นายกฯ นัดเคลียร์ 'คมนาคม-มหาดไทย' ปมต่อสัญญาสัมปทาน BTS

นายกฯ นัดเคลียร์ 'คมนาคม-มหาดไทย' ปมต่อสัญญาสัมปทาน BTS

“คมนาคม” เตรียมแจงสูตรคำนวณค่าโดยสาร หลังนายกฯ จะนัดถกร่วมมหาดไทย เผยใช้สูตรเดียวกับ รฟม.ลดค่าตั๋วได้อีก 20% “บีทีเอส” ยันต้นทุนเดินรถไฟฟ้าสูง ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทตลอดสายเหมาะสม

การต่อสัญญา สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือ BTS ยังคงมีความยืดเยื้อหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าของการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอทางกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย ตอบกลับข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมได้สอบถามไว้ ในประเด็นคำถาม 4 ด้านเกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบ ม.44 การคำนวณราคาค่าโดยสาร การใช้ทรัพย์สินของรัฐ และข้อพิพาททางกฎหมาย

“เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และส่วนตัวผมเชื่อว่ายังมีเวลาที่จะพิจารณา เพราะสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 และยังมาสัญญาเดินรถถึงปี 2585 ดังนั้นการใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดนี้ ไม่กระทบต่อการใช้บริการของประชาชนแน่นอน”นายศักดิ์สยาม กล่าว

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคม ได้เตรียมข้อมูลทั้งหมดที่มี เพื่อชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าโดยสาร ที่มีการนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการคำนวณราคาค่าโดยสารรวมในเส้นทางปัจจุบัน รวมกับส่วนต่อขยายแล้ว จะมีราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งในส่วนนี้ไม่ทราบว่าหน่วยงานที่มีการคำนวณค่าโดยสารดังกล่าวนำฐานข้อมูลมาจากไหน ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีเตรียมนัดหารือข้อมูลร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่กำกับดูแลรถไฟฟ้า ทั้งหน่วยงานทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมเป็นการใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) และเมื่อลองนำสูตรคำนวณดังกล่าวมาคำนวณราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกับส่วนต่อขยายแล้ว ยืนยันว่าประชาชนจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด ต่ำกว่า 65 บาท

160700396279

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า การคำนวณอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมส่วนต่อขยาย มีจำนวน 59 สถานี โดยก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานครมีการกำหนดราคาจะจัดเก็บอยู่ที่สูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งลดลงต่ำกว่าผลการศึกษากำหนดในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 158 บาทตลอดสาย

แต่เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้เข้าไปตรวจสอบสูตรคำนวณที่มาของค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสายอ้างอิงจากกรุงเทพมหานคร และบีทีเอส พบว่าใช้สูตรคำนวณมาจาก CPI กระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นการคำนวณรวมหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม (Food and Beverage)

ซึ่งแท้จริงแล้ว การคำนวณค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะไม่ควรนำ CPI รวมหมวดอาหารและเครื่องดื่มมาคำนวณด้วย อีกทั้งค่าโดยสารของ รฟม.ก็ไม่ได้นำหมวดอาหารและเครื่องดื่มมาคำนวณร่วม ดังนั้นควรมีการใช้สูตรคำนวณเดียวกัน ซึ่งกระทรวงคมนาคม พบว่าหากใช้สูตรคำนวณไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม จะทำให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลดลงได้มากกว่า 20% จากอัตรา 65 บาทตลอดสาย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ข้อกำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ที่เป็นเงื่อนไขในการต่อสัญญาสัมปทาน เป็นข้อเสนอจากทางกรุงเทพมหานครที่ได้ทำการศึกษาและหารือร่วมกับบีทีเอสซีถึงความเหมาะสมมาแล้ว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าอัตราค่าโดยสารที่กำหนดนั้นอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณต้นทุนงานโยธา การบริหารรถไฟฟ้า ตลอดจนส่วนแบ่งรายได้ที่บีทีเอสซีจะต้องมอบให้ กทม.ทุกปีตามกำหนด ดังนั้นคงไม่สามารถนำอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปเปรียบเทียบกับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายอื่นได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่างกัน อีกทั้งรถไฟฟ้าสายอื่นยังไม่มีการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร เผยว่า การทำธุรกิจรถไฟฟ้า หรือระบบขนส่งด้านอื่นๆ เอกชนสามารถทำราคาต่ำเพื่อช่วยลดต้นทุนผู้โดยสารได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ ค่าก่อสร้างงานโยธา หรือค่าชดเชยสูญรายได้จากค่าโดยสาร ประเภทเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) แต่เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อมีการต่อสัมปทานให้กับบีทีเอสแล้ว เอกชนต้องรับภาระชดเชยค่างานโยธาส่วนต่อขยายตามที่กรุงเทพมหานครรับโอนมาจาก รฟม.วงเงินราว 1 แสนล้านบาท

อีกทั้งในสัญญาต่อสัมปทานดังกล่าว บีทีเอสจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับกรุงเทพมหานคร โดยรวมมูลค่าที่บีทีเอสต้องมอบให้กรุงเทพมหานครราว 3 แสนล้านบาท จึงถือเป็นต้นทุนการบริหารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หากเทียบกับการบริหารรถไฟฟ้าสายอื่น ที่รับผิดชอบเฉพาะค่าสัมปทานเดินรถ ส่วนงานโยธารัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุน 

ดังนั้น หากจะนำค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาเปรียบเทียบกัน คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่หากรัฐบาลอุดหนุนต้นทุนของบีทีเอสด้านใดด้านหนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้ต่ำกว่า 65 บาทตลอดสาย