นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐ เร่งสร้างงานตามดีมานด์ตลาด

นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐ เร่งสร้างงานตามดีมานด์ตลาด

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ "ปรับทัพนโยบาย รองรับเศรษฐกิจหลังโควิด" โดยนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ศิษย์เก่าคณะฯ ชี้ ต้องเร่งสร้างงานที่ตลาดต้องการ ก่อนอนาคตของชาติว่างงานเป็นเวลานาน สูญเสียศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว

ในงานเสวนาเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตลาดแรงงานในไทยปัจจุบัน อัตราการว่างงานอาจไม่ได้ดูสูงมาก ขณะนี้อยู่ที่ 2% จากที่อยู่ต่ำกว่า 1% ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ถ้าดูชั่วโมงการทำงานพบว่าหายไปเกือบ 12%

เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่แล้ว เมื่อแยกตามกลุ่มอายุ ช่วงอายุของเด็กจบใหม่ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงถึง 8% ซึ่งอาจจะวนมาถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองด้วย เพราะหลังจากจบการศึกษาเด็กก็หวังว่าจะมีงานทำ ยิ่งตลาดแรงงานถูกกระทบรุนแรงในช่วงโควิด ยิ่งหางานลำบาก กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ อีกทั้งในระยะยาว มีการศึกษาในมุมเศรษฐศาสตร์แรงงานว่า กลุ่มที่จบใหม่แล้วมีการว่างงานเป็นเวลานาน จะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะและศักยภาพของตนเอง ทำให้อัตราการเติบโตตามศักยภาพของบ้านเราต่ำลง (Potential Growth) สูญเสียความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ

"ในขณะที่คุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นใหญ่ที่ถกเถียงกันมาหลายทศวรรษ กระทรวงศึกษาได้งบเยอะที่สุดทุกปี แต่ผลคะแนนที่ออกมาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นไม่สู้ดีนัก คุณภาพของเด็กออกมาไม่ตรงกับการใช้งาน ภาคเอกชนจึงพยายามแก้ปัญหา Mismatch นี้ด้วยการตั้งสถาบันของตนเองซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ในระยะยาวได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่สามารถทำเพื่อครอบคลุมเด็กทั้งประเทศได้ นั่นคือหน้าที่ภาครัฐที่ต้องเรียนรู้กลไกตลาดว่าตลาดต้องการอะไรและปรับให้ทัน" ดร.กำพล เสริม

160430929562

ขณะที่ นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า หากมองในมุมของอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงาน ฝั่งของปริมาณเด็กจบใหม่ (Supply) ในแต่ละปีรวมทั้งปริญญาตรี ปวช. ปวส. อาชีวะ มีประมาณ 4.5แสนคน ถ้ามองว่าเศรษฐกิจชะลอลงตั้งแต่ปีที่แล้วตัวเลขรวมๆเกือบ 1 ล้านคนแล้ว หากจ้างงานโดยไม่มีความต้องการจากนายจ้างที่แท้จริง (Demand) นับว่าเป็นการจ้างงานลม

"แม้ภาครัฐจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการจ้างงานเด็กจบใหม่ แต่ถ้ายังไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ได้ก็จะจ้างได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง กลายเป็นความไม่ยั่งยืน อีกทั้งโควิด-19 ยังเพิ่มอีกปัญหาคือ เรื่องของโลเคชั่นทำงาน เช่น จากเดิมอยู่ในภาคบริการ จ.ภูเก็ต เกิดวิกฤติก็ต้องกลับบ้านเกิด ทำอย่างไรให้ยังคงมีงานรองรับเมื่อกลับไปอยู่บ้าน ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกช่วยจับคู่งานกับภาคเอกชน จัดโปรแกรมแบบไหนที่ภาคเอกชนต้องการตอนนี้ เช่น โรงพยาบาลตามหัวเมืองใหญ่ๆ อยากขยายตลาดดูแลผู้สูงอายุ ก็เอาคนที่มีทักษะบริการจากภาคท่องเที่ยวมาเข้าโครงการเพิ่มเติม เป็นต้น" นายนริศระบุ

ดร.อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา โครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่ง ที่ทำให้ไทยต้องสร้างกลไกในการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ถ้าไม่คิดอย่างรอบคอบจะยิ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในรากเหง้าปัญหาสังคมของประเทศที่นำไปสู่ความขัดแย้งหลายครั้ง ไม่ใช่เพียงความไม่เท่าเทียมกันของรายได้หรือการถือครองทรัพย์สิน แต่แท้จริงแล้วคือความไม่เท่าเทียมกันทางด้านโอกาส ถ้าหากไม่แก้จากจุดนี้ โควิดจะยิ่งทำให้แย่ ผลักคนส่วนหนึ่งกลับไปสู่ความยากจน ไม่สามารถส่งลูกเข้าเรียนเหมือนเดิมได้ เด็กไม่มีเงินพอเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่ดี ไม่มีโอกาสเข้าถึงความรู้ดีๆ โอกาสในชีวิตของเด็กที่เปลี่ยนไป ยิ่งยากที่จะกลับเข้าสู่โอกาสทางสังคมที่ดีขึ้น 

ทั้งนี้ ในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่า ระยะสั้น ภาครัฐต้องดูแลไม่ให้เกิดการตกงานเพิ่มมากขึ้น เลี้ยงการจ้างงานต่อไปให้ได้มากที่สุด

ผศ. ดร. อธิภัทร มุทิตาเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา กล่าวว่า รัฐสามารถออกแบบนโยบายโดยใช้กลไกตลาด (Market Force) ควรเป็นตัวกำหนดทิศทางการ Re-skill แรงงานควรไปในทิศทางใด แนวทางหนึ่งคือการสร้าง Lifelong learning fund ในลักษณะเดียวกับนโยบายของสหรัฐอเมริกา โดยแรงงานต้องเริ่มจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาทักษะตนเอง แต่นายจ้าง และรัฐช่วยลงขันเพิ่มในรูปแบบ Matching fund ซึ่งแรงงานเลือกได้เองว่าอยากเรียนหลักสูตรอะไร โดยเลือกได้จากหลักสูตรที่รัฐรับรองไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ มีวุฒิบัตรการันตีทักษะสำหรับการสมัครงานในอนาคต แนวทางนี้จะทำให้เกิดการ Reskill ผ่านกลไกตลาด โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนทางอ้อม

---------------------------------

ชมคลิปเสวนาฉบับเต็ม: