เทคนิคเลือกซื้อ 'ประกัน' เพื่อ 'ลดหย่อนภาษี' ให้คุ้ม ทั้งดูแลชีวิตและประหยัดภาษี
"ประกันชีวิต" เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีที่หลายคนเลือกใช่ แต่จะเลือก "ประกัน" อย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง พร้อมทั้งได้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และประโยชน์จากการคุ้มครองในเวลาเดียวกัน
"ประกันชีวิต" เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ช่วยลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเฉพาะคนที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงๆ ทว่าการซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี ไม่ใช่อะไรก็ได้!
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ ที่ทำให้การเลือกซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีครั้งต่อไปได้ง่ายขึ้น และคุ้มกว่าที่เคย
ศิวัตม์ เล่าว่า ปัญหาของคนที่ซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่ คือ ซื้อๆ ไปแบบหวังแค่การลดหย่อน แต่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์การคุ้มครองของประกันที่ตัวเองจะได้รับ โดย 5 เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด และแนวคิดที่ถูกต้องที่ควรปรับ มีดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เตรียมตัวก่อน ‘ยื่นภาษี’ ปี 2563 ‘ลดหย่อน’ อะไรได้บ้าง?
1) เลิก "ซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี" แต่ "ซื้อประกันเพราะจำเป็นต้องมีประกันไว้คุ้มครองกรณีต่างๆ"
จุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนเสียประโยชน์จากการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี คือความคิดที่ว่า "ซื้ออะไรก็ลดหย่อนได้เหมือนกัน" ใครที่เคยคิดแบบนี้อาจจะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ใหม่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว การซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีจะต้องคำนึงถึงความคุ้มครองของประกันที่เราซื้อด้วย
เช่น เลือกซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพราะมีภาระการเงินที่ต้องรับผิดชอบเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งการทำประกันจะช่วยให้คนที่อยู่ข้างหลังไม่ต้องรับภาระเหล่านั้นเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น หรือเลือกซื้อประกันเงินออม เนื่องจากมีเป้าหมายเพื่อสะสมเงินไว้สำหรับ 10-20 ปีข้างหน้าแต่ไม่เน้นการคุ้มครองเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันเพราะไม่มีภาระที่จะต้องรับผิดชอบอยู่ข้างหลัง เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับความคุ้มครองในกรณีต่างๆ อาจจะเลือกวิธีการอื่น
2) เลิก "ซื้อประกันออมทรัพย์ เพราะมีเงินคืน" แต่ "ซื้อประกันแบบที่ตรงกับความจำเป็น"
ขอให้ท่องไว้ว่า ทุกๆ ครั้งก่อนที่จะซื้อประกัน จะต้องรู้จักประกันชีวิตประเภทต่างๆ เพื่อเลือกซื้อให้เหมาะสมกับตัวเองก่อน โดยประกันชีวิตที่สามารถลดหย่อนภาษีได้แบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลักๆ ซึ่งสามารถพิจารณาซื้อตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ดังนี้
- เน้นคุ้มครองชีวิต
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
- ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา
- เน้นออมเงิน
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (กรณีอยากออมเงินธรรมดา)
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ (กรณีอยากออมเงินเพื่อเกษียณ)
- ออกแบบเอง
- ประกันชีวิตควบการลงทุน
ซึ่งผู้เอาประกันจะต้องพิจารณาจากความจำเป็นว่าแท้ที่จริงเราต้องการทำประกันชีวิตไปเพื่ออะไร ก่อนไปในขั้นตอนอื่นๆ
3) เลิก "ดูผลตอบแทนเฉลี่ยจากเงินคืน" แต่ "ผลตอบแทนเฉลี่ยจริง" ต้องวัดจากค่าเบี้ยที่จ่ายไปด้วยการคำนวณอัตราผลตอบแทนแบบ IRR
"ประกันออมทรัพย์ คุ้มสุด เพราะได้เงินคืน" ความเข้าใจผิดของหลายคนที่ต้องการลดหย่อนภาษี และทุ่มเงินลงไปกับประกันออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นประกันที่ให้เงินคืน
ในความเป็นจริงแล้วมีประกันอีกหลายประเภทที่สามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน และให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะกับแต่ละคนต่างกัน (ย้อนดูประเภทประกันชีวิตในข้อ 2)
ดังนั้นการคำนวณผลตอบแทนเฉลี่ยของประกันชีวิตจึงไม่ได้ดูจากเงินคืน แต่ต้องดูค่าเบี้ยที่จ่ายไปเ้วยการคำนวณอัตราผลตอบแทนแบบ IRR (Internal rate of return) หรืออัตราผลตอบแทนภายใน ซึ่งการคำนวณมีหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตามใครที่อยากลองคำนวณ IRR ของประกันชีวิตที่อยากซื้อลองใช้โปรแกรมคำนวณของ iTAX เป็นตัวช่วยได้
4) เลิก "เลือกประกันเพราะจ่ายเบี้ยสั้นกว่า คิดว่าจะได้หมดภาระไวๆ" แต่ทราบไหมว่า "เลือกประกันจ่ายสั้น เบี้ยต่อปีแพงอาจกว่า ณ ทุนประกันเท่ากัน"
หลายคนเมื่อต้องซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีมักจะมองหาประกันที่จ่ายเบี้ยสั้นกว่า เพราะคิดว่าไม่เป็นภาระในระยะยาว แต่ในบางครั้งประกันที่จ่ายเบี้ยในระยะที่ยาวกว่า อาจมีเบี้ยรวมไม่ต่างกันมาก ณ ทุนประกันที่เท่ากัน ซึ่งการจ่ายในระยะที่ยาวกว่าช่วยให้ไม่ต้องแบกภาระหนักในแต่ละปี ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างการจ่ายเบี้ยประกันในข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า การจ่ายเบี้ยในระยะ 10 ปี จะต้องจ่ายค่าเบี้ยที่สูงกว่าการจ่ายเบี้ยระยะ 20 ปี เกือบเท่าตัว แต่เงื่อนไขของประกันมีทุนประกันที่เท่ากัน และมีค่าเบี้ยรวมที่ใกล้เคียงกัน ต่างกันเพียงระยะเวลาในการจ่ายเท่านั้น ซึ่งตัวอย่างนี้สะท้อนว่า การจ่ายเบี้ยสั้นไม่ได้ดีกว่าการจ่ายเบี้ยยาวเสมอไป (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประกันชีวิต) ดังนั้น สำหรับคนที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่องอาจเลือกการจ่ายเบี้ยประกันในระยะ 20 ปีแทนการจ่ายเบี้ย 10 ปีแทน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินในกระเป๋าได้ง่ายขึ้น
5) เลิก "เลือกแบบสัญญาสั้น ดีกว่าจะได้เงินครบสัญญาเร็วๆ" แต่ "เลือกสั้นหรือยาว ตามเป้าหมายหรือระยะเวลาที่จำเป็น"
อีกหนึ่งเรื่องที่คนทำประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีคาดหวัง คือ "เงินครบสัญญา" ทำให้ตัดสินใจเลือกสัญญาแบบสั้นเพราะหวังได้เงินก้อนครบสัญญาออกมาเร็วๆ แต่ทราบไหมว่า นี่คือความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะการทำประกันชีวิตที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความคุ้มครองสูงๆ อาจจะไม่มีเงินคืนเลย หรือคืนในช่วงอายุ 90-99 ปีเลยทีเดียว ในทางเดียวกันประกันออมทรัพย์ที่เน้นการออมเงินก็จะได้รับความคุ้มครองที่ต่ำแทน
เพราะฉะนั้นการเลือกประกันชีวิตสั้นหรือยาว ได้เงินคืนหรือไม่ได้เงินคืน ต้องดูที่ความจำเป็นของตัวเองเพื่อให้ได้ทั้งประโยชน์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ และสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีที่เหมาะสมด้วย
ที่มา : iTAX2020 งานเทศกาลลดหย่อนภาษีประจำปี