“หอต่างประเทศ”ถกพาณิชย์ เปิดเสรีธุรกิจบริการบัญชี 3
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมีอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญนั่นคือนักลงทุน นักธุรกิจ จากต่างประเทศ
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมีอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญนั่นคือนักลงทุน นักธุรกิจ จากต่างประเทศในโอกาสที่หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambersof Commerce in Thailand:JFCCT) เข้าพบกับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงมีการหารือประเด็นต่างๆที่น่าสนใจ
สแตนลี คัง ประธาน JFCCT เปิดเผยว่า อยากให้เร่งเรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างด้าวสามารถถือหุ้นธุรกิจบริการในไทยได้ 100%ภายใต้บัญชีแนบท้าย 3 บางรายการใน ช่วง 3 ปีนี้ ซึ่งว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วน โดยประเทศไทยมีวิสัยทัศน์”ไทยแลนด์ 4.0 “ ดังนั้นการเปิดให้ผู้ประกอบธุริกิจต่างด้าวถือหุ้นในธุรกิจบริการในบัญชี3 ได้ก็จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ในส่วนของการเร่งเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)เห็นว่าไทยควรจะเร่งเจรจาในกรอบต่างๆที่ยังค้างอยู่หรือเปิดการเจรจาใหม่ โดยเฉพาะข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP),FTA ไทย-อียู, FTA ไทย- สหราชอาณาจักร(UK) เพื่อเปิดตลาดการค้าของไทยให้มากขึ้น เพราะประเทศอาเซียนบางประเทศได้เข้าร่วมไปแล้ว เช่น เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี เวียดนาม-อียู ซึ่งเวียดนามก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทางค้าการและสามารถขยายตลาดการค้าได้หลายประเทศ หากไทยเข้าร่วมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะสนับสนุนการค้าและเศรษฐกิจไทยให้เติบโต
นอกจากนี้ JFCCT อยากให้รัฐบาลทบทวนมาตราการการควบคุมป้องกันโควิด- 19 ในเรื่องของระยะเวลากักตัว 14 วัน โดยขอให้พิจารณาลดเวลาลง ซึ่งมองว่า ไทยมีประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโควิด-19 ได้ดี หากลดเวลาการกักตัวได้ เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีทำให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน เข้ามาในไทยได้มากขึ้น
ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สำหรับธุรกิจต่างด้าวที่จะเข้ามาลงทุนในไทย สามารถที่จะถือหุ้น 100%ภายใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้รับข้อยกเว้นอยู่แล้ว หรืออาจจะใช้ช่องทางการลงทุนผ่านข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า หรือFTA ส่วนการเปิดเสรีภายใต้กฏหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าวนั้น ตามปกติทางกระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนการเปิดธุรกิจบริการ ภายใต้บัญชี 3 แนบท้ายทุกปี(Annual review)
โดยจะทยอยเปิดในส่วนที่ของธุรกิจบริการที่กฎหมายเฉพาะกำกับดูแลอยู่แล้วก่อน เพื่อรองรับการส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มการจ้างงานตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งการทบทวนของปีนี้ ขณะนี้ กรมได้ยกร่างกฎกระทวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทย ภายใต้บัญชีแนบท้าย 3 (ธุรกิจบริการที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมแข่งขันกับธุรกิจของคนต่างด้าว) พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 เสร็จแล้ว ภายหลังจากพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่วข้อง ถอดธุรกิจบริการบางสาขาออกจากบัญชีแนบท้าย 3 และอยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
สำหรับธุรกิจที่เตรียมเสนอให้พ้นจากบัญชี 3 ได้แก่ ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง และเป็นกิจการที่มีลักษณะสมควรให้มีการบริการได้โดยเสรี เช่น เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์จากจีนมาเช่าโครงการโทรคมนาคมในไทย เพื่อให้บริการโทรศัพท์สำหรับลูกค้าจีน ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้กับบริษัทในกลุ่มในเครือ และสุดท้าย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย และประกอบธุรกิจในลักษณะหนึ่งลักษณะใด ดังต่อไปนี้ 1.พัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูลBig Data, Data AnalyticsรวมถึงPredictive Analytics
2.พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ 3.พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการควบคุมหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงการจัดการกระบวนการทางธุรกิจ และ4.พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต
นอกจากนี้ ในการหารือระหว่าง JFCCTกับกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือถึงการดูแลระบบการขนส่งของประเทศให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ให้สะดวก รวดเร็วขึ้น และ การจัดหาตู้ขนส่งสินค้าให้เพียงพอ