จับตาประชุมครม.เปิดเมืองภูเก็ตถกฟื้นศก.

จับตาประชุมครม.เปิดเมืองภูเก็ตถกฟื้นศก.

ภาคเอกชน ชง เมกะโปรเจคฟื้นท่องเที่ยวภูเก็ต 3.3 หมื่นล้าน เล็งปรับ“เราเที่ยวด้วยกัน”50% จากเดิม 40% “นายกฯ”ตรวจมาตรการคัดกรองสนามบินสมุย-ภูเก็ต และ ALQ เปิดรับนักท่องเที่ยว เข้มปลอดภัย ด้านอสังหาฯภูเก็ต ชงรัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ภาคเอกชน ชง เมกะโปรเจคฟื้นท่องเที่ยวภูเก็ต 3.3 หมื่นล้าน เล็งปรับ“เราเที่ยวด้วยกัน”50% จากเดิม 40% “นายกฯ”ตรวจมาตรการคัดกรองสนามบินสมุย-ภูเก็ต และ ALQ เปิดรับนักท่องเที่ยว เข้มปลอดภัย ด้านอสังหาฯภูเก็ต ชงรัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.8 แสนล้าน ดันกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรที่จะมีขึ้นวันนี้ (3พ.ย.) ที่จังหวัดภูเก็ตจึงเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเดินทางลงพื้นที่โดยวานนี้ (2พ.ย.)ได้เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต ณ โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ภูเก็ต ร่วมกับ 6 ผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมมัคคุเทศก์อันดามัน เป็นต้น

นายดนุชา พิชยนันทน์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เอกชนได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในระยะสั้นและวางรากฐานการพัฒนาอนาคตท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต โดยโครงการระยะกลางและระยะยาวได้เสนอโครงการ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ตเพื่อรองรับการท่องเที่ยวมูลค่ารวม 3.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ (สาย บ.เมืองใหม่ – บ.เกาะแก้ว) ระยะทางรวม 22.4 กิโลเมตร วงเงินรวม 3 หมื่นล้าบาท

2. โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (wellness center) วงเงินลงทุน 3 พันล้านบาท

ส่วนโครงการอื่นๆได้แก่ โครงการพัฒนาคุณภาพการคัดกรองด่านตรวจภูเก็ต และการให้สิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทเอกชนอื่น ๆ ให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่สำนักงานในหน่วยงานด้านเทคโนโลยี หรือดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ต โดยโครงการทั้งหมดนายกรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้และดูความเหมาะสมของแหล่งงบประมาณต่อไป

สำหรับข้อเสนอระยะเร่งด่วนในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูเก็ตประกอบด้วย 1.การปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเป็นการลดราคาห้องพักโดยรัฐบาลจ่ายให้เป็น 50% จากเดิม 40% ขยายประเภทธุรกิจที่ได้รับสิทธิประโยชน์ และขยายระยะเวลาโครงการไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ต่อไป

2.การส่งเสริมให้มีการจัดประชุม สัมมนาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการกีฬา อาหาร และสันทนาการ 4.การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพมหานคร-ภูเก็ต ในช่วงสุดสัปดาห์จากสายการบินไทยสไมล์ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 - 31 ธ.ค. 2564

5.มาตรการส่งเสริมการจ้างงานเร่งด่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมให้เกิดการ ช่วยเหลือตนเองด้วยการปลูกพืชสวนครัว โครงการสนับสนุนการปลูกพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นประธาน นำข้อเสนอไป พิจารณาและทำแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตในภาพรวมและพิจารณารายละเอียดข้อเสนอของจังหวัดภูเก็ต และนำเสนอต่อ ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป

ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมมาตรการคัดกรองโรคโควิด 19 รองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ก่อนประชุมครม.สัญจรนอกสถานที่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

เช็คความพร้อมรับนักท่องเที่ยว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ดังนั้น การคัดกรองและกักกันโรคผู้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยจึงมีความสำคัญ โดยได้เตรียมความพร้อมทั้งสนามบินสมุยและสนามบินภูเก็ต ทั้งการวัดไข้ ระบบตรวจคัดกรอง ระบบห้องปฏิบัติการ ระบบแอปพลิเคชันในการติดตาม โรงแรมที่ใช้ในการกักตัวเป็น ALQ รวมถึงบุคลากร ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยสามารถรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยและสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ขณะที่สนามบินภูเก็ตมีระบบการดำเนินการคัดกรองผู้เดินทางเช่นเดียวกัน โดยส่งตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 จังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ สามารถออกผลตรวจได้ภายใน 1 วัน มีการใช้ระบบแอปพลิเคชันติดตามตัว และมีมาตรการเชิงรุก เตรียมแผนเฝ้าระวังค้นหาในสถานพยาบาล ชุมชนพื้นที่เสี่ยง ประชากรกลุ่มเสี่ยง และเฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มอาการและโรคทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ รวมถึงมีความพร้อมด้านสถานที่กักกันระดับจังหวัด (Local quarantine) และสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Local Quarantine) ซึ่งผู้กักกันต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดเช่นกัน

