‘การบินไทย’รอธุรกิจฟื้นตัว ชะลอแผนลงทุนเอ็มอาร์โอ
การบินไทย ชะลอแผนลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา จนกว่าธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัว หลังโควิด-19 พ่นพิษเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ ปีหน้า เล็งออกแพคเกจลดพนักงานอีกรอบ กระชับโครงสร้างองค์กร
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงโครงการร่วมลงทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา ว่า ทีมงานของการบินไทย ยังคงศึกษาร่วมกับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบินไทยมีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญที่จะลงทุน แต่ขณะนี้ก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่าจะมีใครเข้ามาใช้บริการ และใครจะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งในธุรกิจนี้ผู้ร่วมลงทุนก็จะมีแค่ผู้ประกอบการสายการบิน หรือผู้ผลิตเครื่องยนต์และผู้ผลิตเครื่องบิน
ดังนั้น โครงการนี้ก็คงต้องชะลอแผนออกไปก่อน เพื่อรอประเมินสถานการณ์ธุรกิจ หรือจนกว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งก็ต้องรอดูว่าทั่วโลกจะกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินเมื่อไหร่ และจะมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกช่วงใด เป็นต้น
ส่วน การบินไทยจะกลับไปเจรจากับบริษัท Airbus S.A.S จากฝรั่งเศล ที่ถอนตัวไม่เข้ามาร่วมทุนนั้น นายชาญศิลป์ ระบุว่า ขณะนี้ ก็เดินหน้าเจรจากับทุกราย แต่ปัญหาคือ จะมีรายใดสนใจเข้ามาร่วมลงทุนหรือไม่ เพราะสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบัน ยังแกว่งมาก ซึ่งก็ต้องรอดูสถานการณ์ระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นการบินไทยยังต้องเน้นการฟื้นฟูกิจการให้ดีขึ้นก่อน โดยขณะนี้กำลังจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และสำรวจแผนแจ้งหนี้เพื่อสรุปตัวเลขหนี้สินทั้งหมดว่าตรงกันหรือไม่ หลังจากมีการยื่นตัวเลขหนี้เข้ามา คาดว่าจะส่งเรื่องให้จ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ประมาณปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า จากนั้นให้เจ้าหนี้ทำการโหวตแผนฟื้นฟูฯ และหากเจ้าหน้ารับแผนฯ ก็จะสามารถบริหารจัดการตามแผนฟื้นฟูได้ในในช่วงไตรมาส 1ปีหน้า
“ขณะนี้พนักงานทุกคนร่วมมือกันคนที่อยู่ก็เสียสละ คนที่ไปก็เสียสละ เพื่อให้เรามีเงิน Cash flow พอเหลือบริหารกิจการของเราได้ และเราไม่ได้นิ่งเฉยอะไรที่หารายได้ได้ เราก็ทำ ตอนนี้ก็ทำการบิน 6-7 พื้นที่ ไปยุโรป ทั้งอังกฤษ โคเปนเฮเกน แฟรงค์เฟิร์ต สวิตเซอร์แลนด์ ในเอเชีย ก็มีไปญี่ปุ่น ฮ่องกง และไทเป บวกกับคาร์โก้นำ ผู้โดยสารตามแต่ก็มีจำนวนน้อยมาก ขณะเดียวกันก็บริการทุกอย่าง เลานจ์ ครัวการบิน ก็มีขายปาท่องโก๋ เป็นต้น”
ส่วนการประกาศขายเครื่องบินใช้แล้ว หรือ เครื่องบินมือสอง จำนวนทั้งสิ้น 34 ลำนั้น เป็นเพียงการสำรวจตลาด เพราะเป็นเครื่องบินที่ต้องขายเข้าตลาดนานแล้ว แต่ก็ยังขายไม่ได้และก็อยู่ในช่วงที่ราคาตลาดไม่ดีนัก ซึ่งก็จำเป็นต้องสำรวจตลาดเพื่อประเมินราคาว่าจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันจะขายได้หรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับศาลด้วย เพราะการจะขายทรัพย์สินจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากศาล
นอกจากนี้ ในเรื่องของการลดจำนวนพนักงานที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 19,000 คน ซึ่งปกติจะออกต่อปีประมาณ 600-1,000 คน และปัจจุบันก็มีโปรแกรมให้สมัครใจออกรวมประมาณ 5,000 คนต่อปี โดยหลังจากนี้ก็ต้องมาปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับมากขึ้น และปีหน้าคาดว่าจะมีโปรแกรมเพิ่มเติมในการลดคนออกมาอีกรอบ เพราะแนวโน้มอนาคตอาจจะต้องเลือกทำการบิน หรือบินตามกำลัง เนื่องจากการทำการบินจะขาดทุนไม่ได้
รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะมีการตัดสินใจจากภาคเอกชนในการร่วมลงทุนเอ็มอาร์โออู่ตะเภาอีกครั้ง และคาดว่าจะขยับไปเปิดให้บริการในปี 2567 ส่วนความคืบหน้าด้านอื่นๆพบว่ากองทัพเรือ (ทร.) เจ้าของพื้นที่ได้ดำเนินการจ้างผู้รับเหมาปรับถมที่ดิน และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับงานก่อสร้างเอ็มอาร์โออู่ตะเภา โดยได้ประกวดราคาในวงเงินกว่า 338 ล้านบาท เอกชนผู้ชนะการประกวดราคา คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)