กระทรวงพาณิชย์ สอบเจอนอมินี 5 รายจ่อเอาผิด
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยผลตรวจสอบ “นอมินี” ปี 63 พบนิติบุคคล 5 ราย ทำธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เข้าข่ายความผิดนอมินี พบคนไทยให้ความช่วยเหลือ 7 ราย เตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษ เอาผิดคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจ หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ในปี 2563 ว่า กรมฯ ได้ทำการตรวจสอบธุรกิจเป้าหมาย 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม รีสอร์ท โดยได้ตรวจสอบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นแหล่งที่มีคนต่างชาติมาลงทุน ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) กระบี่ พังงา ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบนิติบุคคลน่าสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี จำนวน 5 ราย ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว 2 ราย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3 ราย (จังหวัดชลบุรี 4 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 1 ราย) ซึ่งกรมฯ ได้ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเชิงลึกแล้ว เช่น ตรวจสอบความสัมพันธ์ของคนไทยกับชาวต่างชาติ ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตรวจสอบการจ่ายชำระภาษีเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษอาจขยายผลเพิ่มเติม หากพบข้อมูลเชื่อมโยงถึงธุรกิจรายอื่นๆ และหากธุรกิจที่กระทำความผิดมีมูลค่าสินทรัพย์ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
“จากการดำเนินการตรวจสอบ พบพยานหลักฐานที่ค่อนข้างชี้ชัดได้ว่ามีคนไทยและคนต่างด้าวที่ยินยอมให้คนไทยให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจ หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) โดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 รวม 7 ราย ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีความผิดตามมาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรมฯ จะร้องทุกข์กล่าวโทษตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป”นายทศพลกล่าว
สำหรับในปี 2564 กรมฯ มีแผนการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และกำหนดกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย 3 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตร (ล้ง) ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ แต่ในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวซบเซา ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเช่นเดิม ดังนั้น กรมฯ จะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเน้นการตรวจสอบเชิงแนะนำการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นนอมินี ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนไทยยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม หรือที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมาย และจากฐานข้อมูลพบว่ามีคนไทยถือหุ้นในกิจการร่วมกับคนต่างด้าวในหลายๆ กิจการ ซึ่งเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มาของแหล่งเงินทุนของคนไทยรายดังกล่าว กรมฯ จึงขอเตือนคนไทย ขออย่าได้มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากเป็นความผิดที่มีอัตราโทษค่อนข้างสูง โดยกรมฯ จะดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกราย
สำหรับการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้บูรณาการการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานอื่น ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจท่องเที่ยว ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี)ซึ่งจะประสานข้อมูลระหว่างกันเพื่อเตรียมการลงพื้นที่ตรวจสอบในแต่ละครั้ง