‘หุ้นยาง’รับอานิสงส์ราคาขาขึ้น หลังน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้
สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้ยังน่าวิตก หลายพื้นที่ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน ถนนหนทาง สถานที่ราชการ บริษัทห้างร้านต่างๆ ได้รับผลกระทบไปหมด
รวมถึงพื้นที่ทำการเกษตร พืชสวนไร่นาของชาวบ้าน น้ำยังคงท่วมขังสูง ผลผลิตเสียหายไม่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี และสงขลา ที่น้ำท่วมหนัก รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี
ทั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้ถือเป็นแหล่งปลูกยางพาราสำคัญของประเทศ ซึ่งหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ชาวสวนยางไม่สามารถออกไปกีดยางได้ ยิ่งหากสถานการณ์ลากยาวอาจทำให้ยางยืนต้นตาย กระทบอุปทานยางพาราของประเทศที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
โดยขณะนี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ตลาดกลางยางพารา จังหวัดสงขลา ทะลุ 70 บาทต่อกิโลกรัมไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 70.74 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบอยู่ที่ 67.49 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ข้อมูลจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า ในจังหวัดนครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี และสงขลา มีพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. กว่า 5.2 ล้านไร่ ซึ่งประเมินว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางพาราราว 1 แสนตัน หรือ คิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของผลผลิตยางพาราของไทยในแต่ละปี
ตรวจสอบดูบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอย่าง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ซึ่งทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันมีพื้นที่สวนยางมากกว่า 4.5 หมื่นไร่ ใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งอยู่ในภาคใต้
อย่างไรก็ตาม บริษัทระบุว่าตัวโรงงานของ STA รวมทั้งบริษัทลูก บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ที่ผลิตถุงมือยาง ขณะนี้ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่อาจมีวัตถุดิบบางส่วนที่ไม่สามารถขนส่งไปที่โรงงานได้ เนื่องจากถนนหลายสายน้ำยังท่วมสูง แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB มีโรงงานผลิตน้ำยางข้นในประเทศไทย 6 โรงงาน ตั้งอยู่ทางภาคใต้ 3 โรงงาน ที่จังหวัดสงขลา, สุราษฎร์ธานี และพังงา ภาคตะวันออก 2 โรงงาน ที่จังหวัดระยองและชลบุรี และภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย โดยจะรับน้ำยางสดมาจากสวนยางของกลุ่มบริษัทในพื้นที่จังหวัดเชียงราย, น่าน, พะเยา และชัยนาท
ส่วน บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยาแท่งและยางผสม ดูจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพราะวัตถุดิบหลักเกือบทั้งหมดมาจากพื้นที่ภาคอีสาน โดยรับซื้อจากเกษตรกรรายย่อย พ่อค้าคนกลาง และมีการประมูลจากสหกรณ์ต่างๆ
ในภาพรวมถือว่าโรงงานของแต่ละบริษัทยังสามารถเดินสายการผลิตได้อยู่ ผลกระทบค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ลากนานกว่านี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะโดยเฉลี่ยแล้วต้นยางสามารถอยู่ในน้ำขังได้ราว 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มยืนต้นตาย และเมื่อผลผลิตลดลง ราคาขายจะปรับเพิ่มขึ้น
ดูแล้วแนวโน้มราคายางพาราเดือนนี้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนทั้งจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ของไทย และดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีนตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้ง ความต้องการถุงมือยางยังมีสูง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่ม
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้จะส่งผลกระทบชั่วคราวต่อการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าบางส่วนของ STA แต่คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากมีสต็อกล่วงหน้าอยู่ 3-4 เดือน ขณะที่ต้นยางไม่ได้หักโค่น เพียงแค่การเข้าไปในพื้นที่ทำได้ยากลำบากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยมีมุมมองบวกต่อ NER เพราะแทบไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เนื่องจากโรงงานอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน วัตถุดิบมาจากภาคอีสานทั้งหมด ในทางกลับจะได้รับประโยชน์จากราคายางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประเมินกำไรของ STA ปี 2563 ที่ 4.6 พันล้านบาท เทียบกับปี 2562 ที่ขาดทุน 149 ล้านบาท และคงกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ขณะที่ NER ประเมินกำไรปี 2563 ที่ 853 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% และปี 2564 ที่ 1.08 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ทั้งสองบริษัท