ส่องความสวย ‘หุ้น SFT’ ทำไม? ถูกใจ ‘ขาใหญ่’
'ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย)' เป็นหนึ่งใน 'จิ๊กซอว์' เกี่ยวกับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ! ที่กำลังเติบโตท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 จนเข้าตานักลงทุนรายใหญ่ 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' ฟาก 'ซุง ชง ทอย' ผู้ก่อตั้ง SFT โชว์พันธกิจลงทุนโรงงาน รับลูกค้าใหม่ !
เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ! บมจ.ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ SFT ผู้ให้บริการด้านระบบการพิมพ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูป ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา การออกแบบ การผลิตและจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า แม้ราคา 'หุ้น SFT' เปิดเทรดวันแรก (29 ต.ค.2563) อยู่ที่ 3.72 บาท ลดลง 2.10% หรือต่ำกว่าราคาไอพีโอ 3.80 บาท
เนื่องจากวันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นนั้นมีหลาย 'ปัจจัยลบ' เข้ามากระทบบรรยากาศลงทุน ทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศ และสถานการณ์ของโควิด-19 ระลอก 2 ที่ระบาดหนักในสหภาพยุโรปหลายประเทศ 'กดดัน' สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวไม่สะท้อนศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทแท้จริงของบริษัท บ่งชี้ผ่าน ณ ปัจจุบันราคา 'หุ้น SFT' เฉลี่ยอยู่ที่ 4.03 บาท ! (12 พ.ย.)
ทว่า ด้วย 'จุดแข็ง' ด้านประสบการณ์ และ ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปมานานกว่า 12 ปี เข้ามาช่วย 'ตอบโจทย์' ทางการตลาดของลูกค้าในการสร้างภาพลักษณ์ และ มูลค่าให้แก่ 'แบรนด์สินค้า' (Brand Identity) ผ่านการให้บริการที่ครบวงจร
ด้วยสตอรี่ทิศทางการเติบโตที่ 'สดใส' ในอนาคต สะท้อนผ่านทิศทางปริมาณ 'ความต้องการ' (Demand) ใช้ในอุตสาหกรรมรวมประมาณ 8,000 ตันต่อปี ซึ่งบริษัทมี 'ส่วนแบ่งทางการตลาด' (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 2,000 ตันต่อปี !
'คาดว่าปี 2569 คาดว่าความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับประมาณ 10,000 ตันต่อปี ซึ่งบริษัทต้องการส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน'
สะท้อนผ่าน ตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2560-2562) 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 19.54 ล้านบาท 30.84 ล้านบาท และ 56.90 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 391.48 ล้านบาท 430.74 ล้านบาท และ 586.40 ล้านบาท ตามลำดับ ล่าสุดงวด 6 เดือนปี 2563 กำไรสุทธิอยู่ที่ 34.96 ล้านบาท และ 'รายได้' อยู่ที่ 330.47 ล้านบาท
ทำให้ความสวยดังกล่าว เข้าตานักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบันในประเทศ อย่าง 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' ยอมควักเงินลงทุน ! หุ้น SFT โดยถือหุ้นผ่าน สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล โดย บลจ.แอสเซทพลัส จำกัด จำนวน 3,086,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.70% และ กองทุนเปิด วรรณเอเอ็มเซ็ท 50 จำนวน 4,491,500 หุ้นคิดเป็น 1.02% (ตัวเลข ณ วันที่ 26 ต.ค.2563)
'ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย)' แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผลิตภัณฑ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูป สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามระบบการพิมพ์ ได้แก่ ระบบการพิมพ์กราเวียร์ และ ระบบการพิมพ์ดิจิตอล และ 2.ผลิตภัณฑ์อื่น ได้แก่ แม่พิมพ์ (Printing Cylinder) และฟิล์มยืด (Stretch Film)
โดยปัจจุบัน บริษัทมีฐานลูกค้าหลักรายใหญ่ อาทิ บริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด , บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป , บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง , บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ , บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
'ซุง ชง ทอย' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ SFT เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการ Labeling Solutions แบบครบวงจรด้วยผลิตภัณฑ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูปในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่เป็นอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ยังมีความต้องการ (ดีมานด์) เข้ามาต่อเนื่อง
สอดรับกับ ในช่วงที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมืองไทยถือว่าเป็นครัวกลางของโลก โดยปัจจุบันมี 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) ล่วงหน้าไปแล้วจนถึงปลายปีนี้ และ มีคำสั่งซื้อบางส่วนยาวไปถึงช่วงต้นปี 2564 แล้ว
'ทิศทางการเติบโตของธุรกิจจะสามารถขยายตัวได้สดใสในอีก 2 ปีข้างหน้า (2564-2565) หลังนำเงินระดมทุนเริ่มสายการผลิตแห่งใหม่ ! และต่อเนื่องไปยังปี 2566 จากการขยายเครื่องจักรเฟส 2'
ซุง ชง ทอย
เขาบอกว่า ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่ทำ 'ธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ' (Active) ประมาณ 300 ราย เป็นลูกค้ารายใหญ่ประมาณ 10 ราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของรายได้ทั้งหมด หรือรายได้ที่เกิดขึ้นแน่นอนประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทได้เงินระดมทุนจากกการขายหุ้นไอพีโอเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะนำเงินสร้างโรงงาน และเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ฟิล์มหดรัดรูปในกลุ่มฟิล์มใสที่มีความหดตัวสูง (POF Shrink Film) และ กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) รวมถึงบริหารจัดการกำลังการผลิตของเครื่องจักรผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปจากการลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่นี้ด้วย
โดยจะช่วยหนุนให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 185 ล้านเมตรต่อปี ซึ่งจะแล้วเสร็จและดำเนินการได้ในปี 2565 ซึ่งทำให้การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ดีขึ้น รวมทุนนำเงินชำระคืนเงินกู้ จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้ 10 ล้านบาท และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบริษัท ดังนั้นคาดว่าภาพรวมของอัตรากำไรขั้นต้นจะดีขึ้นจากครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ระดับ 27.9% และจะสอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อดีมานด์ความต้องการฟิล์มหดรัดรูปที่เพิ่มสูงขึ้นได้อีกในอนาคต
ทั้งนี้ แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2563 คาดว่าจะผลักดันการเติบโตได้ในอัตราที่สูง เนื่องจากออเดอร์การผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปมีการขยายตัวอย่าง 'ก้าวกระโดด' โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องดื่มหลังสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ภายในประเทศคลี่คลาย ประกอบกับบริษัทมีวางแผนด้านการตลาดที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในช่วงปลายปีนี้ เพื่อสนับสนุนความต้องการฉลากฟิล์มหดรัดรูปที่มากขึ้น ทำให้คาดว่าอัตราการใช้เครื่องจักรในการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณออเดอร์ฉลากฟิล์มหดรัดรูปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังสถานการณ์ COVID-19 มีทิศทางที่ดี ทำให้ลูกค้าเร่งผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดมากขึ้น รวมถึงมีบริษัทมีการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับการออกสินค้าใหม่ของลูกค้าอีกด้วย ฉะนั้น จึงเป็นตัวเร่งดีมานด์สินค้าฉลากฟิล์มหดรัดรูปในไตรมาส 4 ปี 2563 เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่แบรนด์สินค้าของลูกค้ามากขึ้น
'เป้าหมายรายได้ปี 2563 คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 10% แม้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอ แต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นไปคำสั่งซื้อทยอยฟื้นตัวตามความต้องการใช้ฉลากฟิล์มหดรัดรูปที่เพิ่มขึ้นในสินค้าอุปโภคบริโภค'
ท้ายสุด 'ซุง ชง ทอย' ทิ้งท้ายไว้ว่า หลังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว แผนธูรกิจต่อไปจะมุ่งขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่มีความต้องการใช้ฉลากฟิล์มหดรัดรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ ส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้เติบโตได้ตามแผนแน่นอน ด้านประสบการณ์ และ ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปมานานกว่า 12 ปี
SFT เติบโตสดใสใน 2 ปี !
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ บอกว่า สำหรับ หุ้น ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ SFT ให้ราคาเหมาะสมพื้นฐาน 4.46-5.20 บาทต่อหุ้น สำหรับการเติบโตในโครงการในอนาคต ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะขยายโรงงานและซื้อเครื่องจักร เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจะทยอยลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครื่องพิมพ์กราเวียร์ 10 สี เครื่อง Slitting เครื่องทากาว K5 (Glue sealing machine) เครื่องกรอ (Doctoring machine) และเครื่อง Cutting
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะลงทุนเครื่องเจาะแม่พิมพ์เพิ่มเติมอีก 1 เครื่อง เพื่อรองรับปริมาณความต้องการแม่พิมพ์ที่ใช้ในระบบการพิมพ์กราเวียร์ที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 และเครื่องพิมพ์กับเครื่องเคลือบใหม่ในปี 2565
อย่างไรก็ตาม ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ SFT เราอิงกับ PER ของกลุ่ม MAI PKG และหุ้นที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันและมีสภาพคล่องในการซื้อขายได้แก่ SFLEX ที่อยู่ใน SET และให้ส่วนลดด้านสภาพคล่องราว 20% จะคิดเป็น PER ที่ 30–35 เท่า โดยการเติบโตของ SFT จะขยายตัวได้ดีในปี 2020F จากการเริ่มสายการผลิตใหม่ที่ได้เงินจาก IPO ไปลงทุนและต่อเนื่องไปยังปี 2023F จากการขยายเครื่องจักรในเฟสที่ 2