"ปริญญ์" นำทีมเศรษฐกิจสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้
"ปริญญ์" นำทีมเศรษฐกิจทันสมัย “ส่งมอบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่ครัวโลก” ต้นแบบสินค้า GI อัตลักษณ์ข้าวไทยแบบ 0.4 ผสานเทคโนโลยีแบบ 4.0
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมอธิบดีกรมทรัพย์ทางปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมเป็นประธานในพิธี “ส่งมอบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่ครัวโลก” ณ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
นายปริญญ์ เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีที่สินค้าไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าเกษตรที่มีอัตลักษณ์ความโดดเด่นแบบ 0.4 มีเสน่ห์และมีเรื่องราวความเป็นมา มีรสชาติ ความหอม อร่อย แต่ในขณะเดียวกันต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยแบบ 4.0 มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานยอมรับได้ในระดับสากลจนได้รับ GI ของยุโรป
รวมทั้งเป็นการขยายตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยที่ผ่านมาตนเองได้ช่วยประสานให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปได้เป็นจำนวนมาก การมีมาตรฐาน GI จะทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์ทางปัญญา ได้กล่าวว่าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นสินค้า GI ที่มีศักยภาพ และถือเป็นต้นแบบสินค้า GI ที่เป็นที่ยอมรับถึงคุณภาพมาตรฐาน มีชื่อเสียงไปไกลถึงสหภาพยุโรป ด้วยเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความหอมที่โดดเด่นต่างจากข้าวชนิดเดียวกันที่ปลูกนอกพื้นที่
อีกทั้งยังคำนึงถึงการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ยังคงรสชาติ ความหอม อร่อยถูกใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสินค้า GI อื่น ๆ หากมีคุณภาพตามมาตรฐาน GI และรักษาไว้ได้ ก็มีโอกาสที่จะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในการช่วยขยายตลาดต่างประเทศให้กับสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน GI ในตลาดสหภาพยุโรป (อียู) สำเร็จแล้ว ทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สามารถส่งออกไปยังตลาดอียูได้เพิ่มขึ้น และกำลังอยู่ระหว่างการขอจดทะเบียน GI ในจีนและมาเลเซีย ที่เป็นตลาดเป้าหมายในการขยายตลาดของไทย รวมทั้งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำคำขอจดทะเบียน GI ในอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะยื่นคำขอได้ในปีหน้า
นายปริญญ์ พร้อมคณะฯ ยังได้ลงพื้นที่แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และได้พบกับนายสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้นำในการตั้งกลุ่มศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด ที่ได้ให้ข้อมูลถึงการเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากวิถีดั้งเดิมที่ปลูกโดยการหว่าน ที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 30–35 กิโลกรัมต่อไร่ มาเป็นรูปแบบการทำนาหยอดที่ใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 4 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 320 กิโลกรัม เป็น 600 กิโลกรัม
โดยที่สินค้าดังกล่าวยังคงคุณภาพตามมาตรฐาน GI จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทางกลุ่มมีแผนที่จะขยายกลุ่มผู้ผลิตตามแนวทางนาหยอดให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป