'แฟลช เอ็กซ์เพรส' ลุย 'อีอีซี' ลงทุนคลังสินค้ารับอีคอมเมิร์ซ
“แฟลช เอ็กซ์เพรส”ทุ่ม 400 ล้านลงทุนคลังสินค้าเอนกประสงค์ ในอีอีซี ทั้งชลบุรี - ระยองรับโอกาสอีคอมเมิร์ซไทยเติบโต“คมสันต์” กางแผนขยายธุรกิจลั่น 5 ปีขึ้นแท่นอันดับ1อีคอมเมิร์ซครบวงจรในไทย พร้อมรุกอาเซียนมั่นใจระบบไอที-มาตรฐานเป็นกุญแจสำคัญปักธงธุรกิจ
การเติบโตของอีคอมเมิร์ซแบบก้าวกระโดดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจต่อเนื่องขยายตัวตาม โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งที่มีผู้เล่นรายใหม่ แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะขยายเครือข่ายให้ทั่วประเทศหรือมีแผนขยายไปอาเซียน
คมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจ แฟลช เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กลุ่มบริษัทแฟลชในฐานะผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรตั้งแต่การขนส่งโลจิสติกส์ที่ให้บริการส่งสินค้าชิ้นใหญ่ Flash fulfillment การบริการด้านการจัดการระบบขนส่งแบบครบวงจรทั้ง คลังสินค้า การสต็อกสินค้าให้กับลูกค้า รวมทั้งธุรกิจ Flash money ที่ให้บริการด้านการเงินและสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ ได้เข้ามาทำธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2561 และเติบโตต่อเนื่องปัจจุบันส่งสินค้าวันละ 2 ล้านชิ้น มีรายได้มากกว่าเดือนละ 6,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีพนักงานในเครือ 27,000 คน ที่ให้บริการทั่วประเทศ
รวมทั้งได้เห็นศักยภาพของไทยที่จะเติบโตในธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้อีกมาก เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานทั้งการสื่อสารและการขนส่งที่ดีจะรองรับการเติบโตในอนาคต โดยใน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องดีมากที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในไทยสามารถแข่งขันกับหลายประเทศได้ แม้ไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดโดยตรง แต่มีความสามารถในการประกอบและผลิตสินค้าที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศด้วยสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าพื้นที่อื่น
“อีอีซีจึงเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนภาคการผลิต เทคโนโลยีและเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น”
รวมทั้ง อีอีซีเป็นพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปลงทุน โดยใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโต โดยมีศูนย์กระจายสินค้า 20,000 ตารางเมตร ที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ส่วนปี 2564 มีแผนเปิดศูนย์กระจายสินค้าในอีอีซีอีกแห่งที่ จ.ระยอง พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ซึ่งตั้งไม่ไกลจากสนามบินอู่ตะเภาเพื่อช่วยให้การขนส่งสินค้าจากอีอีซีทำได้เร็วขึ้น
ลักษณะของคลังสินค้าที่จะเปิดในพื้นที่อีอีซีจะเป็นคลังสินค้าเอนกประสงค์ที่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกแบ่งเป็น sourcing center เพื่อให้ผู้ผลิตที่มีการผลิตสินค้าในอีอีซีสามารถกระจายสินค้าจากคลังสินค้าของแฟลชไปยังผู้รับได้อย่างรวดเร็ว อีกส่วนหนึ่งคือเป็นพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์นำสินค้ามาฝากไว้ที่คลังสินค้า
“เราเห็นโอกาสอีอีซีตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาตั้งธุรกิจในไทย การขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภคมีหลายขั้นตอนจึงใช้โอกาสจากพื้นที่ปลอดภาษีของอีอีซี มาทำรูปแบบธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ขายสินค้าส่งสินค้าได้เร็วขึ้น โดยเมื่อมีคำสั่งสินค้ามาระบบจะตรวจสอบสินค้าในคลังสินค้า หากมีสินค้าก็จะส่งให้ผู้บริโภคได้ทันที เพราะมีสินค้าในคลังจะช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้าได้”
สำหรับทิศทางการเติบโตของกลุ่มแฟลชอีก 5 ปีข้างหน้า จะใช้จุดแข็งทุกด้านที่ทำให้เป็นผู้นำอันดับ 1 ของธุรกิจในไทยและรุกไปอาเซียน โดยระยะแรกจะเปิดธุรกิจใน CLMV ภายในไตรมาส 1 ปี 2564
ส่วนแผนขยายธุรกิจให้ครบ 10 ประเทศอาเซียน กุญแจความสำเร็จ คือ นำโมเดลธุรกิจให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจรขยายครอบคลุมอาเซียนเป็นแผ่นดินเดียวกันภายใน 5 ปี ส่วนในไทยจะขยายธุรกิจอื่นที่เชื่อมกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ครบวงจรขึ้น ซึ่งหมายถึงการทำซัพพายเชนการเชื่อมโยงขนส่งระหว่างประเทศให้กับลูกค้าด้วย
อีกปัจจัยความสำเร็จที่แฟลช เอ็กซ์เพรสมั่นใจว่าจะสามารถขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซครบวงจรได้ก็คือเรื่องของมาตรฐานการทำงาน รวมทั้งการเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยีการขนส่งและโลจิสติกส์ เพราะที่ผ่านมาลงทุนเทคโนโลยีมากถึงเดือนละ 60 ล้านบาท และจะลงทุนมากขึ้นเป็นเดือนละ 100 ล้านบาทในอนาคต โดยเทคโนโลยีจะทำให้การบริการมีความเป็นมาตรฐาน ไม่ใช่เป็นเพียงประสบการณ์ ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้แฟลชจะนำไปใช้ยังประเทศอื่นในอาเซียนได้
“แม้แต่ละประเทศในอาเซียนจะมีบริษัทชั้นนำที่ครองตลาดอีคอมเมิร์ซการขนส่งและโลจิสติกส์อยู่แล้ว แต่บริษัทข้ามชาติที่มีรูปแบบธุรกิจที่ครบวงจรที่เข้าไปทำธุรกิจในแต่ละประเทศแล้วประสบความสำเร็จเรายังไม่เห็น ซึ่งเป้าหมายที่แฟลชจะทำในอีก 5 ปีข้างหน้าถือเป็นความท้าทายแต่เป็นโอกาส เพราะหลายประเทศมีช่องว่างของการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ”นายคมสันต์ กล่าว