อสังหาฯภูเก็ตจี้รัฐลงทุน

นายบุญ ยงสกุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต และประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด กล่าวว่า สมาคมฯ อสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนัก ภายหลังจากปิดเมืองเพื่อควบคุมโควิด-19 วิกฤติครั้งนี้ถือว่ารุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตมากที่สุดในรอบหลายปี

ทั้งนี้ ในที่ประชุมครม.สัญจร ที่ภูเก็ตที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ ภาคธุรกิจอสังหาฯซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการได้รับอานิสงส์จากการ พัฒนาเศรษฐกิจ จึงได้เสนอผ่านหอการค้าไทยให้รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจค จ.ภูเก็ต และพื้นที่โดยรอบชายฝั่งอันดามัน มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ในระยะเวลา5ปีปลุกเศรษฐกิจชายฝั่งอันดามัน อาทิ1.แผนการขยายสนามบินนานาชาติ 7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นส่วนต่อขยายสนามบินภูเก็ต1หมื่นล้านบาท และ สนามบินนานาชาติ จ.พังงา 6 หมื่นล้านบาท 

2.โครงการพัฒนารถไฟรางเบา เป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership-PPP) มูลค่าลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภาคเอกชนเป็นผู้บริหาร3.การพัฒนาอุโมงค์ทางรอดเชื่อมกระทู้-ป่าตอง แก้ไขปัญหารถติดและลดอุบัติเหตุ มูลค่า 9,000 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล หรือ มารีน่าฮับ มูลค่า 3,000 ล้านบาท สำหรับจอดเรือยอร์ชที่รองรองรับผู้ที่เดินเรือในภูเก็ตมากขึ้นแข่งกับ มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ทั้งมีการพัฒนาจังหวัดโดยรอบทะเลอันดามันไปควบคู่กัน อาทิ สนามบินนานาชาติ จ.พังงา และ 5.ศูนย์ดูแลสุขภาพ มูลค่า5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเสนอให้พัฒนาอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าเข้าประเทศ สำหรับผู้ที่มาพำนักในไทยหลังเกษียณ ควรขยายระยะเวลาวีซ่า จาก 3-6 เดือน เป็น1-2ปี เพื่อส่งเสริมให้ ต่างชาติที่มาใช้ชีวิตเกษียณมีการใช้จ่ายเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้อีกทาง

ดีอีเอสโชว์ท่าเรืออัจฉริยะ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจราชการ ในโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบ ว่า ท่าเทียบเรืออ่าว ปอ เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ดำเนินการพัฒนาจัดการท่าเรือ ณ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อให้จังหวัดสามารถทราบข้อมูลและจำนวนผู้โดยสารในเรือแต่ละลำ เก็บภาพวีดิโอของผู้โดยสาร พร้อมการคัดกรองอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนลงเรือ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยการคัดกรองและติดตามโรคระบาด

ทั้งนี้ ระบบจัดการท่าเรืออัจฉริยะในโครงการต้นแบบดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเลกลางผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยให้ผู้ประกอบการทัวร์ หรือเจ้าของเรือ ลงทะเบียนรายชื่อผู้โดยสาร ลูกเรือ กัปตัน ชื่อเรือ พร้อมเส้นทางการเดินทางของเรือ ก่อนเรือออกแต่ละวัน พร้อมระบบรายงานให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง

2.ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเรืออัจฉริยะ คือ ประตูอัตโนมัติ จุดขึ้นลงเรือ พร้อมซีซีทีวีจับใบหน้าและวัดอุณหภูมิ และตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ พร้อมกล้องจับใบหน้า เครื่องอ่านบัตรประชาชน และพาสปอร์ต

 3.ระบบWristbands ติดตามตัวบุคคลและร้องขอความช่วยเหลือเมื่อประสบภัย และ 4. เรือท่องเที่ยวที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นแบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เป็นจุดวัน สต็อป เซอร์วิสบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อพัฒนาการบริหารงานท่าเทียบเรือในอนาคต