พาณิชย์ ชี้เที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่งดันธุรกิจบริการอาหารฟื้นตัว
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่เดือนต.ค.มีจำนวน 5,396 ราย ลดลง 6% เหตุผู้ประกอบการชะลอการทำธุรกิจ ชี้ บริการอาหารในภัตตาคารและร้านอาหารฟื้นตัวดีขึ้น ได้แรงหนุนจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง คาดทั้งปีตั้งใหม่ 6-6.4 หมื่นราย
นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจในเดือนต.ค.2563 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,396 ราย เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ลดลง 4% และเทียบเดือนต.ค.2562 ลดลง 6% มีทุนจดทะเบียนมูลค่า 43,746 ล้านบาท เทียบกับก.ย.2563 เพิ่มขึ้น 242% เทียบกับต.ค.2562 ลดลง 56% เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการจัดตั้งทำธุรกิจใหม่ เพราะเป็นช่วงปลายปี ไม่อยากที่จะทำบัญชี และจัดส่งงบการเงินของปีบัญชี 2563 โดยคาดว่าเดือนพ.ย.-ธ.ค.2563 ยอดจดตั้งใหม่ ก็จะลดลงต่อเนื่อง และจะไปเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2564
สำหรับธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งธุรกิจบริการด้านอาหาร ได้กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากชะลอตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง และคาดว่าแนวโน้มน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 2,057 ราย เทียบกับก.ย.2563 เพิ่มขึ้น 31% และเทียบกับต.ค.2562 ลดลง 3% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 7,788 ล้านบาท เทียบกับก.ย.2563 ลดลง 8% และเทียบกับต.ค.2562 ลดลง 3% โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคารและร้านอาหาร
สำหรับยอดรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วง 10 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 55,574 ราย ลดลง 12% ทุนจดทะเบียนรวม 192,129 ล้านบาท ลดลง 32% และธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 12,450 ราย ลดลง 12% ทุนจดทะเบียน 55,691 ล้านบาท ลดลง 33% โดยคาดว่าทั้งปี 2563 จะมีการจดตั้งธุรกิจใหม่ประมาณ 60,000-64,000 ราย ลดลงจากปี 2562 ที่มีการจดตั้งใหม่รวม 71,485 ราย เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการทำธุรกิจ
ล่าสุดมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ต.ค.2563) มีจำนวน 770,087 ราย มูลค่าทุน 18.63 ล้านล้านบาท แยกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 187,327 ราย คิดเป็น 24.32% บริษัทจำกัด จำนวน 581,481 ราย คิดเป็น 75.51% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,279 ราย คิดเป็น 0.17% ตามลำดับ
ขณะที่เดือนต.ค.มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 55 ราย มีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,503 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่่สุดคือ ญี่ปุ่น 16 ราย เงินลงทุน 3,048 ล้านบาท รองลงมาคือ สิงคโปร์ จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 750 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 52 ล้านบาท