Japanese Rubber Futures สินค้าใหม่
ทำความรู้จัก Rubber Futures หนึ่งในรูปแบบของสินทรัพย์ทางเลือกของการลงทุน นอกเหนือทองคำและโลหะเงินที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้นอย่างมาก โดยการลงทุน Rubber Futures เป็นการลงทุนสัญญาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า
ในช่วงปีนี้ สินทรัพย์โภคภัณฑ์หลายประเภทซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ โลหะเงิน มีราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยราคาทองคำและเงินปรับตัวสูงขึ้นถึง 28% และ 51% ตามลำดับ ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับตราสารทุนไม่มากนัก จึงเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุน
นอกจากโลหะมีค่าแล้ว ยางธรรมชาตินับเป็นอีกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคามีการปรับตัวสูงขึ้น จากประมาณ 49 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ประมาณ 70 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นถึง 43% ซึ่งนับว่าสูงสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
การปรับขึ้นของราคายางในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้ยางของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้อุปโภคยางรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ยอดขายรถยนต์ในปีนี้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นติดต่อกันตลอด 3 เดือนในไตรมาส 3 โดยมียอดขายรวม 3 ไตรมาสสูงถึง 17.11 ล้านคัน อันเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นการซื้อรถยนต์ของภาครัฐ ประกอบกับอุปทานของยางธรรมชาติในตลาดโลกปีนี้มีปริมาณจำกัด เนื่องจากประเทศผู้ผลิตหลักรวมถึงประเทศไทยต่างประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมกับการผลิตยางธรรมชาติรวมถึงการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา
ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญของประเทศไทย โดยมีมูลค่าส่งออกสูงเป็นอันดับสองรองจากข้าว โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกสำหรับยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ดังนั้น การเคลื่อนไหวของราคายางจึงมีความสำคัญต่อไทยอย่างมาก ซึ่งราคายางนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลกและปริมาณสต็อกคงค้าง และอีกหลายๆ ปัจจัย
ที่ผ่านมาราคายางพารามีความผันผวนสูง (เคยสูงสุดที่ประมาณ 190 บาทต่อกิโลกรัม ใน 2011) ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายาง การมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจึงจำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผู้ลงทุนนั้น ความผันผวนของราคายางที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทน โดยในปีนี้ ราคายางมีความผันผวนประมาณ 29% ต่อปี
ในการจัดการความเสี่ยงหรือการซื้อขายเพื่อทำกำไรจากราคายางนั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อขายยางพาราโดยตรง โดยทั่วไปแล้วผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมักนิยมใช้ Rubber Futures หรือสัญญาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า โดยในปัจจุบันมีตลาดล่วงหน้าหลายแห่งที่เปิดให้ซื้อขาย Rubber Futures เช่น ตลาดเซี่ยงไฮ้(Shanghai Futures Exchange) ในประเทศจีน, ตลาด JPX (หรือตลาดTOCOM เดิม) ในประเทศญี่ปุ่น, ตลาด SGX ในประเทศสิงคโปร์ รวมถึง TFEX
ทั้งนี้ สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) นั้น ตลาด JPX (TOCOM เดิม) นั้นนับว่าเป็นตลาดที่สภาพคล่องสูงและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งผู้ลงทุนไทยมักคุ้นชินกับการซื้อขายยางในตลาดนี้ ส่วนยางล่วงหน้าในตลาดเซี่ยงไฮ้นั้น แม้จะมีสภาพคล่องสูงสุดที่สุดในโลก แต่ผู้ลงทุนต่างชาติเข้าไปซื้อขายได้ยาก ดังนั้น ผู้ลงทุนทั่วไปจึงมักซื้อขาย และอ้างอิงตลาด JPX (TOCOM เดิม) เป็นหลัก
ส่วน TFEX นั้น ปัจจุบันมี Rubber Futures ที่อ้างอิง RSS3 อยู่ 2 สัญญา คือ RSS3 Futures และ RSS3D Futures แต่เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการ/ผู้ลงทุนที่คุ้นชินกับราคายางในตลาด ญี่ปุ่น และผู้ลงทุนทั่วไปที่กังวลกับเรื่องการส่งมอบสินค้าจริง
TFEX จึงได้มีแนวคิดจะพัฒนาสินค้าใหม่ Japanese Rubber Futures (JRF) ที่อ้างอิงกับราคาในตลาด JPX (TOCOM เดิม) โดย JRF นี้จะซื้อขายเป็นสกุลเงินเยนต่อกิโลกรัม แต่ชำระราคาและคำนวณกำไรขาดทุนเป็นเงินบาท โดยกำหนดให้ทุกๆ เยนที่เปลี่ยนแปลงไปมีค่าเท่ากับ 300 บาท ในลักษณะเดียวกับ Gold Online Futures เพื่อให้ผู้ซื้อขายสามารถทำการซื้อขายราคายางที่ตนเองคุ้นเคยได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนับว่าสะดวกกว่าการไปซื้อขายในต่างประเทศ ซึ่ง JRF มีขนาดของสัญญาเทียบเท่ากับยางหนัก 1 ตัน และใช้การชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) เพื่อลดความกังวลเรื่องการส่งมอบ โดยคาดว่าจะเริ่มซื้อขายในช่วงปลายปีนี้
เพื่อเตรียมความพร้อมในการซื้อขาย TFEX ได้ร่วมกับบริษัทสมาชิกจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้า กลยุทธ์การเทรด และเครื่องมือซื้อขายแก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดกิจกรรมแข่งขันเทรดด้วยพอร์ตจำลองเพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทดลองเทรดสินค้าใหม่ก่อนเริ่มซื้อขายจริง ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อบริษัทสมาชิก TFEX หรือติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า กิจกรรม สัมมนา และโปรโมชั่นต่างๆ ได้ที่ www.TFEX.co.th หรือ Facebook : TFEX Station หรือ โทร. 0 2009 9999