ไขความลับ '2ธุรกิจ' JR ! เสน่ห์แรงแตะตา 'รายใหญ่'

ไขความลับ '2ธุรกิจ' JR ! เสน่ห์แรงแตะตา 'รายใหญ่'

แรงขับเคลื่อนลงทุนรัฐ ! ทั้งไอซีทีและไฟฟ้า กำลังเป็น 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ 'เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้' เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 30 พ.ย. นี้ ในราคา 5.50 บาท 'จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ' โชว์แผนธุรกิจพร้อมโลดแล่น ปีหน้ามีเซอร์ไพรส์ !

ตราบใด ! ที่ประเทศไทยยังคงต้อง 'สภาพการแข่งขัน' เพื่อหวังผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ดังนั้น 2 อุตสาหกรรม 'ดาวเด่น' แห่งการลงทุนที่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งในการดึงดูดความสนใจของ 'นักลงทุนทั่วโลก' ให้มาปักหมุดเมืองไทย... ต้องยกให้ 'ธุรกิจวางระบบระบบไฟฟ้า-ธุรกิจวางระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ' ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการลงทุน

สอดคล้องกับ 'โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' (EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งการลงทุนดังกล่าวงานด้านไอซีทีและไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ 'เมื่อไหร่ที่เมืองไทยยังต้องส่งเสริมการลงทุน 2 อุตสาหกรรม (ไอซีทีและไฟฟ้า) ต้องเป็นตัวขับเคลื่อนเป็นอันดับแรกๆ'

และกำลังส่งผลดีต่อหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ บมจ. เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ หรือ JR ประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งงานระบบไฟฟ้า (Electrical Power System) และระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Telecommunication and Information Technology System) แบบครบวงจร ของ 'ตระกูลวิวัฒน์เจษฎาวุฒิ' ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 61.88% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ จำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 5.50 บาท

หนึ่งในบริษัทแห่งสมญานามที่ว่า 'ไฮบริด' (Hybrid) เมืองไทย ! ที่เป็นทั้งธุรกิจไอทีและธุรกิจไฟฟ้า ที่ได้ความว่า ที่ผ่านมามี 'นักลงทุนรายใหญ่' อย่าง 'หมอวิน-รัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา' และ 'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' อดีตนายกสมาคม 'นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ VI' เห็นความสวยของหุ้น JR ได้เสนอขอซื้อหุ้นไอพีโอกับ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซีย ไซรัส ซึ่ง 'อนุรักษ์ บอกว่าตัวเองได้รับจัดสรรหุ้นไม่ถึงแสนหุ้น !' 

160646984413  

'ใหญ่-จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ หรือ JR แจกแจงสตอรี่การเติบโตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า มูลค่างานในมือที่ลงนามสัญญาแล้ว (Backlog) จำนวน 6,169.53 ล้านบาท โดยหลักเป็นงานรื้อสายไฟฟ้าในอากาศลงใต้ดินจากโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยเป็นเพียงงานครึ่งเดียวของทั้งสองโครงการเท่านั้น ส่วนอีกครึ่งคาดว่างานจะออกมาประมาณปลายปี 2564 หรือ ต้นปี 2565 อาจจะเป็น 'จุดเด่น' ที่ทำให้มีนักลงทุนรายใหญ่แสดงความสนใจหุ้น JR เข้ามาหลายราย

'การได้งานรื้อสายไฟฟ้าลงใต้ดินของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทางนั้น ส่งผลให้ปัจจุบัน JR ขึ้นแท่นเป็นยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นหรือ STEC ทันที'

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่บริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เพราะว่าอนาคตเป้าหมายของบริษัทไม่ได้ต้องการเป็นเพียงแค่ 'ผู้รับเหมาสัญญารับเหมาช่วง' (sub-contract) แล้ว ! หลังจากบริษัทมีโอกาสเข้าไปรับงานไฟฟ้าขนาดเล็ก มูลค่า 90 ล้านบาท จากผู้รับเหมาต่างชาติประเทศอิตาลี ที่เป็นบริษัทที่ได้งานทั้งหมดมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงานโรงกลั่นน้ำมันของ บมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP

