สรท. ส่งออกปี 68 เจอโจทย์ยากทั้ง “สงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์”

สรท. ส่งออกปี 68 เจอโจทย์ยากทั้ง “สงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์”

สรท.มั่นใจส่งออกปี 67 ขยายตัว 4-4.5  % ขณะที่ปี 68 ตั้งเป้าขยายตัว 1-3 %   ชี้ เจอมรสุมหนัก “สงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์  แนะเข้มร่วมมือรัฐ-เอกชน ฝ่าวิกฤติ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยว่า  การส่งออกในปี 67 จะขยายตัวได้  4-4.5  % อย่างแน่นอน โดยหากเดือนธ.ค.ส่งออกได้มูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งปีจะขยายตัว 4 % แต่หากส่งออกได้มูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์จะขยายตัวได้ 5 %  ซึ่งถือว่า การส่งออกปี 67 จบแล้วเกินเป้าหมายที่วางไว้ 1-2 % ถึงแม้ว่าตัวเลขในช่วงสุดท้ายจะไม่ออกมา  โดยสินค้าที่เป็นเรือธงในช่วงโค้งสุดท้ายที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีขยายตัวได้  4-4.5  % คือ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

 ส่วนการส่งออกในปี68 สรท.คาดการณ์ไว้ในกรอบกว้างๆคือ  1-3 %  เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะสงครามการค้า หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่หากต้องการให้การส่งออกปี 68 ขยายตัวได้ 2-3% ก็ต้องทำงานร่วมกันหนักขึ้น ถือเป็นความท้าทายสูง  โดยสินค้าที่ยังเป็นเรืองของส่งออกไทยก็ยังเป็นสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอาหาร

สรท. ส่งออกปี 68 เจอโจทย์ยากทั้ง “สงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์”

ทั้งนี้หากดูตัวเลขดัชนีภาคการผลิตหรือPMI  ก็ยังอยู่ในสภาวะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่ำกว่าระดับ 50  ทั้งในสหรัฐยุโรป ในขณะที่ค่าระวางเรือหากไม่มีปัญหาสามารถบริหารจัดการได้  ดังนั้นความเสี่ยงจะอยู่ที่สงครามการค้า  ซึ่งในไตรมาส 1 สรท.คาดว่าการส่งออกของไทยขยายตัวได้เล็กน้อยอยู่ที่ 1-2 % มูลค่า 72,000 ล้านดอลลาร์

โดยในช่วงนี้ผู้ส่งออกกำลังเร่งส่งออกสินค้าไปยังผู้สั่งซื้อ เนื่องจากในช่วงปลายเดือนม.ค.เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ต่อเนื่องไปถึงปลายเดือนก.พ.ที่จะสู่เดือนศีลอดหรือเทศกาลรอมฏอนของชาวมุสลิม ซึ่งทำให้ต้องส่งออกสินค้ามากขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 ซึ่งจะเห็นผลกระทบจากนโยบายการค้าของนายทรัมป์

 “ ส่งออก ปี 67 สอบผ่าน แต่ปี 68 โจทย์ยากกว่า ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวก มีแต่ปัจจัยเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย โดยเฉพาะสงครามการค้า ทรัมป์ 2.0 ที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและส่งออกไทย  ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร หรือจะมีการขยายสมภูมิเพิ่มอีก นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินบาทที่มีความผันผวนรวดเร็ว   และต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งจากการปรับค่าแรงและค่าไฟฟ้า ต้องวิเคราะห์และหาแนวทางรับมือ รวมทั้งต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน  ”นายชัยชาญ กล่าว

นายชัยชาญ กล่าวว่า  ทั้งนี้ทางสรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1. ขอให้ผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ

 2. เพิ่มเติมงบประมาณด้านการกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดเกิดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า รองรับการบิดเบือนตลาดจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา เพื่อบรรลุเป้าหมายส่งออกในปี 2568

สำหรับกรณีที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS นั้นมองว่า ทำให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกของไทยได้มากขึ้น  โดยเฉพาะประเทศบราซิล รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ แอฟริกาใต้ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ  ขณะที่จีนและอินเดีย เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้จะทำให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตถูกทั้งพลังงาน ก๊าซและปุ๋ย ลดการใช้เงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตามไทยอาจถูกกีดกันมาตรการการค้าจากชาติตะวันตก

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวว่า การปรับค่าแรงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง แต่หากมีการปรับค่าไฟฟ้าลดลงได้ก็จะช่วยชดเชยต้นทุนผู้ประกอบการได้บ้างจากการปรับขึ้นค่าแรง