สรุป 'ประกันรายได้' ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง เกษตรกรรับเงินจาก 'ธ.ก.ส.' เมื่อไรบ้าง?

สรุป 'ประกันรายได้' ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง เกษตรกรรับเงินจาก 'ธ.ก.ส.' เมื่อไรบ้าง?

สรุปมาตรการ "ประกันรายได้" เกษตรกร 3 กลุ่ม ทั้งชาวนา ผู้ปลูกมันสำปะหลัง และกลุ่มผู้ปลูกยางพารา ที่รัฐบาลเดินหน้าช่วยเหลือด้วยการประกันราคาสินค้าทางการเกษตร โดยมี "ธ.ก.ส." เป็นผู้จ่ายเงินให้ ซึ่งเกษตรกรแต่ละประเภทจะได้รับเงินเมื่อไร? เช็คที่นี่!

ตามเป้าประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ หนึ่งในมาตรการที่ออกมาคือ โครงการ "ประกันรายได้" ให้กับเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในปีการผลิต 2563/64 "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้ของทุกประเภท ดังนี้

  • "ประกันรายได้" ชาวนา

เริ่มต้นที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 ที่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 วงเงินรวม 18,096 ล้านบาท ครอบลุมเกษตรกร 4.04 ล้านราย 

เงื่อนไขสำคัญ

- ประกันรายได้เกษตรกรสำหรับข้าว 5 ชนิด ได้แก่
  > ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 14 ตัน
  > ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000/ตัน ไม่เกิน 16 ตัน
  > ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 30 ตัน 
  > ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 25 ตัน
  > ข้าวเหนียว 12,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 16 ตัน

- รัฐบาลยังสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าว 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ครัวเรือน รวมครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท โดยแบ่งเป็น 2 งวด งวดละ 500 บาท 

- กรณีเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนสูงสุดของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด 

- ความชื้นข้าวแต่ละชนิดไม่เกิน 15% 

- กำหนดราคาอ้างอิงและระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31 ต.ค.2563 ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2563 - 28 ก.พ. 2564 

- เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องกำหนดวันที่คาดว่าเก็บเกี่ยวและปริมาณการผลิต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ความคืบหน้าล่าสุดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

สำหรับมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น มีการจ่ายเงินช่วยเหลือรอบที่ 1 ไปทั้งหมด 4 งวด โดยล่าสุดงวดที่ 4 ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง เมื่อวันที่ 30 พ.ย.63 และในงวดถัดไปจะโอนค่าส่วนต่างให้กับเกษตรกรในวันที่ 7 ธันวาคม 2563

รวมถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบาบและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 5/2563 ยังได้เห็บขอบเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 เพิ่มอีก 28,711.29 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้วงเงินรวมโครงการนี้อยู่ที่ 46,807.35 ล้านบาท 

ขณะที่ในส่วนของเงินสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าว 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ครัวเรือนนั้น เตรียมจ่ายวันที่ 3-5 ธันวาคม 2563 

  • "ประกันรายได้" ผู้ปลูกมันสำปะหลัง

สำหรับ "การประกันรายได้" ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หรือชื่อโครงการเต็มๆ ว่า "โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง  ปี 2563/64" นั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เป้าหมายคือช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร จากปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำ และสร้างความมั่นคงในอาชีพ เป้าหมายเกษตรกร 524,000 ครัวเรือน วงเงินประมาณ 9,570 ล้านบาท 

โดยขั้นตอนคือ กรมส่งเสริมการเกษตร จะทำการตรวจสอบข้อมูล และส่งมายัง ธ.ก.ส. เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

เงื่อนไขสำคัญ

- เกษตรกรต้องแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 - 31 มีนาคม 2564

- แจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตร นับจากวันเพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน

- ประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ราคา 2.50 บาท/กิโลกรัม

- ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน 

- ต้องไม่ซ้ำแปลง 

ความคืบหน้าล่าสุดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการจ่ายเงินประกันรายได้ให้ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งการจ่ายเงินประกันรายได้ในรอบนี้ เป็นการจ่ายให้กับเกษตรกรที่เพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 และระบุวันคาดว่าเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และจ่ายต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564

ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบโอนเงินได้ที่แอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรที่สมัครใช้บริการ BAAC Connect จะได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่านไลน์ออฟฟิเชียล (LINE Official BAAC Family) เมื่อเงินเข้าบัญชีแล้ว 

  • "ประกันรายได้" ผู้ปลูกยางพารา

อีกหนึ่งกลุ่มที่รัฐให้ความช่วยเหลือคือ โครงการ "ประกันรายได้" ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยครั้งนี้เป็นการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 หรือเฟส 2 ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เป็นการจ่ายเงินประกันรายได้ กรอบวงเงิน 10,042.8 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 18 ล้านไร่ เกษตรกร 1.8 ล้านราย เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564 เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2563-มีนาคม 2564 

เงื่อนไขสำคัญ

- ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพูที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. รวมถึงคนกรีดยาง

- ราคาประกันรายได้ แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม, น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม

- ผลผลิตยางแห้ง 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ยางก้อนถ้วย รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยเป็นการแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ให้เจ้าของสวน 60% และคนกรีดยาง 40% 

ความคืบหน้าล่าสุดโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง

ที่ผ่านมามีการกำหนดจ่ายเงินประกันรายได้ผู้ปลูกยางพารา งวดแรก ในวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2563 แต่ต้องเกิดความล่าช้า ยังไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยได้ เนื่องจากติดปัญหาประเด็นเกษตรกรผู้ถือบัตรสีชมพู แต่ล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมือนกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 

โดยในการจ่ายเงินประกันรายได้ ระยะที่ 2 งวดแรกนั้น วงเงินรวม 2,116 ล้านบาท จะพร้อมโอนเงินส่วนต่างภายในสัปดาห์หน้า หรือเริ่มวันที่ 7 ธ.ค.2563 และในงวดถัดไปจนครบ 6 เดือน ตามระยะเวลาโครงการ

ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวยางและประกันรายได้เกษตรกรชาวนาได้ที่ https://chongkho.inbaac.com/ สรุป \'ประกันรายได้\' ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง เกษตรกรรับเงินจาก \'ธ.ก.ส.\' เมื่อไรบ้าง?

ที่มา : thaigovbangkokbiznews(1),