง

ทั้งนี้  AQUA-VITZ by Jele ยังไม่ใช่แบรนด์สุดท้ายที่เข้ามาคลุกวงในตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน เพราะยังมียักษ์ใหญ่แบรนด์อื่นเตรียมตัวกระโจนเข้ามาทำตลาดเพิ่ม ซึ่งจากการพูดคุยกับ ธนพันธุ์ คงนันทะ กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฟันธงว่าแบรนด์เครื่องดื่มค่ายใหญ่กำลังจะส่งน้ำดื่มผสมวิตามินเข้ามาเพิ่ม ซึ่งคาดว่าจะเห็นอีก 5 แบรนด์ 

กูรูตลาดเครื่องดื่ม มองตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินไว้อย่างไร ฟังทรรศนะของอดีตเจ้าพ่อชาเขียวอย่าง ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ระบุว่าสินค้าดังกล่าว ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้นด้วย เห็นจากช่วงโควิด น้ำดื่มผสมวิตามิน เป็น 1 ใน 2 หมวดที่ยังเติบโตได้(อีกหมวดที่โตคือน้ำอัดลม) และแนวโน้มตลาดจะเติบโตต่อเนื่อง ตราบที่โควิดยังไม่หายไป ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพ

คนไทยมองวิตามินซีสำคัญ ซึ่งตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินจะเป็นธุรกิจที่ทำเงินให้บริษัทอย่างมากหรือ Cash Cow เหมือนชาเขียวที่บูมมากเมื่อ 15 ปีก่อน  

160368936393

ตลาดน้ำดื่มมูลค่า "หมื่นล้านบาท" กำลังถูกตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินแบ่ง Share of Throat

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่ยังไม่ใหญ่มาก แต่ผู้เล่นกลับเข้ามาหลายราย ทำให้การต่อสู้เพื่อให้ได้ยอดขายจึงงัดอาวุธ หรือกลยุทธ์ด้านราคามาห้ำหั่นกัน ซึ่งแต่ละรายต่างมีราคามหัศจรรย์(Magic Number) ในใจเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจหน้าชั้นวาง(Shelf)ให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า อย่างยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ตั้งราคา 17 บาท อิชิตัน จะลดขนาดสินค้า และส่งขนาด 10 บาทมาขาย เป็นต้น 

 สิ่งที่น่าจับตาจากนี้ไปคือ ผู้เล่นที่ออกตัวช้า จะยังมีที่ยืนหรือไม่ เพราะเชื่อว่าแบรนด์ที่เข้ามาก่อนต้องหาทางป้องกันยอดขายไม่ให้ลดลง และนั่นการแข่งขันคงทวีความรุนแรง ส่วนผู้บริโภคย่อมมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น