นั่นคือ จุดความคิดที่บริษัทอยากเป็นผู้รับเหมาในธุรกิจ 'น้ำมันและก๊าซ' (Oil & Gas) ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมทีมและศึกษาในธุรกิจ Oil & Gas ที่คาดว่าบริษัทจะรุกเข้าไปในธุรกิจดังกล่าว คาดว่าในปี 2564 โดยจะเริ่มเห็นบริษัทรับงานในธุรกิจ Oil & Gas จากงานระบบไฟฟ้าในโรงกลั่นของ TOP มูลค่า 90 ล้านบาทก่อน

'ต้นปี 2563 มีงานโรงกลั่นน้ำมันของ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC มูลค่านับหมื่นล้านบาท ซึงงานดังกล่าวเรายังไม่พร้อมเข้าไป เพราะอยู่ระหว่างการเรียนรู้และศึกษาระบบงานเกี่ยวกับ Oil & Gas ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาเราเคยแต่ทำงานระบบ Gas ในธุรกิจโรงไฟฟ้า แต่เรายังไม่เคยทำ Gas ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ดังนั้นตอนนี้เรากำลังเซ็ตทีมงานให้พร้อม'

160646988588

จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ

เขา บอกต่อว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า (2564-2565) กลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. จะมีการลงทุนงานปิโตเลียมขนาดใหญ่ของ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC มูลค่า '2 แสนล้านบาท' ดังนั้น เป้าหมายของการเข้าระดมทุน JR ไม่ได้ต้องการเพียงแค่เงินระดมทุนอย่างเดียว แต่บริษัทต้องการเป็นหนึ่งตัวเลือกที่มีผลงานอย่างมืออาชีพ และเป็นบริษัทที่เป็นมหาชนที่มีความน่าเชื่อถือ ที่จะสามารถขยับขึ้นไปรับงานมูลค่าระดับ 'หมื่นล้าน-แสนล้าน' ได้ ดังนั้น วันนี้กำลังแต่งตัวให้ JR เพื่อที่จะเข้าไปเล่นในเวทีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และนี่คือเรือธงของเรา !

สำหรับงาน 'ธุรกิจไอซีที' บริษัทยังมีโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การทำงานเปลี่ยนแปลงไปเป็นการทำงานจากบ้านมากขึ้น การทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาระบบโทรคมนาคมให้เป็นระบบ 5G เพื่อรองรับการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบาย 4.0 ของภาครัฐ

'จรัญ' บอกต่อว่า สำหรับ Backlog จำนวน 6169.53 ล้านบาท บริษัทจะทยอยรับรู้ในไตรมาส 4 ปี 2563 ประมาณ 320 ล้านบาท ปี 2564 ประมาณ 2,200 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ถึงปี 2566

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างประมูลงานอีกประมาณ 400-800 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังจะรับงานได้ประมาณ 50% ขึ้นไป และในอนาคตบริษัทยังมีงานจากภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก อาทิ งานเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู , โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีมูลค่าระดับ 'พันล้านบาท' ที่บริษัทสามารถเข้าประมูลได้

'รวมทั้งการพัฒนาด้านพลังงานต่างๆ เพื่อรองรับการขยายโครงการ EEC รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟเชื่อมสามสนามบิน รวมไปถึงโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินอีกจำนวนมาก ที่บริษัทมีโอกาสที่จะเข้ารับงานใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง'

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยบวกต่างๆ และมูลค่างานในมือ คาดว่าจะผลักดันให้รายได้ปี 2563 มีโอกาสแตะ 1,000 ล้านบาท และในปี 2564 จะรับรู้รายได้เข้ามาอีกราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รายได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง...

ทั้งนี้ ในส่วนของฐานะทางการเงินของบริษัทปัจจุบันถือว่าค่อนข้างแข็งแรง โดยมี 'อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน' (D/E) ที่ระดับ 2.1 เท่า และเป็นหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่เพียง 0.1 เท่า

ท้ายสุด 'จรัญ' ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ว่า JR แทบจะไม่มีหนี้ แต่ด้วยอนาคตที่มีโอกาสที่จะเติบโตอีกค่อยข้างมากด้วยการผลักดันการเติบโตของภาครัฐบาลที่มีการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานอีกมา การระดมทุนครั้งนี้จึงเป็นการรองรับการรับงานที่มีขึ้น และเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกด้วย

160646991378